backup og meta

อาการตาแห้ง บรรเทาอย่างไรให้ได้ผล

เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงฉันทกา สุปิยพันธุ์ · จักษุวิทยา · คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช


แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    อาการตาแห้ง บรรเทาอย่างไรให้ได้ผล

    อาการตาแห้ง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน ส่วนมากจะมีอาการ ระคายเคืองตา เเสบตา ไม่สบายตา ฝืดตา รวมถึงมีภาวะระคายเคืองที่ผิวตาจนกระทั่งมีน้ำตาไหลผิดปกติ อาการเหล่านี้ถึงเเม้ไม่ได้ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น เเต่ก่อให้เกิดความรำคาญเเละรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่มีอาการอย่างมาก

    อาการตาเเห้งนั้น เเท้จริงเเล้วเกิดจากผิวตาอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสร้างน้ำตาน้อยลง อายุที่มากขึ้น เพศหญิงจะตาเเห้งมากกว่าเพศชาย การใช้สายตาที่มากขึ้น เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ เเละหน้าจอดิจิตอลหลายชั่วโมงต่อวัน ภาวะที่มี ควัน ฝุ่น ลม มากขึ้น เเละความชื้นต่ำในอากาศ รวมถึงยาบางประเภทเช่น ยาเเก้เเพ้ ยานอนหลับ การใส่คอนเทคเลนส์ เป็นต้น

    ในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี ในการรักษาเเละบรรเทาอาการตาแห้งช่วยให้อาการดีขึ้น

    ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม

    จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการตาแห้ง โดยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ก่อให้เกิดอาการตาแห้ง เช่น ลดการใช้สายตาหน้าคอมพิวเตอร์ หรือพักสายตาเป็นระยะๆ  หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันธูป ควรใส่เเว่นกันเเดด กันลม ป้องกันดวงตาขณะเล่นกีฬา เช่น การขี่มอเตอร์ไซค์ ขี่จักรยาน เล่นสกี

    เพิ่มกรดไขมันในอาหาร

    กรดไขมันโอเมก้า 3 ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถช่วยลดอาการตาแห้งโดยการลดการอักเสบในร่างกาย โดยเฉพาะการอักเสบที่ตา ควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหาร ที่ช่วยบรรเทาอาการตาแห้ง

    ใช้ยารักษา

  • ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเป็นวิธีการที่ใช้ในการรักษาตาแห้งที่แพร่หลายมากที่สุด ผู้ป่วยสามารถหาซื้อยาตามร้านขายยาทั่วไป ยาเหล่านี้ช่วยบรรเทาอาการได้ โดยน้ำตาเทียมที่ใช้หยอดตามี 2 เเบบ คือ ในรูปเเบบขวด ซึ่งจะมีสารกันเสีย เหมาะสำหรับอาการตาเเห้งเล็กน้อย ใช้หยอดได้ได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อวัน ถ้าอาการตาเห้งมากขึ้น จะเเนะนำน้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย โดยจะบรรจุลงในหลอดเล็กๆ สามารถหยอดได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อวัน เพราะไม่มีสารกันเสียมาทำร้ายผิวตา นอกจากนี้น้ำตาเทียมมีในรูปเเบบของเจลเเละขี้ผึ้ง เหมาะสำหรับใช้ตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ไม่เหมาะใช้ในเวลากลางวัน เพราะจะทำให้ตามัวได้
  • การใช้ยาเพื่อรักษาการอักเสบที่เปลือกตา เมื่อเกิดการอักเสบเกิดขึ้นที่เปลือกตา จะทำให้ต่อมไขมันไม่สามารถหลั่งน้ำมันออกมาเป็นน้ำตาได้ ในกรณีนี้ แพทย์จะสั่งยาฆ่าเชื้อ เพื่อยับยั้งอาการอักเสบ เเละวิธีทำความสะอาดเปลือกตา เพื่อลดภาวะไขมันบริเวณต่อมเปลือกตาอุดตัน เพื่อลดอาการตาแห้งได้
  • ยากระตุ้นน้ำตา เป็นยาที่ช่วยให้ต่อมน้ำตาผลิตน้ำตามากขึ้น ซึ่งเรียกว่ายาคอลิเนจิก (cholinergics) ซึ่งต้องใช้ในดุลพินิจของจักษุเเพทย์
  • ใช้ยาหยอดตา เพื่อควบคุมการอักเสบที่กระจกตา ยาเหล่านี้เป็นยาที่แพทย์สั่ง ซึ่งมีส่วนผสมของตัวยาที่กดภูมิ เช่น ไซโคลสปอริน หรือคาร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นยาที่ช่วยจัดการอาการอักเสบบริเวณผิวตา ไม่ควรใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เนื่องจากมีผลข้างเคียงได้ เช่น ต้อกระจกเเละต้อหิน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    เขียนโดย

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงฉันทกา สุปิยพันธุ์

    จักษุวิทยา · คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช


    แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา