backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ฟันคุด คืออะไร มีอาการ สาเหตุ วิธีรักษาอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/12/2021

ฟันคุด คืออะไร มีอาการ สาเหตุ วิธีรักษาอย่างไร

ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นในแนวฟันปกติได้ อาจเป็นเพราะขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่น ๆ ทำให้มีช่องว่างไม่เพียงพอที่จะขึ้นมาแบบฟันปกติ จึงอาจโผล่มาเพียงบางส่วนในลักษณะเอียง ราบ หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ส่วนใหญ่แล้ว ฟันคุดจะมี 4 ซี่ นั่นคือ ฟันกรามซี่ในสุดของฟันบนและฟันล่างทั้งด้านซ้ายและด้านขวา แต่ก็อาจพบฟันเขี้ยวคุดได้เช่นกัน ฟันคุดอาจไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณี ก็อาจทำให้มีอาการปวดฟันรุนแรง หรืออาจทำให้ปากและฟันซี่อื่นผิดรูป จนต้องรักษาด้วยการถอนหรือผ่าออก เพื่อบรรเทาปวดและลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาช่องปากอื่น ๆ เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือหากต้องจัดฟัน ก็อาจต้องถอนหรือผ่าฟันคุดเช่นกัน

คำจำกัดความ

ฟันคุด คืออะไร

ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นในแนวฟันปกติได้เหมือนฟันซี่อื่น ๆ เนื่องจากอาจขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่น ทำให้มีช่องว่างไม่พอให้งอกขึ้นมาได้แบบฟันปกติ หรืออาจเกิดจากมีกระดูกหรือเนื้อเยื่อเหงือกขวางอยู่ จึงไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกได้ ฟันคุดอาจมีลักษณะเอียง หรือขึ้นตามแนวราบ หรืออาจฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ส่วนใหญ่แล้ว ฟันคุดจะมี 4 ซี่ นั่นคือ ฟันกรามซี่ในสุดของฟันบนและฟันล่างทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แต่ในบางกรณี ก็อาจพบฟันเขี้ยวคุดได้

ฟันคุดเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้ทั่วไป โดยปกติแล้ว อาจเริ่มพบฟันคุดตอนอายุประมาณ 17-25 ปี เนื่องจากขากรรไกรหยุดการเจริญเติบโต จึงอาจส่งผลให้มีช่องว่างไม่พอให้ฟันกราม 4 ซี่สุดท้ายโผล่ขึ้นมาแบบปกติได้ แต่ก็สามารถพบในช่วงวัยอื่นได้เช่นกัน 

ชนิดหรือลักษณะของฟันคุดที่พบได้บ่อย เช่น

  • ฟันคุดที่ครอบฟันหรือด้านบดเคี้ยวหันเข้าหาฟันซี่ข้างเคียง (Mesial impaction) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่จะมีแค่ส่วนของครอบฟันหรือด้านบดเคี้ยวเท่านั้นที่โผล่พ้นเหงือกขึ้นมา หากฟันไม่ได้เอียงมาก อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออก 
  • ฟันคุดที่ครอบฟันหรือด้านบดเคี้ยวหันออกจากฟันซี่ข้างเคียง (Distal impaction) เป็นชนิดที่พบได้ค่อนข้างยาก ในกรณีที่ฟันไม่ได้เอียงมาก ทันตแพทย์อาจให้รอประมาณ 1-2 ปี หากฟันขึ้นปกติอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออก แต่หากฟันเอียงเกือบ 90 องศา ในกรณีนี้ ฟันมักส่งผลเสียต่อกระดูกขากรรไกร และไม่สามารถขึ้นแบบปกติได้ ส่วนใหญ่จึงต้องผ่าตัดออก
  • ฟันคุดที่ขึ้นในแนวตรง (Vertical impaction) หากไม่เบียดหรือสร้างแรงกดทับให้ฟันซี่ข้างเคียงหรือกระดูกขากรรไกร ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกเพราะอาจงอกขึ้นมาแบบปกติได้
  • ฟันคุดที่ขึ้นในแนวนอน (Horizontal impaction) เป็นชนิดที่มักสร้างความเจ็บปวดที่สุด ส่วนใหญ่แล้วฟันคุดแนวนอนจะฝังอยู่ใต้เหงือกทั้งซี่

อาการ

อาการของฟันคุด

ส่วนใหญ่แล้ว ฟันคุดมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากฟันคุดผิดปกติ เช่น ติดเชื้อ ทำลายฟันซี่ข้างเคียง ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • เหงือกบริเวณรอบฟันคุดบวม แดง 
  • มีอาการปวดหรือกดเจ็บบริเวณเหงือกหรือขากรรไกร
  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม
  • ปวดศีรษะหรือปวดกรามเรื้อรัง หรือไม่ทราบสาเหตุ
  • อ้าปากหรือรับประทานอาหารลำบาก
  • มีกลิ่นปาก
  • มีรสชาติแปลก ๆ ในปาก
  • นอกจากนี้ ฟันคุดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ได้ด้วย

    • ฟันผุ
    • โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์อักเสบ
    • การสบฟันผิดปกติ
    • ถุงน้ำหรือเนื้องอกในกระดูกขากรรไกร

    หากมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวมาข้างต้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    สาเหตุ

    สาเหตุของฟันคุด

    ฟันคุดอาจเกิดจากขากรรไกรหยุดการเจริญเติบโต ขากรรไกรเล็กเกินไป หรือมีฟันเกในแนวโค้งฟัน ทำให้มีพื้นที่ไม่พอให้ฟันขึ้นได้แบบปกติทุกซี่ โดยเฉพาะฟันกราม 4 ซี่สุดท้ายที่ขึ้นช้าสุด จึงอาจกลายเป็นฟันคุดได้บ่อยสุด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันคุดได้

    • ฟันเกิน (Supernumerary Teeth) เป็นภาวะที่มีจำนวนฟันมากกว่าปกติ อาจเกิดจากพัฒนาการการขึ้นของฟันผิดปกติ ส่วนใหญ่จะมีฟันเกินเพียง 1 ซี่ และมักพบที่ขากรรไกรล่างมากกว่าขากรรไกรบน แต่หากมีฟันเกินหลายซี่ มักเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพอื่น เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มอาการการ์ดเนอรส์ (Gardner’s syndrome)
    • อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับช่องปาก ฟันคุดอาจเป็นผลกระทบของการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณช่องปาก เช่น การหกล้มหน้ากระแทกพื้นในวัยเด็ก ซึ่งอาจทำให้ฟันงอกช้ากว่าปกติและกลายเป็นฟันคุดได้ โดยเฉพาะหากเป็นฟันบนหน้า 

    แม้ฟันคุดจะเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป แต่ปัจจัยบางประการ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม การไม่จัดฟันเพื่อแก้ปัญหาฟันสบ ฟันเก ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันคุดได้

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยฟันคุด

    ทันตแพทย์อาจตรวจวินิจฉัยฟันคุดและปัญหาที่อาจเกิดจากฟันคุดด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

    • การซักประวัติสุขภาพและสอบถามอาการที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟัน
    • การตรวจเหงือกและฟัน
    • การเอกซเรย์ช่องปาก เพื่อดูว่ามีฟันคุดหรือไม่ ฟันคุดอยู่ในลักษณะใด สร้างความเสียหายให้เหงือก ฟันซี่อื่น ๆ หรือกระดูกขากรรไกรหรือไม่

    หากพบว่ามีฟันคุดหรือมีปัญหาในช่องปากอื่น ๆ ทันตแพทย์จะรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมในขั้นตอนต่อไป

    การรักษาฟันคุด

    หากฟันคุดไม่ได้ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด การอักเสบ การติดเชื้อ หรือไม่ได้ส่งผลต่อฟันซี่ข้างเคียงหรือการสบฟัน หรือนำไปสู่ปัญหาในช่องปากอื่น ๆ อาจไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด แต่หากส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทันตแพทย์อาจต้องรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • การปรับแนวฟัน โดยทันตแพทย์อาจแนะนำให้จัดฟัน หรือถอนฟันน้ำนมหรือฟันแท้ซี่ข้างเคียงที่อาจขวางการงอกของฟันซี่ที่มีแนวโน้มจะคุดออก วิธีเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มพื้นที่ หรือช่วยปรับแนวฟันให้เป็นปกติขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ฟันงอกออกมาแล้วไม่คุด มักใช้เมื่อฟันเขี้ยวคุด อาจเหมาะกับเด็กหรือวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ และอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล
    • การผ่าฟันคุด หากทันตแพทย์ประเมินแล้วว่าฟันคุดไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และไม่เหมาะกับการรักษาด้วยการปรับแนวฟัน อาจแนะนำให้ผ่าฟันคุดออก โดยทันตแพทย์อาจฉีดหรือทายาชาที่เนื้อเยื่อรอบฟันคุด รอให้ยาออกฤทธิ์ แล้วจึงกรีดเปิดเหงือก ก่อนจะใช้เครื่องมือถอนฟันคุดออกมา แล้วเย็บปิดปากแผล หลังผ่าตัด ผู้ป่วยต้องกัดผ้ากอซไว้ประมาณ 2 ชั่วโมงหรือจนกว่าเลือดจะหยุดไหล ควรแปรงฟันและบ้วนปากอย่างระมัดระวัง และไปตัดไหมเมื่อครบกำหนด โดยปกติคือประมาณ 7 วันหลังผ่าตัด

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเอง

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเองเพื่อรับมือกับฟันคุด

    แม้จะไม่มีวิธีที่อาจป้องกันการเกิดฟันคุดได้ แต่การเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและทำความสะอาดฟันทุก ๆ 6 เดือน หรือตามระยะเวลาที่ทันตแพทย์นัด อาจช่วยให้สามารถสังเกตรูปแบบการเจริญเติบโตและการงอกของฟันได้ หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่ามีฟันเก ฟันสบผิดปกติที่อาจส่งผลให้ฟันคุดได้ในอนาคต ทันตแพทย์อาจแนะนำให้จัดฟันเพื่อปรับแนวฟัน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มพื้นที่ขากรรไกร ให้ฟันสามารถโผล่ขึ้นมาได้อย่างเป็นปกติที่สุด และอาจลดความเสี่ยงในการเกิดฟันคุด หรือปัญหาช่องปาก จากฟันคุดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/12/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา