backup og meta

เทคนิคบริหารดวงตา เพื่อ รักษาตาเหล่ สามารถทำได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/03/2021

    เทคนิคบริหารดวงตา เพื่อ รักษาตาเหล่ สามารถทำได้อย่างไร

    หากตัวคุณเองหรือคนใกล้ตัวของคุณกำลังเผชิญกับ อาการตาเหล่ และไม่รู้ว่าควรจะรักษาอย่างไรอยู่ละก็ วันนี้ Hello คุณหมอ จะขอนำวิธีบริหารดวงตา หรือเทคนิคการฝึกการเคลื่อนไหวของดวงตา ที่อาจช่วย รักษาตาเหล่ มาฝากทุกคน ให้ได้ลองนำไปปฏิบัติตามควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบัน เพื่อลดอาการเชิงลบด้านการมองเห็น และเพิ่มประสิทธิภาพของดวงตากันค่ะ

    อาการตาเหล่ คืออะไร

    ภาวะตาเหล่ หรือ อาการตาเหล่ (Strabismus) หมายถึงภาวะที่ลูกตาทั้งของข้างทำงานไม่ประสานกัน และอยู่ในลักษณะที่ไม่ขนานกัน ทำให้ไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกัน ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ แต่อาจพบได้บ่อยกับเด็กทารก หรือเป็นมาตั้งแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่อาการตาเหล่นี้มักมีความเชื่อมโยงกับระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อของตา จนทำให้มองเห็นสิ่งรอบตัวและวัตถุเป็นภาพซ้อน ส่งผลให้มีอาการตาล้า พร้อมกับลูกตามีการเคลื่อนที่ออกไปคนละทิศทางร่วมด้วย เช่น ลูกตาข้างใดข้างหนึ่งค้างอยู่ด้านใน และอีกข้างหันออกด้านนอก หรืออาจหันเข้าหากันทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น

    4 เทคนิคบริหารดวงตา เพื่อ รักษาตาเหล่

    หากใครที่กำลังเผชิญกับ อาการตาเหล่ อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องเครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป เพราะถ้าคุณได้รับการรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหมั่นบริหารดวงตาอย่างเป็นประจำตามเทคนิคดังต่อไปนี้ ก็อาจสามารถช่วยให้การมองเห็นคุณมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นได้

    เทคนิคที่ 1 Brock string

    เป็นหนึ่งในวิธีบริหารดวงตาที่อาจช่วยรักษา อาการตาเหล่ ได้ โดยเริ่มจากเตรียมอุปกรณ์คือ เชือกยาวประมาณ 5 ฟุต พร้อมร้อยลูกปัด 3 สีให้แตกต่างกัน แล้วจึงปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้

    • เว้นระยะของลูกปัดให้ห่างกันด้วยระยะที่ใกล้เคียงหรือเท่ากัน
    • ผูกปลายเชือกกับวัตถุในระดับสายตา เช่น ช่องหลังเก้าอี้ หรืออาจให้คนใกล้ตัวเป็นคนจับไว้ให้
    • จับปลายเชือกข้างที่ไม่ได้ผูกมาจรดปลายจมูก
    • จ้องที่ลูกปัดลูกแรก หากเห็นว่าลูกปัดมี 2 ภาพ หรือภาพซ้อน ให้คุณจับลูกปัดนั้นปรับระดับเลื่อนขึ้นมา เพื่อให้ดวงตาคุณสามารถโฟกัสจนเห็นเป็นเพียงลูกเดียว
    • ทำซ้ำกับลูกปัดสีอื่น ๆ เช่นเดียวกัน

    วิธีนี้แพทย์อาจมีการใช้เทคนิคการบริหารสายตาอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นให้มองสลับลูกปัดแต่ละไปเรื่อย ๆ เป็นต้น ดังนั้นคุณจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อปรับหาวิธีที่เหมาะสมมาฝึกด้วยตนเองที่บ้าน

    เทคนิคที่ 2 Barrel cards

    สำหรับเทคนิคการบริหารดวงตาเพื่อรักษา อาการตาเหล่ คุณอาจต้องใช้อุปกรณ์ที่สามารถประดิษฐ์ขึ้นได้เองจากการวาดภาพลงบนกระดาษแนวนอน โดยวาดรูปเป็นวงกลม สี่เหลี่ยม หรือวัตถุใดก็ได้ลงไปให้มีขนาดที่แตกต่างกัน ไล่จากภาพขนาดใหญ่ให้วาดในตำแหน่งริมสุดข้างใดข้างหนึ่ง วาดภาพที่ลดขนาดลงมาไว้ตรงกลาง จากนั้นก็วาดภาพขนาดเล็กสุดแต่ยังสามารถมองเห็นได้ไว้ริมกระดาษ พร้อมลงสีรูป 3 รูปให้แตกต่างกัน เมื่อเสร็จสิ้นการเตรียม Barrel cards คุณสามารถเริ่มฝึกบริหารดวงตาได้ ตามขั้นตอนดังนี้

    • ถือกระดาษแนวนอนทางด้านภาพวาดที่มีขนาดเล็กที่สุด และให้สันกระดาษแนบชิดกับสันจมูกกึ่งกลาง
    • มองไปยังภาพที่อยุ่ไกลสุดของกระดาษ ค้างไว้ประมาณ 5 นาที จนกว่าคุณจะเริ่มเห็นภาพวาดทั้งหมดนั้นเป็นภาพเดียวกัน

    เทคนิคที่ 3 Pencil pushups

    แพทย์อาจแนะนำให้คุณถือดินสอไว้ ในตำแหน่งกึ่งกลางอยู่ระหว่างจมูก และยืดออกไปจนสุดแขน แล้วจึงค่อยเริ่มขยับดินสอเข้ามาใกล้เรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ จนกว่าคุณจะเห็นเป็นภาพซ้อน แล้วจึงค่อยขยับดินสอนั้นออกกลับยังตำแหน่งเริ่มต้น ทำซ้ำไปมาเช่นนี้ จนกว่าการฝึกจะเสร็จสิ้น โดยทุกครั้งที่ขยับดินสอ คุณควรโฟกัสมองไปที่ดินสอเพียงอย่างเดียว ห้ามละสายตาเป็นอันขาด การบริหารแบบนี้อาจสามารถช่วยรักษา อาการตาเหล่ ได้

    เทคนิคที่ 4 การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จากแพทย์

    เนื่องจาก อาการตาเหล่ อาจทำให้คุณไม่สามารถโฟกัสดวงไปที่วัตถุเดียวกันได้ กรณีนี้แพทย์อาจจะต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าช่วย โดยให้ผู้ป่วยดูวิดีโอที่ออกแบบมาพิเศษตามอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยรักษา อาการตาเหล่ เทคนิคนี้อาจต้องทำกับแพทย์โดยตรงเท่านั้น มิสามารถนำกลับไปบริหารรักษาภาวะตาเหล่เองที่บ้านได้

    ทำอย่างไรเมื่อ บริหาร อาการตาเหล่ ไม่ได้ผล

    หลังจากได้ลอง 4 เทคนิคการรักษา อาการตาเหล่ ในข้างต้นแล้ว หากคุณยังมีอาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้น อาจเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์อีกครั้ง เพื่อค้นหาวิธีรักษาอื่น ๆ ที่เหมาะสมกว่า โดยส่วนใหญ่แพทย์อาจแนะนำเป็นการผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อรอบดวงตา แต่หากผู้ป่วยที่มี อาการตาเหล่ เล็กน้อย แพทย์ก็อาจกำหนดให้ใช้ยาหยอดตาที่สามารถส่งเสริมด้านการมองเห็นไม่ให้คุณมองวัตถุเป็นภาพซ้อนหรือภาพเบลอมาทดแทนค่ะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา