backup og meta

ลืมกินยาคุม ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    ลืมกินยาคุม ควรทำอย่างไร

    ลืมกินยาคุม หมายถึง การไม่ได้กินยาคุมกำเนิดตามเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจทำให้อสุจิผสมกับไข่เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนได้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ควรกินยาคุมสม่ำเสมอ และศึกษาวิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่น รวมทั้งวิธีปฏิบัติตัวในกรณีที่ลืมกินยาคุม

    ยาคุมกำเนิด คืออะไร

    ยาคุมกำเนิด คือ ยาป้องกันการตั้งครรภ์ เพื่อยับยั้งการตกไข่ รวมทั้งกระตุ้นการสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกให้หนาขึ้น ทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก และทำให้ผนังมดลูกบางลงจนไข่ไม่สามารถฝังตัวในผนังมดลูกได้

    ยาคุมส่วนใหญ่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ในรูปแบบ 21 เม็ด หรือ 28 เม็ด โดยควรรับประทานวันแรกที่ประจำเดือนมาตามลูกศรบนแผงยาวันละ 1 เม็ด และควรรับประทานในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน นอกจากนี้ ยังมียาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่สามารถรับประทานได้ในกรณีถุงยางขาด ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยควรรับประทานไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ แต่อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจึงไม่นิยมรับประทานยาคุมชนิดนี้

    ลืมกินยาคุม ควรทำอย่างไร

    สำหรับผู้ที่ลืมกินยาคุม อาจปฏิบัติตัวตามวิธีต่าง ๆ ดังนี้

    ลืมกินยาคุมแบบแผง 21 เม็ด และ 28 เม็ด

    • ลืมกินยาคุม 1 วัน หากนึกขึ้นได้ควรรับประทานในทันที และรับประทานเม็ดต่อไปตามเวลาเดิม
    • ลืมกินยาคุม 2 วัน ควรรับประทาน 2 เม็ด ในวันที่จำได้ และรับประทานอีก 2 เม็ด ในวันถัดไป จากนั้นจึงจะกลับมารับประทานวันละ 1 เม็ด ตามลูกศรบนแผงยา จนกว่าจะหมดแผง แต่ในกรณีที่กินยาคุมฮอร์โมนต่ำ ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 20 ไมโครกรัม จำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่นถุงยางอนามัย ร่วมด้วยอีกเจ็ดวัน
    • ลืมกินยาคุม 3 วัน ควรหยุดรับประทานยาแผงเดิมทันที แล้วรอเริ่มแผงใหม่เมื่อประจำเดือนมาวันแรกของเดือนถัดไป ในช่วงระหว่างการรอเริ่มแผงใหม่ควรป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

    ลืมกินยาคุมฉุกเฉิน

    หากลืมรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ หรือรับประทานยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกไปแล้ว และลืมรับประทานยาคุมเม็ดที่ 2 อาจยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงประสิทธิภาพการคุมกำเนิด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรสังเกตว่าตนเองว่าถึงสัญญาณการตั้งครรภ์ ได้แก่ ประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน คลื่นไส้ อาเจียน คัดเต้านม ปัสสาวะบ่อย หากมีอาการข้างต้น ควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์หรือเข้ารับการตรวจเลือดโดยคุณหมอ

    วิธีคุมกำเนิดโดยไม่ต้องกินยาคุม

    ผู้ที่กังวลว่าตนเองอาจลืมกินยาคุม และเสี่ยงตั้งครรภ์ได้ ปัจจุบันนี้ มีวิธีคุมกำเนิดโดยไม่ต้องกินยาคุม ซึ่งแตกต่างกันไป ดังนี้

    • ยาคุมกำเนิดแบบฉีด คือการฉีดฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง บริเวณแขน หรือก้น มีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์กว่า 99% แต่อาจออกฤทธิ์ได้เพียง 12 สัปดาห์ และจำเป็นต้องกลับมาฉีดซ้ำตามวันที่คุณหมอกำหนดก่อนยาจะหมดฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมียาคุมกำเนิดแบบฉีดชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งจำเป็นต้องฉีดทุก 4 สัปดาห์
    • ฝังยาคุม เป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการฝังแท่งพลาสติกสีขาวขนาดเล็กที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด กระตุ้นการสร้างเมือกปากมดลูกให้หนาเพื่อป้องกันการปฏิสนธิ และสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 99% มีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี
    • แผ่นแปะคุมกำเนิด มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินในแผ่นแปะที่คอยปล่อยฮอร์โมนผ่านทางผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด ป้องกันการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิที่ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยควรเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกสัปดาห์ และเว้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 หรือช่วงสัปดาห์ที่มีประจำเดือน เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ
    • ห่วงอนามัยคุมกำเนิด มีทั้งแบบที่มีฮอร์โมนและไม่มีฮอร์โมน โดยคุณหมอจะทำการใส่ เข้าไปในโพรงมดลูก  ซึ่งห่วงอนามัยคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมนนั้นจะ ปล่อยฮอร์โมน โปรเจสโตเจน สร้างเมือกหนาทำให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยากขึ้น ซึ่งอาจป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 99% ส่วนห่วงอนามัยชนิดที่ไม่มีฮอร์โมนจะเป็นทองแดงรูปตัวTซึ่งจะขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนและทำให้สภาพของเยี่อบุโพรงมดลูกไม่พร้อมในการฝังตัว สามารถคุมกำเนิดได้นานประมาณ 5-10 ปี
    • วงแหวนคุมกำเนิด เป็นวงแหวนพลาสติกขนาดเล็กที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนเข้าไปในกระแสเลือด หากใช้อย่างถูกต้องอาจมีประสิทธิภาพการตั้งครรภ์มากกว่า 99% ซึ่งอาจใช้งานได้ประมาณ 1 เดือน หากวงแหวนนี้หลุดออกจากช่องคลอดควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่โดยเร็วที่สุด
    • ไดอะเฟรมครอบปากมดลูก คืออุปกรณ์ที่ทำจากซิลิโคนมีความยืดหยุ่น ควรใช้ร่วมกับยาฆ่าอสุจิ โดยทายาฆ่าอสุจิให้ทั่วอุปกรณ์ที่ครอบปากมดลูก แล้วสอดเข้าไปในบริเวณช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 3 ชั่วโมง และจำเป็นต้องใส่ทิ้งไว้อย่างน้อยอีก 6 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรถอดออกก่อนเวลาที่กำหนดเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิ หากใช้อย่างถูกต้องอาจป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 92- 96%
    • ยาฆ่าอสุจิ ส่วนใหญ่มีในรูปแบบเจล ครีม โฟม ยาเหน็บ โดยอาจใช้ควบคู่กับถุงยางอนามัย
    อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา