backup og meta

คันตา สาเหตุ วิธีบรรเทาอาการ และการป้องกัน


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 29/09/2021

    คันตา สาเหตุ วิธีบรรเทาอาการ และการป้องกัน

    คันตา เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากสารระคายเคืองที่เข้าสู่ดวงตา เช่น ฝุ่นควัน สารเคมี รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตาอย่างภาวะตาแห้ง หากเมื่อใดที่รู้สึกคันตา ควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตา หรือนำมือไปสัมผัสกับดวงตา เพราะอาจทำให้กระจกตาเป็นแผล นำไปสู่การติดเชื้อได้

    สาเหตุที่ทำให้คันตา

    สาเหตุที่อาจส่งผลให้คันตา หรือระคายเคืองดวงตา มีดังนี้

    • โรคภูมิแพ้

    เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการคันตา แสบตา น้ำตาไหล ตาบวมแดง ที่พบบ่อยที่สุดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ต้นไม้ ไรฝุ่น เชื้อรา ขนสัตว์เลี้ยง ควันบุหรี่ ละอองน้ำหอม สารเคมี ควันเสียจากยานพาหนะ

  • การติดเชื้อ
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส อาจส่งผลให้เยื่อบุตาอักเสบ นำไปสู่อาการตาแดง บวม และอาจมีหนองขึ้นบนเปลือกตา บางกรณีอาจทำให้ตาแดง พร้อมกับน้ำมูกไหลที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส

    • เกล็ดกระดี่

    เป็นการอักเสบของเปลือกตา ที่อาจเกิดขึ้นต่อเมื่อต่อมน้ำมันบริเวณโคนขนตาอุดตัน ส่งผลให้ตาแดง ระคายเคือง แต่อาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสายตา หรือการมองเห็นใด ๆ

    • ภาวะตาแห้ง

    ปกติดวงตาของจะมีน้ำตาคอยหล่อเลี้ยงทำให้ตาชุ่มชื้น และช่วยขจัดสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่บนดวงตา แต่หากร่างกายของผลิตน้ำตาน้อยเกินไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จึงอาจส่งผลให้ตาแห้ง และคันตา

    • การใส่คอนแทคเลนส์

    การใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป อาจทำให้ดวงตาระคายเคือง คันตา จนตาแดง เพราะคอนแทคเลนส์เป็นวัตถุแปลกปลอมที่ ทำให้ร่างกายมีประมวลผลว่าเป็นวัตถุที่เข้าตา และควรนำออก แต่ถึงอย่างไรการใส่คอนแทคเลนส์ก็อาจช่วยดักจับสิ่งแปลมปลอมต่าง ๆ ได้ ดังนั้น การทำความสะอาด หรือเปลี่ยนคอนแทคเลนส์เมื่อหมดอายุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรกระทำหากอยากใส่คอนแทคเลนส์อย่างปลอดภัยต่อไป

    • กระจกตาเป็นแผล

    เมื่อกระจกตาเป็นแผล จากการติดเชื้อ หรืออุบัติเหตุ อาจส่งผลให้ตาแห้ง ติดเชื้อ นำไปสู่การระคายเคืองดวงตา มีหนองได้

    วิธีบรรเทาอาการคันตา

    หากคันตารุนแรง หรือคันตาเรื้อรัง สิ่งที่ไม่ควรเป็นอักดับแรกคือการขยี้ตา เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการคันตาหาย แต่ยังอาจส่งผลให้กระจกตาเป็นแผล ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดจากคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อนเริ่มรักษา หากมีอาการคันตาจากโรคภูมิแพ้คุณหมออาจกำหนดยาหยอดตาชนิดต้านการอักเสบ ตาแดง เช่น แนฟาโซลีน (Naphazoline) คีโตติเฟน (Ketotifen)  เบโพแทสทีน (Bepotastine)  เอ็มเมดาสทีน (Emedastine)  ฟลูออโรเมโทโลน (Fluorometholone)  และอาจแนะนำให้หยอดน้ำตาเทียม เพื่อขจัดสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในดวงตา และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา

    สำหรับอาการคันตาเล็กน้อย อาจใช้วิธีการประคบเย็นบริเวณดวงตาด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำเย็น หรือถุงประคบเย็น สำหรับคนที่มีอาการคันตา จากภาวะตาแห้ง ควรเพิ่มความชุ่มชื้นในดวงตาด้วยการหยอดน้ำตาเทียม

    การป้องกันอาการคันตา

    การป้องกันอาการคันตา ที่ควรปฏิบัติตาม ได้แก่

    • ล้างมือด้วยน้ำอุ่น และสบู่ให้สะอาดก่อนสัมผัสกับดวงตา เพราะฝ่ามืออาจมีเชื้อโรค และสิ่งสกปรกที่มองไม่เห็น
    • หลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสกับดวงตา เช่น การขยี้ตา เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือ ทำให้สิ่งสกปรกข่วนผิวกระจกตาจนบาดเจ็บได้
    • ล้างเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนนอน เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน หรือขนตา และควรเปลี่ยนเครื่องสำอางใหม่ทุก ๆ 6 เดือน
    • ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และล้างมือก่อนใส่

    อาการคันตารุนแรง ที่ควรเข้าพบคุณหมอ

    อาการคันตารุนแรง ดังต่อไปนี้ เป็นสัญญาณเตือนที่ควรเข้าพบคุณหมอในทันที เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพตา

  • อาการคันตาไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง
  • ตาบวม
  • ลืมตาลำบาก
  • ปวดตา หรือเจ็บตา โดยฉพาะเวลามองแสงจ้า
  • มองเห็นแสงไฟเป็นวงรัศมี
  • มีขี้ตาข้นเหนียว
  • การมองเห็นเปลี่ยนไป เช่น ตาเบลอ มองเห็นไม่ชัด
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างอยู่ในตา
  • ขนาดของรูม่านตาเปลี่ยนไป
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 29/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา