backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เหงือกร่น สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/01/2022

เหงือกร่น สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

เหงือกร่น คือ ปัญหาสุขภาพเหงือกที่เนื้อเหงือกร่นขึ้น จนอาจไปถึงรากฟัน และทำให้สามารถมองเห็นเนื้อฟันหรือช่องของฟันได้ ภาวะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันตามมา เช่น มีอาการเสียวฟัน มีเลือดออก หรือฟันโยก การทราบข้อมูลเบื้องต้นของภาวะเหงือกร่น อาจช่วยให้เข้ารับการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

คำจำกัดความ

เหงือกร่น คืออะไร

เหงือกร่น คือ ปัญหาสุขภาพเหงือกที่เนื้อเหงือกร่นขึ้น จนอาจไปถึงรากฟัน และทำให้สามารถมองเห็นเนื้อฟันหรือช่องของฟันได้มากขึ้น เมื่อเหงือกร่น จะเกิดช่องระหว่างฟันและขอบเหงือก ซึ่งอาจมีแบคทีเรียก่อโรคไปสะสมอยู่ และหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อพยุงและโครงสร้างของฟันถูกทำลายจนเสียหายร้ายแรง และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ตามมา เช่น เสียวฟัน มีเลือดออก ฟันโยก หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้ฟันหลุดร่วงได้

เหงือกร่นพบได้บ่อยเพียงใด

เหงือกร่นเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อย คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาเหงือกร่น เพราะภาวะนี้มักพัฒนาอย่างช้า ๆ ซึ่งอาจทำให้หลายคนละเลย และไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่า่งทันท่วงที

หากรู้สึกเสียวฟัน หรือรู้สึกว่าฟันยาวขึ้น หรือเป็นเนื้อฟันเยอะขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากที่รุนแรง

อาการ

อาการของเหงือกร่น

เมื่อเหงือกร่น อาจส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • มีเลือดออกหลังแปรงฟัน หรือหลังใช้ไหมขัดฟัน
  • เหงือกบวมแดง
  • มีกลิ่นปาก
  • ปวดบริเวณเหงือก
  • เหงือกร่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • สามารถมองเห็นรากฟันได้
  • ฟันโยก

ในช่วงแรก ๆ หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าเหงือกร่นและไม่สังเกตความผิดปกติของเหงือกที่เกิดขึ้น จนอาจปล่อยไว้นานวันโดยไม่ได้เข้ารับการรักษา หากอาการเริ่มรุนแรง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียฟันได้

สาเหตุ

สาเหตุของเหงือกร่น

เหงือกร่นมักเกิดจากการสึกหรอและการอักเสบที่บริเวณเหงือก ซึ่งอาจเป็นผลจากอาการทางสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้

  • การแปรงฟันอย่างรุนแรงและผิดวิธี
  • การสูบบุหรี่
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (ในผู้หญิง)
  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรคเหงือก
  • โรคเบาหวาน

  • การติดเชื้อเอชไอวี
  • ยารักษาโรคบางชนิดที่รับประทานเข้าไปแล้วทำให้ปากแห้ง ส่งผลให้มีน้ำลายน้อยและไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อในช่องปาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเหงือกร่น
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก หรือที่เหงือก
  • การบาดเจ็บบริเวณปาก หรือที่เหงือก

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยจาก The California Dental Association (CDA) ยังระบุว่าผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปอาจเสี่ยงเหงือกร่นมากกว่า และเพศชายมีแนวโน้มเหงือกร่นมากกว่าเพศหญิง

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเหงือกร่น

การวินิจฉัยภาวะเหงือกร่น ทันตแพทย์อาจตรวจสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะบริเวณเหงือก และอาจวัดร่องลึกของเหงือก หรือที่เรียกว่า ร่องลึกปริทันต์ ด้วยหมุดหยั่งแผล หรือเครื่องแหย่ (Probe) โดยปกติแล้วร่องลึกปริทันต์จะมีขนาด 1-3 มิลลิเมตร หากมากกว่านั้น อาจเป็นสัญญาณว่ามีปัญหาโรคเหงือก เช่น เหงือกร่น

การรักษาเหงือกร่น

การรักษาเหงือกร่นอาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • รักษาด้วยยา หากพบว่าสาเหตุของเหงือกร่นมาจากการติดเชื้อ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการ เช่น เจลทาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ ยาฆ่าเชื้อ น้ำยาบ้วนปากสำหรับรักษาโรคในช่องปาก หรือยาที่มีสรรพคุณระงับและยับยั้งเอนไซม์
  • ผ่าตัด หากเหงือกร่นรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ที่นิยมใช้ เช่น การผ่าตัดเปิดแผ่นเหงือกเพื่อขูดทำความสะอาด (Flap surgery) การปลูกถ่ายเหงือก (Grafting)

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเหงือกร่น

วิธีดูแลสุขภาพเหงือกเหล่านี้ อาจช่วยป้องกัน หรือลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเหงือกร่นได้

  • หมั่นตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ หากพบความผิดปกติใด ๆ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
  • แปรงฟันเป็นประจำและควรแปรงฟันให้ถูกวิธี
  • ใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟัน เพื่อกำจัดสิ่งเศษอาหารหรือแบคทีเรียที่ตกค้าง
  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม
  • ดูแลสุขภาพช่องปากไม่ให้เกิดคราบหินปูน เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเหงือกตามมา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/01/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา