backup og meta

ตรวจตา เพื่อสุขภาพการมองเห็นที่ดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/10/2021

    ตรวจตา เพื่อสุขภาพการมองเห็นที่ดี

    ตรวจตา เป็นการทดสอบสุขภาพดวงตา โดยใช้อุปกรณ์หรือวิธีการตรวจเฉพาะทางเพื่อช่วยประเมินการมองเห็น ตรวจหาโรคตา และสุขภาพโดยรวมของดวงตา การตรวจตามีความสำคัญเนื่องจากปัญหาสายตาบางประเภทอาจไม่มีอาการที่ชัดเจน จึงทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ทราบถึงปัญหาสุขภาพที่กำลังตามมา การตรวจตาเป็นประจำจึงอาจช่วยปกป้องดวงตาให้มีสุขภาพดียาวนานได้

    ตรวจตา คืออะไร

    ตรวจตา คือ การทดสอบสุขภาพดวงตาด้วยอุปกรณ์ทดสอบเฉพาะทาง เพื่อประเมินสุขภาพดวงตา การมองเห็นและตรวจหาโรคตาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการตรวจตาจะช่วยตรวจปัญหาสายตาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที หรือหาแนวทางในการปรับปรุงการมองเห็น เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

    ประโยชน์ของการตรวจตา

    • การตรวจตาทำให้พบปัญหาทางสายตาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
    • การตรวจพบโรคทางตาในระยะเริ่มต้นอาจทำให้การรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น
    • การตรวจตาช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางกายที่อาจส่งผลต่อดวงตา เช่น โรคเบาหวาน นอกจากนี้ อาจช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคทางกายได้
    • การตรวจตาอาจช่วยยืนยันความผิดปกติของสมองบางประการได้ เช่น ความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท

    ต้องตรวจตาบ่อยแค่ไหน

    การตรวจตาอาจขึ้นอยู่กับอายุ ปัญหาสายตา สุขภาพ ปัญหาสุขภาพของคนภายในครอบครัว รวมถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อสายตา เช่น อาชีพ การตรวจตาจึงควรเริ่มต้น ดังนี้

  • ตรวจตาตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 3 ปี เพื่อดูพัฒนาการของตา และตรวจปัญหาสายตาที่พบบ่อย เช่น ตาขี้เกียจ ตาขวาง หรือตาไม่ตรง และอาจตรวจอย่างครอบคลุมมากขึ้นในช่วงอายุ 3-5 ปี เพื่อดูตำแหน่งดวงตาและปัญหาการมองเห็น
  • เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ตรวจการมองเห็นก่อนเข้าเรียนเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการเรียน และคุณหมออาจนัดตรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายตาของแต่ะคนและการพิจารณาของคุณหมอ
  • ผู้ใหญ่ หากมีอายุน้อยกว่า 40 ปี และไม่มีปัญหาสุขภาพหรือปัญหาสายตา คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจตาเป็นประจำทุก 2 ปี หรืออาจไม่ต้องตรวจตาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอด้วย หากมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่มีปัญหาสุขภาพหรือปัญหาสายตา ควรตรวจตาทุก 1-2 ปี แต่หากมีปัญหาสายตาหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือประวัติครอบครัวมีปัญหาสายตา ควรเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำทุกปี หรืออาจบ่อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ
    • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจตาเป็นประจำทุก 1-2 ปี

    สำหรับผู้ที่ใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์ ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตาหรือสูญเสียการมองเห็น เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และใช้ยาที่มีผลข้างเคียงต่อดวงตา อาจจำเป็นต้องตรวจตาบ่อยขึ้น

    สุขภาพตา ตรวจอะไรบ้าง

    ก่อนเริ่มตรวจตาในแต่ละประเภทคุณหมออาจซักประวัติผู้ป่วยเพื่อใช้ในการวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการตรวจตาอาจแบ่งเป็นหลายประเภท ดังนี้

    ทดสอบการมองเห็น

    เป็นวิธีทดสอบการมองเห็นในระยะใกล้ โดยคุณหมอจะให้ผู้ป่วยมองไปยังกระดานตัวอักษรที่มีขนาดจากใหญ่ไปเล็ก โดยประเมินว่าผู้ป่วยมีระยะการมองเห็นเป็นปกติหรือไม่ ซึ่งการทดสอบของตาทั้งสองข้างอาจแยกกัน เพื่อประเมินการรักษาได้แม่นยำมากขึ้น

    การวัดค่าสายตา (Refraction)

    เป็นวิธีการทดสอบเพื่อประเมินการหักเหของแสง โดยคุณหมออาจใช้เครื่องมือเฉพาะที่ส่องแสงเข้าไปในดวงตาเพื่อดูตำแหน่งการหักเหของคลื่นแสงที่ผ่านกระจกตาและเลนส์ หากแสงส่องเข้าไปในส่วนด้านหลังของดวงตาแสดงว่าการหักเหของแสงผิดปกติ คุณหมออาจแก้ไขการหักเหของแสงด้วยวิธีตัดแว่น ใส่คอนแทคเลนส์ หรือผ่าตัดสายตาที่ผิดปกติ เพื่อทำให้การมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

    การตรวจลานสายตา (Visual field test)

    เป็นวิธีทดสอบสายตาในขอบเขตการมองเห็น คือ สามารถมองเห็นด้านหน้าและด้านข้างได้โดยไม่ต้องขยับดวงตา อาจมีวิธีการทดสอบดังนี้

    • ปิดตาหนึ่งข้างแล้วมองสิ่งของด้านหน้า โดยคุณหมอจะขยับสิ่งของในระยะขอบเขตที่ตาสามารถมองเห็นได้ จากนั้นให้ผู้ป่วยบอกว่าเห็นหรือไม่เห็นในระยะใดบ้าง
    • คุณหมออาจใช้อุปกรณ์เฉพาะที่มีหน้าจอแสดงรูปภาพ ให้ผู้ป่วยมองเข้าไปและบอกว่าเห็นหรือไม่เห็นในระยะใดบ้าง
    • วิธีมองหน้าจอที่มีไฟกะพริบเป็นระยะ และให้ผู้ป่วยกดปุ่มเมื่อเห็นสัญญาณไฟ

    ทดสอบการมองเห็นสี

    ผู้ป่วยหลายคนอาจมีปัญหาตาบอดสี หรือแยกแยะสีได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยคุณหมอจะมีอุปกรณ์ที่เป็นจุดสีเพื่อให้ผู้ป่วยเลือกตัวเลขหรือรูปร่างที่กำหนด หากผู้ป่วยมีความผิดปกติของการมองเห็นสี อาจไม่สามารถแยกแยะสีหรือรูปร่างเหล่านั้นได้ ซึ่งภาวะตาบอดสีส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดหรืออาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคต้อหิน หรือโรคเส้นประสาทตา

    ทดสอบกล้ามเนื้อตา

    เป็นวิธีทดสอบเพื่อดูกล้ามเนื้อควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา โดยคุณหมอจะประเมินเมื่อดวงตาจับจ้องวัตถุ และการเคลื่อนไหวไปมาของดวงตา การประสานงานของกล้ามเนื้อ ที่ตอบสนองต่อวัตถุหรือแสง

    การตรวจตาด้วย Slit lamp

    เป็นวิธีตรวจดวงตาด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่ขยายเพื่อตรวจด้านหน้าของดวงตา เช่น เปลือกตา ขนตา กระจกตา ม่านตา เลนส์ตา และช่องของเหลวระหว่างกระจกตาและม่านตา นอกจากนี้ คุณหมออาจใช้สีย้อม ฟลูออเรสซีน (Fluorescein) เพื่อตรวจความเสียหายของเซลล์ในดวงตาได้ชัดเจนขึ้น

    การตรวจจอประสาทตา

    เป็นวิธีตรวจเพื่อประเมินด้านหลังตา เรตินา หลอดเลือดเรตินา และใยแก้วนำแสง โดยคุณหมอจะใช้ยาหยอดตาเพื่อทำให้รู้ม่านตาขยายและใช้วิธีฉายแสงเข้าตาเพื่อตรวจ

    ตรวจความดันลูกตา (Tonometry)

    เป็นวิธีวัดความดันของเหลวภายในดวงตา เพื่อตรวจหาโรคต้อหินที่ทำลายเส้นประสาทตา โดยมีหลายวิธีในการทดสอบ ดังนี้

  • ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Applanation tonometer สัมผัสกับกระจกตาเพื่อวัดค่าความดันตา วิธีทดสอบนี้จะไม่สร้างความเจ็บปวดเนื่องจากคุณหมอจะให้ยาหยอดตาที่มียาชา
  • ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Noncontact tonometry เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์สัมผัสดวงตาเพื่อวัดความดันตา
  • ใครควรตรวจสุขภาพตา

    ทุกคนควรให้ได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อสุขภาพตาที่ดี แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญกับการตรวจตามากขึ้น เพราะภาวะสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อปัญหาสายตาและการมองเห็น ผู้ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้จึงควรตรวจสุขภาพตาบ่อยครั้ง ดังนี้

    เด็ก

    • ครอบครัวมีโรคเกี่ยวกับสายตา เช่น โรคทางพันธุกรรม ต้อกระจกแต่กำเนิด โรคสายตาสั้น ตามัว ตาเหล่
    • คุณแม่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดในระหว่างตั้งครรภ์
    • เด็กที่ติดเชื้อจากแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน กามโรค โรคเริม ไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เป็นโรคติดเชื้อจากปรสิต หรือติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus)
    • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และเด็กแรกเกิดที่ต้องใช้ออกซิเจนเสริมเป็นเวลานาน
    • เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาของเยื่อหุ้มสมอง หรือดวงตามีปัญหาเรื่องการหักเหแสง
    • เด็กตาเหล่
    • เด็กที่อาจมีความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท
    • อะนิโซเมโทรเปีย (Anisometropia) คือ สายตาทั้งสองข้างสั้นและยาวไม่เท่ากัน
    • การมองเห็นส่งผลต่อปัญหาในการเรียน
    • เด็กที่ต้องใส่คอนแทคเลนส์
    • การมองเห็นในตาข้างใดข้างหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป
    • เคยผ่านการผ่าตัดตา หรือเคยมีอาการบาดเจ็บที่ตา
    • การใช้ยาบางชนิด อาหารเสริม หรือสมุนไพร ที่อาจเกิดผลข้างเคียงที่ตา

    ผู้ใหญ่

    • ประวัติครอบครัวหรือเคยมีประวัติส่วนตัวตั้งแต่กำเนิดที่เกี่ยวกับโรคตา
    • ภาวะสุขภาพทางทำให้มีอาการทางตาที่อาจเกิดขึ้น
    • ผู้ที่ทำงานอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถทางสายตาสูง หรืออาชีพมีโอกาสเป็นอันตรายต่อดวงตา
    • การมองเห็นในตาข้างใดข้างหนึ่งมีปัญหา
    • ตรวจตาเมื่อต้องการใส่คอนแทคเลนส์
    • มีอาการบาดเจ็บที่ตา หรือเคยผ่านการผ่าตัดดวงตามาก่อน
    • ดวงตามีข้อผิดพลาดในการหักเหแสง หรือมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
    • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสายตาผิดปกติ เช่น ทำเลสิค การรักษาด้วยวิธี PRK หรือ ReLEx SMILE คือการผ่าตัดรักษาสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง ควรตรวจตาทุก 1-2 ปีเพื่อติดตามสุขภาพตาโดยรวม
    • ตรวจตาหากมีข้อกังวลหรือมีปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตา
    • การใช้ยาบางชนิด อาหารเสริม หรือสมุนไพร ที่อาจเกิดผลข้างเคียงที่ตา

    หากผู้ป่วยมีภาวะสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง ทำงานที่เสี่ยงอันตรายต่อสายตา หรือรับประทานยาที่ส่งผลต่อการมองเห็น อาจต้องได้รับการตรวจสายตาบ่อยขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 หลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคแล้ว ควรตรวจสายตาให้เร็วที่สุดภายใน 5 ปี และตรวจบ่อยขึ้นทุกปีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อดวงตา

    เตรียมตัวก่อนตรวจตา

    ก่อนเข้ารับการตรวจตาควรเตรียมตัว ดังนี้

    • ผู้ป่วยควรโทรนัดหมายกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดถึงปัญหาการมองเห็น หรือปัญหาสายตาที่กำลังเป็นอยู่ เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจตา
    • เตรียมคำถามหรือข้อสงสัยที่ต้องการถามคุณหมอเกี่ยวกับสุขภาพตา และเตรียมพร้อมตอบคำถามประวัติสุขภาพตาหรือประวัติการใช้ยาทั้งหมด
    • หากผู้ป่วยใส่แว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์ ให้นำไปด้วยเพื่อให้คุณหมอตรวจว่าอุปกรณ์ที่ใช้ถูกต้องและเหมาะสมกับสายตาหรือไม่
    • นำแว่นกันแดดมาด้วย เพราะการตรวจสายตาอาจทำให้รู้ม่านตาขยาย แสงสว่างรอบ ๆ ตัวอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตา แสบตา หรือมองไม่ชัดชั่วขณะ การใส่แว่นกันแดดจึงอาจช่วยปกป้องดวงตาได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/10/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา