backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ฟันแตก อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/11/2022

ฟันแตก อาการ สาเหตุ การรักษา

ฟันแตก เป็นปัญหาสุขภาพฟัน ที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารที่แข็งจนเกินไป เคี้ยวน้ำแข็ง หรือมีอาการฟันร้าวอยู่แต่เดิม เป็นต้น ส่งผลให้มีอาการปวดฟัน เกิดอาการเสียวฟันเวลาเคี้ยวอาหาร และฟันบางส่วนหลุดออกมากได้

คำจำกัดความ

ฟันแตกคืออะไร

ฟันแตก คือ การแตกหักของฟันทั้งหมด หรือฟันบางส่วนแตกและหลุดร่วงออก โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับฟันทุกซี่ เช่น ฟันหน้า ฟันกราม ฟันแท้ ฟันน้ำนม และพบได้บ่อยในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะร่างกายอาจขาดแคลเซียมเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลให้ฟันที่เป็นส่วนหนึ่งของกระดูกเปราะบาง และแตกหักง่าย

นอกจากนี้ฟันแตกสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามรอยร้าวของฟัน ได้แก่

  • รอยแตกบนฟันแนวเฉียง เป็นรอยแตกที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดในระดับเบา อยู่ตามผิวฟัน
  • รอยแตกใต้เหงือกแนวเฉียง คือ รอยแตกที่อาจอยู่ต่ำกว่าเหงือก อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก
  • ฟันแตก เป็นการแตกที่แยกออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งทันตแพทย์อาจรักษาได้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง และอาจต้องทำการรักษารากฟันร่วมด้วย
  • รากฟันแตก อาจไม่สามารถสังเกตรอยแตกนี้บนผิวฟันได้ เนื่องจากเป็นความเสียหายที่อยู่ลึกลงไปในรากฟัน ซึ่งอาจใช้การรักษาด้วยการถอนฟัน
  • พื้นผิวฟันแตก เป็นประเภทที่พื้นผิวฟันที่ช่วยในการบดเคี้ยวแตก มีรอยร้าว อาจเกิดขึ้นได้จากเทคนิคการอุดฟัน
  • รอยแตกในรากฟันแบบแนวตั้ง คือ รอยแตกที่เริ่มตั้งแต่บริเวณโคนฟัน จนสุดปลายราก ที่ค่อนข้างมีความยาว ส่งผลให้เกิดอาการปวดฟันและอาจจำเป็นต้องถอนออก

อาการ

อาการฟันแตก

อาการฟันแตกอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว โดยสามารถสังเกตได้จากสัญญาณเตือนเหล่านี้

  • รู้สึกปวดฟัน โดยเฉพาะขณะบดเคี้ยวอาหาร
  • เหงือกบวมรอบฟันที่แตก หรือมีรอยร้าว
  • เสียวฟัน เมื่อรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ที่มีรสชาติหวาน และมีอุณหภูมิที่เย็น หรือร้อนจัด

สาเหตุ

สาเหตุฟันแตก

สาเหตุที่ทำให้ฟันแตก มีดังนี้

  • กัดอาหาร เคี้ยวอาหารแรงเกินไป หรือกินอาหารที่มีลักษณะแข็งเป็นประจำ
  • พฤติกรรมการกัดฟัน
  • อุบัติเหตุจากแรงกระแทกที่กระทบกับฟัน ทำให้ฟันแตกร้าว
  • การอุดฟันที่ผ่านการเจาะโพรงฟันขนาดใหญ่ เพราะอาจทำให้โครงสร้างฟันเดิมเปราะบาง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ฟันแตก

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ฟันแตกส่วนใหญ่มาจากการบดเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็งจนเกินไป เช่น น้ำแข็ง ลูกอม รวมถึงมีพฤติกรรมการเคี้ยวของแข็งหลายรอบซ้ำ ๆ จนนำไปสู่อาการฟันร้าว ฟันแตก

การวินิจฉัย และการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการฟันแตก

ทันตแพทย์อาจสอบถามอาการปวดฟัน และทำการตรวจสุขภาพฟัน เพื่อตรวจสอบรอยร้าว การบิ่นของฟัน หรืออาจเอกซเรย์ช่องปาก เพื่อตรวจสอบรากฟันอย่างละเอียด

การรักษาฟันแตก

การรักษาฟันแตก อาจรักษาตามรอยร้าวของฟัน อาการ และสาเหตุที่คุณหมอวินิจฉัย โดยคุณหมออาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • อุดฟัน เป็นวิธีที่อาจเหมาะสำหรับฟันแตกในระดับเบา หากฟันที่แตกเป็นฟันที่เคยอุดไว้อยู่แล้ว คุณหมออาจทำการอุดฟันให้ใหม่ โดยคุณหมออาจต่อเติมด้วยการใช้วัสดุเรซินคอมโพสิต ที่มีสีคล้ายฟันธรรมชาติ และใช้แสงอัลตราไวโอเลตทำให้วัสดุแข็งตัว
  • การครอบฟัน หากมีปัญหาฟันชิ้นใหญ่แตกหัก คุณหมออาจใช้ฟันเทียมที่ทำจากวัสดุเรซิน เซรามิก ครอบลงไปปิดทับฟันเดิม บางกรณีที่อาจจำเป็นต้องทำการถอนฟันออกทั้งหมด โดยใช้เทคนิคการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม และครอบฟันให้ดูเหมือนฟันธรรมชาติมากที่สุด
  • เคลือบฟัน หากบริเวณฟันหน้าแตกหัก หรือมีรอยบิ่น การเคลือบฟันด้วยวัสดุ พอร์ซเลน หรือเรซิน อาจช่วยทดแทนชิ้นส่วนฟันที่หายไปได้

หากยังไม่สะดวกเดินทางเข้าขอคำปรึกษาคุณหมอ อาจปฐมพยาบาลรักษาฟันแตกเบื้องต้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
  • รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน
  • หากรอยแตกหัก หรือขอบฟันจากรอยร้าวขูดผิวหนังในช่องปาก อาจปิดทับด้วยขี้ผึ้ง
  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฟันที่หักจนกว่าจะเข้าพบคุณหมอ

ในกรณีที่มีฟันหลุดออกมาภายในช่องปาก อาจสามารถเก็บฟัน หรือชิ้นส่วนฟันนั้น ๆ เพื่อเข้ารับขอคำปรึกษาทันตแพทย์เพิ่มเติม ว่าสามารถเชื่อมฟันเดิมกลับเข้าไปได้ใหม่หรือไม่

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันฟันแตก

การปรับพฤติกรรมบางอย่างดังต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการฟันแตก หรือป้องกันไม่ให้ฟันแตกมากขึ้น

  • หลีกเลี่ยงอาหารแข็งที่บดเคี้ยวยาก เช่น น้ำแข็ง เมล็ดข้าวโพดคั่ว ถั่ว
  • หยุดพฤติกรรมการกัดฟัน หรือกัดสิ่งของ
  • ใส่อุปกรณ์คลุมฟันเพื่อป้องกันการกระแทกเมื่อเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/11/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา