backup og meta

ยาคุมปรับฮอร์โมน ช่วยเรื่องอะไรบ้าง ต่างกับยาคุมกำเนิดไหม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

    ยาคุมปรับฮอร์โมน ช่วยเรื่องอะไรบ้าง ต่างกับยาคุมกำเนิดไหม

    ยาคุมปรับฮอร์โมน เป็นอีกชื่อหนึ่งของยาคุมกำเนิด โดยมีคุณสมบัติช่วยสร้างสมดุลให้ฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายไม่เกิดการผันผวนหรือเพิ่มขึ้นมากเกินไป ทำให้ประจำเดือนมาปกติ และช่วยปรับภาวะก่อนเป็นประจำเดือนให้ไม่มีอาการรุนแรงนัก นอกจากนี้ ยาปรับฮอร์โมนยังมีส่วนช่วยให้หน้ามันน้อยลง และลดโอกาสเป็นสิว

    ยาคุมปรับฮอร์โมน มีผลต่อร่างกายเพศหญิงอย่างไร

    ยาคุมปรับฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด มักประกอบด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์เอสโตรเจน และโปรเจสติน (Progestin) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

    • ยาคุมแบบฮอร์โมนรวมซึ่งจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน
    • ยาคุมแบบฮอร์โมนเดี่ยวซึ่งจะมีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว

    เมื่อบริโภคยาคุมปรับฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย ฮอร์โมนสังเคราะห์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของต่อมใต้สมองไม่ให้หลั่งฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone) และฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ (Follicle Stimulating Hormone) ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดเป็นฮอร์โมนสืบพันธุ์เพศหญิงที่มีหน้าที่กระตุ้นการตกไข่ในเพศหญิวัยเจริญพันธุ์

    เมื่อร่างกายไม่หลั่งฮอร์โมนลูทิไนซิงและฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ออกมา ร่างกายจึงไม่มีการตกไข่ ทำให้ไม่สามารถสืบพันธุ์หรือเกิดการตั้งครรภ์ได้

    ยาคุมปรับฮอร์โมนมีประโยชน์อย่างไร

    ยาคุมปรับฮอร์โมนมีประโยชน์ต่อร่างกายเพศหญิง ดังนี้

    • ช่วยคุมกำเนิด เนื่องจากฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการตกไข่ เมื่อเพศชายหลั่งน้ำอสุจิเข้าสู่ร่างกายเพศหญิงเมื่อมีเพศสัมพันธ์ อสุจิไม่สามารถปฏิสนธิได้ จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น
    • ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ ฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด มีคุณสมบัติช่วยลดการผันผวนของระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายเพศหญิง ดังนั้น การรับประทานยาคุมกำเนิดจึงช่วยแก้ปัญหาประจำเดือนมาผิดปกติซึ่งเป็นผลมาจากการผันผวนของฮอร์โมนเพศในร่างกายเพศหญิงได้ เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
    • ลดสิว ปกติแล้ว รังไข่และต่อมหมวกไตของเพศหญิง จะผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ออกมาเพื่อส่งเสริมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ โดยฮอร์โมนแอนโดรเจนนี้มีคุณสมบัติกระตุ้นการผลิตน้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนัง ซึ่งทำให้รูขุมขนอุดตันและเป็นสิวได้ ทั้งนี้ ฮอร์โมนโปรเจสตินในยาคุมกำเนิด มีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนทำงานน้อยลง ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันน้อยลงกว่าเดิม และช่วยลดโอกาสเกิดสิว
    • บรรเทาอาการก่อนเป็นประจำเดือนหรือ PMS เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง เจ็บบริเวณหน้าอก ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์อ่อนไหว ซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากความผันผวนของระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนระหว่างกระบวนการผลิตและตกไข่

    คำแนะนำในการใช้ ยาคุมปรับฮอร์โมน

    คำแนะนำในการใช้ยาคุมปรับฮอน์โมนสำหรับเพศหญิง มีดังนี้

    • ผู้หญิงบางรายควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด ได้แก่ ผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปี สูบบุหรี่เป็นประจำ มีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคตับ มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตันหลังใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เส้นเลือดอุดตัน
    • อาจพบผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ได้แก่ คลื่นไส้ เจ็บเต้านม ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน ทั้งนี้ หากพบผลข้างเคียงในระดับรุนแรง เช่น เจ็บท้อง เจ็บหน้าอก สายพร่ามัว ปวดหัวอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
    • ตัวอักษร C บนบรรจุภัณฑ์ของยาคุมกำเนิด ย่อมาจากไซโปรเตอโรน อะซิเตท (Cyproterone Acetate) และตัวอักษร D ย่อมาจาก ดรอสไพรีโนน (Drospirenone) หรือชนิดของโปรเจสตินที่ใช้ในยาคุมกำเนิดนั้น ๆ ในขณะที่ EE ย่อมาจาก Ethinyl Estradiol ซึ่งเป็นเอสโตรเจนสังเคราะห์ โดยยาคุมที่มี EE ในปริมาณ 15 ไมโครกรัมและ 20 ไมโครกรัมนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิด ในขณะที่ยาคุมกำเนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่บนบรรจุภัณฑ์ระบุตัวอักษรว่า EE เป็น 0 นั้น เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้เอสโตรเจน
    • ยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด ควรรับประทานอย่างต่อเนื่องวันละ 1 เม็ด จนกว่าจะครบแผง และเมื่อครบแผงแล้ว ต้องหยุดยาเป็นเวลา 7 วัน ก่อนเริ่มต้นแผงใหม่ในวันที่ 8 ส่วนยาคุมกำเนิดแบบ 28 เม็ด เมื่อรับประทานจนหมดแผงแล้ว ให้เริ่มต้นรับประทานแผงใหม่ต่อได้เลย
    • ยารักษาโรคบางชนิดอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง เช่น ยากันชัก ยาไรแฟมพิซิน (Rifampin) สำหรับรักษาวัณโรค ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ดังนั้น หากรับประทานยาเหล่านี้อยู่ และต้องการรับประทานยาคุมกำเนิด ควรปรึกษาคุณหมอก่อน
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลง อย่างไรก็ตาม การดื่มหนักหลังรับประทานยาคุมกำเนิด จนถึงขั้นอาเจียน อาจทำให้ร่างกายดูดซึมตัวยาไม่ทัน ทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลงและเพิ่มความเสี่ยงตั้งครรภ์ได้
    • อย่างไรก็ตาม ยาคุมปรับฮอร์โมนอาจช่วยคุมกำเนิดได้แต่ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หากไม่แน่ใจภาวะสุขภาพทางเพศของคู่นอนว่าปลอดโรคหรือไม่ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และควรได้รับคำแนะนำในการใช้ยาคุมกำเนิดจากคุณหมอหรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา