backup og meta

ฝังเข็มยาคุม อีกหนึ่งทางเลือกของการคุมกำเนิด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ฝังเข็มยาคุม อีกหนึ่งทางเลือกของการคุมกำเนิด

    ฝังเข็มยาคุม เป็นการคุมกำเนิดในระยะยาวสำหรับผู้หญิง โดยนำแท่งพลาสติกยืดหยุ่นได้ขนาดประมาณไม้ขีดไฟ ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่เรียกว่า อีโตโนเกสเตรล (Etonogestrel) ฝังเข้าไปบริเวณใต้ท้องแขนด้านบน อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณ 3-5 ปี เหมาะสำหรับผู้ที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดบ่อย ๆ

    ฝังเข็มยาคุม คืออะไร

    ฝังเข็มยาคุม คือ การนำแท่งพลาสติกที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนฝังเข้าบริเวณใต้ท้องแขนด้านบน โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะค่อย ๆ ซึมผ่านออกมาจากแท่งพลาสติกเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณต่ำและสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน รวมถึงทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้น ส่งผลให้อสุจิเคลื่อนที่ไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยากขึ้น และยังทำให้ผนังเยื่อบุมดลูกบางลง จึงไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน ส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยลง 

    ขั้นตอนการฝังเข็มยาคุม 

    การฝังเข็มยาคุมกำเนิด ควรทำในช่วงมีประจำเดือน 5 วันแรก เพื่อจะได้แน่ใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ รวมถึงเพื่อให้ยาที่ฝังมีผลในการป้องกันทันที การฝังเข็มยาคุมใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที โดยขั้นตอนอาจมีดังนี้ 

    • ตรวจร่างกาย
    • เช็ดทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
    • ฉีดยาชาบริเวณจุดฝังเข็มยาคุม
    • ใช้เข็มเปิดแผลและสอดแท่งที่มีหลอดยาบรรจุไปในบริเวณใต้ท้องแขน
    • ทำการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ตามด้วยผ้าพันแผล

    หลังจากฝังเข็มยาคุมสามารถถอดผ้าพันแผลออกได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำเอาไว้ 3-5 วัน เพื่อรักษาความสะอาด และรอให้ยาคุมแบบฝังเข้าที่ และควรไปหาคุณหมอตามกำหนด เพื่อตรวจดูแผลที่ฝังยาและติดตามผล การฝังเข็มยาคุมสามารถอยู่ได้ประมาณ 3-5 ปี เมื่อครบกำหนดควรถอดยาออก และใส่หลอดใหม่เข้าไปหากต้องการคุมกำเนิดต่อ แต่หากลืมฝังยาคุมกำเนิดควรป้องกันด้วยวิธีอื่นก่อน เช่น รับประทานยาคุมกำเนิด สวมถุงยางอนามัย 

    ข้อดี-ข้อเสียของการฝังเข็มยาคุม 

    ข้อดีของการฝังเข็มยาคุม

    • ลดโอกาสในการตั้งครรภ์
    • ไม่ต้องกังวลว่าลืมรับประทานยาคุมกำเนิด เมื่อมีเพศสัมพันธ์ 
    • ไม่กระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตประจำวัน
    • อาจช่วยลดอาการปวดประจำเดือน
    • ไม่กระทบต่อปริมาณน้ำนม สำหรับผู้ที่ให้นมบุตร 
    • อาจมีประโยชน์สำหรับผู้หญิงที่ไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนได้
    • หากต้องการตั้งครรภ์สามารถนำเข็มยาคุมออกได้ทันที โดยให้คุณหมอทำการถอดหลอดยาออก ซึ่งการใช้ฝังเข็มยาคุมอาจมีโอกาสมีบุตรได้เร็วกว่าการฉีดยาคุม เนื่องจากฮอร์โมนกระจายออกในปริมาณน้อยและไม่สะสมในร่างกาย

    ข้อเสียของการฝังเข็มยาคุม

    • ในช่วงแรกของการฝังเข็มยาคุม ประจำเดือนอาจมาผิดปกติ  
    • อาจพบผลข้างเคียงในช่วง 2-3 เดือนแรกในการฝังเข็มยาคุม เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เจ็บเต้านม อารมณ์แปรปรวน
    • ไม่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น อาจใช้การคุมกำเนิดแบบอื่นเพิ่มเติม เช่น ถุงยางอนามัย 

    ผลข้างเคียงของการฝังเข็มยาคุม 

    การฝังเข็มยาคุมอาจเกิดผลข้างเคียง ดังนี้ 

    • คลื่นไส้ อาเจียน 
    • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ 
    • ปวดหลัง 
    • ปวดหรือเจ็บเต้านม
    • สิวขึ้น 
    • อารมณ์แปรปรวน 
    • ภาวะซึมเศร้า 
    • ลดอารมณ์ทางเพศ 
    • ประจำเดือนมาผิดปกติ อาจมีประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนไม่มา 
    • อาจมีอาการปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด
    • บริเวณที่ฝังยาคุมกำเนิดอาจเกิดการอักเสบ บวม หรือมีรอยแผลเป็น
    • น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้น 
    • ซีสต์ในรังไข่ เกิดจากการตกไข่ผิดปกติทำให้เกิดการคั่งมีถุงน้ำในรังไข่ เกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กในรังไข่
    • ยาฝังคุมกำเนิดอาจมีปฏิกิริยาต่อยาชนิดอื่น ๆ เช่น ไรฟาบูติน (Rifabutin) ยากล่อมประสาท ยารักษาโรคเอดส์หรือเอชไอวี (HIV) ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดลดลง 
    • อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
    • ผู้ที่ตั้งครรภ์ขณะใช้ยาฝังคุมกำเนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก อย่างไรก็ตาม เป็นกรณีที่พบได้ยาก 

    หากมีอาการใดที่ผิดปกติหลังจากฝังเข็มยาคุมหลัง เช่น เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติเป็นเวลานาน มีก้อนที่เต้านม ผิวเหลือง ตาขาว อาการคล้ายโรคดีซ่าน ปวดหรือบวมที่น่อง ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำวินิจฉัยเพิ่มเติม นอกจากนี้ แม้ว่าจะฝังเข็มยาคุมแล้วแต่ก็อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เช่นกัน 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา