backup og meta

ต้อเนื้อ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

    ต้อเนื้อ สาเหตุ อาการ และการรักษา

    ต้อเนื้อ เป็นปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ที่เกิดจากพังผืดของเยื่อบุตาที่มีลักษณะเป็นสีชมพูและแดงลุกลามเข้าไปสู่ตาดำ ซึ่งอาจไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็งแต่อาจรบกวนด้านการมองเห็น ดังนั้น จึงควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วหากสังเกตว่าเยื่อบุตาเริ่มขยายใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงอาการตาบอด

    คำจำกัดความ

    ต้อเนื้อ คืออะไร

    ต้อเนื้อ คือ พังผืดของเยื่อบุตาที่อยู่บริเวณหัวตาขยายใหญ่จนลุกลามเข้าสู่ตาดำ ทำให้ม่านตาขุ่นมัว ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง อย่างไรก็ตาม ต้อเนื้อมักจะไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง แต่อาจรบกวนการมองเห็น ส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวก และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้

    อาการ

    อาการของต้อเนื้อ

    อาการของต้อเนื้อ อาจมีดังนี้

  • เยื่อบุตาขยายใหญ่และลุกลามเข้าไปยังตาดำอย่างเห็นได้ชัด
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในดวงตาตลอดเวลา
  • ตาแดง
  • น้ำตาไหล
  • ระคายเคือง บางคนอาจรู้สึกแสบตา
  • มองเห็นไม่ชัดหรือมองเห็นเป็นภาพซ้อน
  • สาเหตุ

    สาเหตุของต้อเนื้อ

    ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดต้อเนื้อ แต่คาดว่าอาจเกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด ลม ฝุ่น หรือสิ่งสกปรกที่เข้าสู่ดวงตา ทำให้ดวงตาระคายเคืองและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาขยายใหญ่จนลุกลามไปบดบังตาดำ

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของต้อเนื้อ

    ปัจจัยเสี่ยงของต้อเนื้อ มีดังนี้

    • ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เพราะอาจเสี่ยงทำให้ดวงตาได้รับรังสีไวโอเลตจากแสงแดดมากเกินไป
    • ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ลมแรง และสัมผัสกับฝุ่น หรือสิ่งสกปรกเป็นประจำ เช่น รับเหมาก่อสร้าง เหมืองแร่ ชาวประมง เกษตรกร

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยต้อเนื้อ

    การวินิจฉัยต้อเนื้อ อาจทำได้ดังนี้

    • สอบถามประวัติสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นต้อเนื้อ
    • ทดสอบการมองเห็นด้วยการอ่านตัวอักษร
    • วัดความโค้งของกระจกตาว่ามีความเสี่ยงเป็นสายตาเอียงร่วมด้วยหรือไม่
    • ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่เรียกว่า Slit Lamp ซึ่งมีแสงไฟที่ส่องเข้าไปในดวงตาเพื่อช่วยตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตา
    • การถ่ายภาพในดวงตา เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของต้อเนื้อ

    การรักษาต้อเนื้อ

    การรักษาต้อเนื้อ อาจทำได้ดังนี้

    • น้ำตาเทียม เพื่อช่วยลดการระคายเคืองดวงตาในผู้ที่เป็นต้อเนื้อและมีอาการตาแห้ง คันตา และแสบตา
    • ยาหยอดตาสเตียรอยด์ ที่ควรได้รับตามใบสั่งแพทย์ ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการแดง อาการคัน ตาบวม ตาอักเสบที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเยื่อบุตา และอาจนำไปสู่การเกิดต้อเนื้อได้
    • การผ่าตัด อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงร่วมด้วย หรือขนาดเยื่อบุตาขยายใหญ่จนลุกลามเข้าสู่ตาดำ โดยคุณหมอจะทำการหยอดยาชาก่อนการผ่าตัด และผ่าตัดนำต้อเนื้อออก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น โดยอาจใช้ระยะเวลา 30-45 นาที
    • การปลูกถ่ายเยื่อบุน้ำคร่ำ ซึ่งได้รับมาจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เต็มใจบริจาค มีลักษณะบางใสที่คอยช่วยห่อหุ้มทารกและมักติดออกมาหลังจากคลอดทารก โดยคุณหมอจะทำการตัดออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาสภาพของเยื่อบุน้ำคร่ำ เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายรักษาต้อเนื้อ โดยจะวางไว้เหนือลูกตาเพื่อช่วยป้องกันการกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำ และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดพังผืด

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันต้อเนื้อ

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันต้อเนื้อ อาจทำได้ดังนี้

    • ปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตด้วยการสวมแว่นตากันแดดและสวมหมวกปีกกว้างเป็นประจำ หรือหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงเวลาที่แดดจัด
    • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่มีลมแรง ควัน และฝุ่น เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา
    • สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา เช่น รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตาตลอดเวลา เยื่อบุตาลุกลามไปบริเวณตาที่เข้าใกล้กับตาดำ และควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
    • สำหรับผู้ที่ผ่าตัดต้อเนื้อควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เช่น ใช้ยาหยอดตาสม่ำเสมอ ไม่ควรถอดผ้าปิดตาออกจนกว่าจะถึงวันที่กำหนด โดยปกติคุณหมอมักให้ปิดตาอย่างน้อย 1-2 วัน
    • เข้ารับการบำบัดหลังผ่าตัด เช่น การฉายรังสี ใช้ยาหยอดตาไมโตมัยซินซี (Mitomycin: MMC) เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้อเนื้อ และช่วยป้องกันการกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำหลังผ่าตัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา