backup og meta

ฝังยาคุม มีประจําเดือนไหม เพราะอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ฝังยาคุม มีประจําเดือนไหม เพราะอะไร

    ฝังยาคุม มีประจําเดือนไหม? อาจเป็นคำถามที่สาว ๆ หลายคนสงสัย การฝังยาคุมเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานประมาณ 3-5 ปี แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงโดยทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติในช่วงปีแรก เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนมานานขึ้น และหลังจากนั้นประจำเดือนจะมาน้อยลงเรื่อย ๆ และผู้ที่ฝังยาคุมส่วนใหญ่มักไม่มีประจำเดือนตลอดช่วงที่ฝังยาคุม อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนจะกลับมาอีกครั้งเมื่อหยุดฝังยาคุมกำเนิด

    ฝังยาคุม เป็นอย่างไร

    การฝังยาคุมกำเนิด คือการฝังหลอดยาขนาดเล็กประมาณ 3 เซนติเมตร หรือราว ๆ แท่งไม้ขีด ซึ่งบรรจุฮอร์โมนสังเคราะห์ เช่น ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) อีโทโนเจสเตรล (Etonogestrel) เข้าไปในบริเวณใต้ท้องแขนเพื่อทำให้เพศหญิงไม่ตั้งครรภ์ โดยออกฤทธิ์ดังนี้

    • ยับยั้งการตกไข่ ทำให้ไม่มีเซลล์สืบพันธุ์สำหรับผสมกับอสุจิจนเกิดการปฏิสนธิหรือตั้งครรภ์
    • ทำให้เมือกบริเวณปากมดลูกหนาขึ้น เพื่อป้องกันอสุจิเคลื่อนตัวไปถึงไข่จนเกิดการปฏิสนธิ

    การฝังยาคุม 1 ครั้ง มักออกฤทธิ์คุมกำเนิดติดต่อกันราว 3-5 ปี และมีประสิทธิภาพคุมกำเนิดประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์

    ทั้งนี้ การฝังยาคุม ควรฝังในช่วง 5 วันแรกของรอบเดือน เพราะจะทำให้ยาคุมออกฤทธิ์เต็มประสิทธิภาพในทันที หากฝังยาคุมในช่วงอื่น ๆ ของรอบเดือน ควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เป็นเวลาประมาณ 7 วัน เนื่องจากยาคุมยังออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

    อย่างไรก็ตาม การฝังยาคุมไม่เหมาะกับบุคคลดังต่อไปนี้

    • ผู้ที่อาจกำลังตั้งครรภ์
    • ผู้ที่เคยพบลิ่มเลือดปริมาณมาก
    • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง
    • ผู้ที่มีเลือดไหลทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งชนิดใด ๆ ก็ตามที่ไวต่อฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด
    • ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบในยาคุมแบบฝัง
    • ผู้ที่สูบบุหรี่

    ฝังยาคุม มีประจําเดือนไหม

    เมื่อฝังยาคุมกำเนิด ในบางรายอาจมีประจำเดือนตามปกติ ขณะที่ส่วนใหญ่มักมีประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากฮอร์โมนออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์และก่อให้เกิดผลข้างเคียงโดยเฉพาะในช่วงปีแรกที่ฝังยาคุมกำเนิด เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนมานานขึ้น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หลังจากนั้นประจำเดือนอาจมาน้อยลงเรื่อย ๆ และไม่มีประจำเดือนเลยตลอดระยะเวลาที่ฝังยาคุมกำเนิด หรือเรียกว่าภาวะขาดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนจะกลับมาตามปกติหลังหยุดฝังยาคุมกำเนิด

    ทั้งนี้ นอกจากผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนแล้ว ผลข้างเคียงแบบอื่นที่อาจพบได้เมื่อฝังยาคุม ได้แก่

  • ปวดหัว
  • อารมณ์แปรปรวน
  • คลื่นไส้
  • เจ็บเต้านม
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ภาวะถุงน้ำในรังไข่
  • ฝังยาคุม เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    หากผู้หญิงที่ฝังยาคุมมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

    • ตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
    • รู้สึกไม่สบายใจ ซึมเศร้า
    • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
    • ไม่รู้สึกถึงตัวยาคุมที่ฝังอยู่เมื่อลองสัมผัสบริเวณใต้ท้องแขน
    • มีอาการแพ้ในระดับรุนแรง เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดหัวแบบรุนแรงและเฉียบพลัน แขนและขาชาหรืออ่อนแรง ใบหน้า ลิ้น หรือคอบวม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา