backup og meta

การคุมกำเนิด มีอะไรบ้าง และทำได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/02/2023

    การคุมกำเนิด มีอะไรบ้าง และทำได้อย่างไร

    การคุมกำเนิด คือ วิธีป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิเข้าไปผสมกับไข่จนเกิดการปฏิสนธิ หรือการป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนที่ถูกผสมแล้ว ไม่ให้ฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก วิธีคุมกำเนิดมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด การรับประทานยาคุมกำเนิด การทำหมันแบบถาวร อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด จะต้องพิจารณาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด ข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน รวมไปถึงโรคประจำตัวของผู้ใช้งานด้วย

    การคุมกำเนิด มีอะไรบ้าง

    การคุมกำเนิดแบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้

    การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

    สามารถกลับมามีลูกได้เมื่อหยุดคุมกำเนิด โดยวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวอาจมีดังนี้

    • ถุงยางอนามัยผู้ชายและผู้หญิง ถุงยางสำหรับเพศชายผลิตจากน้ำยางพาราหรือโพลียูรีเทน (Polyurethane) มีลักษณะบาง เป็นทรงกระบอก ปลายด้านหนึ่งมีกระเปาะ ยืดหยุ่นได้ดี ใช้สวมใส่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ส่วนถุงยางสำหรับเพศหญิงผลิตจากโพลียูรีเทน มีลักษณะบาง ยืดหยุ่นได้ดี ที่ปลายแต่ละข้างมีขอบยางที่ช่วยยึดให้ถุงยางอยู่กับที่ เวลาสวมใส่ให้ถือถุงยางด้วยมือข้างหนึ่ง ใช้นิ้วสอดเข้าไปในถุงยางอนามัยและดันถุงยางอนามัยให้เข้าไปถึงบริเวณปากมดลูก จากนั้นถุงยางจะคลายตัวและขยายออกเอง โดยต้องให้ปลายด้านหนึ่งของถุงยางอยู่นอกช่องคลอดเพื่อให้ดึงออกได้ง่าย ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีผลข้างเคียงในผู้ที่แพ้สารหล่อลื่นที่เคลือบอยู่บริเวณผิวถุงยาง และอาจลอประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลงถ้าสวมใส่ผิดวิธี หรือมีการแตก รั่ว หลุด ระหว่างการใช้งาน
    • หมวกยางกั้นช่องคลอดหรือหมวกครอบปากมดลูก (Diaphragm) มีลักษณะเป็นทรงกลมทำจากซิลิโคนอ่อนนุ่ม ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์เพื่อปิดปากมดลูกไม่ให้ตัวอสุจิสามารถเข้าไปในโพรงมดลูกและผสมกับไข่จนปฏิสนธิได้ อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ระคายเคืองภายในช่องคลอดและอวัยวะเพศชายได้
    • ฟองน้ำคุมกำเนิด (Contraceptive Sponge) ทำจากโฟมโพลียูรีเทน (Polyurethane foam) มีสารฆ่าตัวอสุจิ โดยก่อนมีเพศสัมพันธ์ต้องสอดฟองน้ำเข้าไปในช่องคลอดให้คลุมปากมดลูกทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิสามารถเข้าไปในมดลูกและผสมกับไข่จนปฏิสนธิได้ อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ช่องคลอดแห้ง ระคายเคือง ติดเชื้อ
    • ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (Hormonal IUD) เป็นอุปกรณ์รูปทรงคล้ายตัว T ใช้ใส่เข้าไปในมดลูก ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่อาจช่วยให้มูกปากมดลูกหนาขึ้นและทำให้ผนังมดลูกบางลง ป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิเข้าถึงรังไข่และผสมกับไข่จนปฏิสนธิ อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น ตะคริว เป็นลม ประจำเดือนไม่ปกติ ประจำเดือนมาน้อยลง
    • ยาคุมกำเนิด แบ่งเป็นชนิดฮอร์โมนเดี่ยวและฮอร์โมนรวม มีแบบ 21 เม็ดและ 28 เม็ด ใช้รับประทานตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนวันแรกและรับประทานต่อเนื่องทุกวัน ยาคุมกำเนิดช่วยหยุดการตกไข่ เพิ่มความเหนียวของมูกปากมดลูก และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ทำให้ไข่ไม่เหมาะสมในการฝังตัวสำหรับตัวอ่อน อาจมีผลข้างเคียงชั่วคราว เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ เจ็บเต้านม อารมณ์แปรปรวน
    • การฉีดยาคุมกำเนิด เป็นการฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเข้ากล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ มีประสิทธิภาพยาวนานประมาณ 8-13 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของยา เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ไม่สามารถรับประทานยาคุมกำเนิดได้ อาจมีผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักขึ้น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เจ็บเต้านม เลือดออกผิดปกติ
    • แผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นแผ่นแปะขนาดเล็กที่ปล่อยฮอร์โมนรวม คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเจสตินเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ มีประสิทธิภาพการใช้งานประมาณ 1 สัปดาห์ และต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกสัปดาห์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นให้หยุด 1 สัปดาห์จึงจะสามารถแปะแผ่นใหม่ได้อีกครั้ง อาจมีผลข้างเคียงชั่วคราว คือ ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ปวดศีรษะ
    • ยาฝังคุมกำเนิด (Implant) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝังใต้ผิวหนังของเพศหญิง โดยอุปกรณ์คุมกำเนิดจะปล่อยฮอร์โมนสังเคราะห์ในกลุ่มโปรเจสเตอโรน คือ อีโทโนเจสตีล (Etonogestrel) ที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ มีระยะเวลาการใช้งานประมาณ 3 ปี จากนั้นต้องเปลี่ยนอันใหม่เพื่อคุมกำเนิดต่อไป อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เจ็บเต้านม เลือดออกผิดปกติ ประจำเดือนหายไป

    การคุมกำเนิดแบบถาวร

    ทำให้ไม่สามารถมีลูกได้อีก ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย วิธีคุมกำเนิดถาวร มีดังนี้

    • การทำหมันเพศหญิง ใช้วิธีผูกท่อนำไข่เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิเดินทางเข้าไปผสมกับไข่จนเกิดการปฏิสนธิได้ แต่หากทำหมันล้มเหลว อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก
    • การทำหมันเพศชาย ใช้วิธีผ่าตัดท่อนำอสุจิทั้งสองข้าง หรือคุณหมออาจใช้อุปกรณ์เจาะผิวหนังที่อวัยวะเพศให้เป็นรูเล็ก ๆ จากนั้นสอดเครื่องมือเข้าไปตัดท่อนำอสุจิทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้ตัวอสุจิเดินทางไปรวมกับน้ำอสุจิและออกจากร่างกายได้

    การคุมกำเนิดฉุกเฉิน

    การคุมกำเนิดฉุกเฉินมักใช้หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเกิดเหตุฉุกเฉินในการคุมกำเนิดบางประการ เช่น ถุงยางแตก ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติ การคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจทำได้ 2 วิธี ดังนี้

    • การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เมื่อใช้อย่างถูกวิธี ควรรับประทานยาทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันหรือไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจมีผลข้างเคียง เช่น มีเลือดออกกะปริบกะปรอย คลื่นไส้ เวียนศีรษะ และหากใช้บ่อยอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะท้องนอกมดลูก รวมไปถึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนในร่างกายได้
    • การใช้ห่วงทองแดงคุมกำเนิด (Copper IUD) สามารถใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินได้เช่นกัน แต่ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อใส่ห่วงทองแดงคุมกำเนิดทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือไม่เกิน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น ประจำเดือนไม่ปกติ มีเลือดออกจากมดลูกที่เพิ่มมากขึ้น

    สำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกิน คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ห่วงทองแดงคุมกำเนิดฉุกเฉิน หรืออาจเพิ่มขนาดการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน เนื่องจากประสิทธิภาพของยาอาจลดลงในผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกิน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ

    เคล็ดลับในการคุมกำเนิด

    การเตรียมตัวให้ดีและเคร่งครัดในการคุมกำเนิดด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้การคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    1. เตรียมพร้อม ศึกษาเกี่ยวกับการคุมกำเนิดทุกชนิด และตรวจสอบว่าตัวเองเหมาะสมกับการคุมกำเนิดแบบใด
    2. ตรวจสอบวันหมดอายุของอุปกรณ์คุมกำเนิดแบบไม่ถาวร เช่น ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด ก่อนใช้งานเสมอ เพื่อไม่ให้การคุมกำเนิดผิดพลาด
    3. แสงและความร้อนอาจส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์คุมกำเนิด เช่น หากถุงยางอนามัยโดนแดดเป็นเวลานานหรือเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ที่ถูกกดทับ อาจทำให้ถุงยางฉีดขาดได้ง่ายขึ้น จึงควรเก็บให้พ้นจากแสงแดดและหลีกเลี่ยงการกดทับ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด
    4. ควรอ่านข้อปฏิบัติและข้อควรระวังก่อนใช้อุปกรณ์หรือยาคุมกำเนิดทุกชนิด และควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการคุมกำเนิดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดสูงสุด และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการคุมกำเนิด
    5. ใช้สารหล่อลื่น โดยเลือกชนิดที่มีส่วนผสมของน้ำเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงยางแตกได้ง่าย และเพื่อการคุมกำเนิดที่ดียิ่งขึ้น ควรเลือกสารหล่อลื่นที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้ออสุจิ
    6. เตรียมการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินไว้เสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ถุงยางแตก ลืมกินยาคุมแบบปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา