backup og meta

ชายรักชาย มีเซ็กส์อย่างไรให้ปลอดภัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/02/2024

    ชายรักชาย มีเซ็กส์อย่างไรให้ปลอดภัย

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สามารถพบได้ในคู่รัก ไม่เว้นแม้แต่ใน ชายรักชาย โดยเฉพาะคู่รักที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือมีคู่นอนหลายคน อาจทำให้เสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม เอดส์ ซิฟิลิส ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

    การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแล้ว ยังอาจช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังคู่นอนของตัวเองได้ด้วย เพราะบางโรค หากติดเชื้อในระยะเริ่มต้น อาจยังไม่แสดงอาการ จึงทำให้ชายรักชายแพร่เชื้อไปให้คู่นอนของตัวเองได้โดยไม่รู้ตัว

    โรคติดต่อจาก sex ที่พบบ่อยใน ชายรักชาย

    การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันของชายรักชาย อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่อไปนี้

    • โรคหนองใน หากติดเชื้อที่อวัยวะเพศ ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นไหลออกจากอวัยวะเพศ และอัณฑะเจ็บหรือบวม หากไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
    • โรคหนองในเทียม อาการคล้ายหนองใน คือ ถ่ายปัสสาวะแสบขัด สารคัดหลั่งผิดปกติไหลออกมาจากอวัยวะเพศ อัณฑะปวดหรือบวม
    • โรคซิฟิลิส ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสกับแผล ส่งผลให้เกิดผื่นขึ้นตามลำตัว โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจหายเองได้ แต่การเป็นซิฟิลิสนาน ๆ โดยไม่รักษา อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่สมอง ระบบประสาท หรือหัวใจ
    • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ในระดับต่ำ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
    • เริม ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะแสบขัด มีแผลพุพอง และคันบริเวณอวัยวะเพศ การสัมผัสกับแผลพุพองอาจทำให้ผู้อื่นติดเชื้อได้
    • หูดที่อวัยวะเพศ เกิดจากการสัมผัสหูดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดยหูดจะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก มีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อสีน้ำตาล ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกันทีละหลาย ๆ ตุ่มได้

    การป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน ชายรักชาย

    การป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำได้ดังนี้

    สวมถุงยางอนามัยและใช้สารหล่อลื่น

    เมื่อมีเซ็กส์ (sex) ไม่ว่าทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ชายรักชายควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะช่วยป้องกันการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือเลือด ซึ่งเป็นช่องทางการแพร่เชื้อของโรคให้กับคู่นอนได้

    นอกจากนี้ ชายรักชายยังควรใช้สารหล่อลื่นระหว่างมีเซ็กส์ เพราะช่วยให้ถุงยางอนามัยไม่ปริหรือแตกเมื่อใช้งาน โดยสารหล่อลื่นที่เหมาะสม ควรทำจากน้ำหรือซิลิโคน ควรหลีกเลี่ยงการใช้โลชั่น เบบี้ออยล์ หรือสารอย่างอื่นที่มีส่วนประกอบเป็นน้ำมัน เพราะอาจทำให้ถุงยางอนามัยแตกได้ง่าย

    ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย    

    การมีความสัมพันธ์กับคู่นอนที่ปลอดโรค อาจช่วยให้มั่นใจได้ว่าชายรักชายจะไม่เสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เมื่อมีเซ็กส์ (sex) โดยไม่ป้องกัน หากมีคู่นอนหลายคน อาจเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น จึงควรลดจำนวนคู่นอน และป้องกันตนเองทุกครั้ง

    ตรวจโรคสม่ำเสมอ

    ชายรักชายและคู่นอน ควรไปตรวจโรคที่สถานพยาบาลอย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือปีละครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองหรือคู่นอนไม่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากหลายโรค เช่น หนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส จะไม่แสดงอาการ แต่หากไม่ป้องกันตัวเอง ผู้ติดเชื้อยังสามารถแพร่ไปให้คู่นอนของตนได้

    ยิ่งไปกว่านั้น การพบโรคจากการตรวจยังช่วยให้ชายรักชายได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะโรคบางโรค เช่น ซิฟิลิส เอชไอวี จะรักษาได้ยากเมื่อเข้าสู่ระยะหลัง ๆ หรืออาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงชีวิตได้

    การตรวจโรคที่พบได้ทั่วไปตามสถานพยาบาล มีดังนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจการติดเชื้อ และแอนติบอดีซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับโรค
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเชื้อในปัสสาวะ
  • การสวอป เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ลำคอ ท่อปัสสาวะ หรือลำไส้ตรง
  • การอัลตร้าซาวด์ เพื่อดูความเสียหายของตับ สำหรับการตรวจไวรัสตับอักเสบ
  • การเจาะชิ้นเนื้อตับ เพื่อตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • ฉีดวัคซีน

    การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนของไวรัสชนิดนั้น ๆ ส่วนโรคหูดที่อวัยวะเพศ อาจป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อฮิวแมนพัพพิลโลมาไวรัสหรือเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรค

    หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้ยาเสพติด

    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมถึงการใช้ยาเสพติด มีส่วนทำให้การตัดสินใจและสติสัมปชัญญะของชายรักชายลดลง จนอาจนำไปสู่การมีเซ็กส์​ (sex) โดยไม่ป้องกัน ซึ่งเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

    กินยาเพร็พ

    ในกรณีของชายรักชายที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีแต่มีเซ็กส์กับคนที่เสี่ยงหรือติดเชื้อเอชไอวี อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ ดังนั้น การกินยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรค โดยชายรักชายต้องกินยาวันละ 1 ครั้งและกินทุกวัน เพราะฤทธิ์ยาจะลดลงหากรับประทานไม่สม่ำเสมอ

    สำหรับชายรักชายฝ่ายรับ ยาเพร็พสามารถป้องกันเชื้อเอชไอวีได้ 99% และอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาได้ประมาณ 74% อย่างไรก็ตาม ควรสวมถุงยางอนามัยร่วมด้วยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

    กินยาเป็ปภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเซ็กส์

    ยาเป็ป (Post-Exposure Prophylaxis หรือ PEP) คือ ยาต้านเอชไอวีแบบฉุกเฉินสำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี แต่อาจเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีเนื่องจากถุงยางอนามัยฉีกขาด ไม่สวมถุงยางอนามัย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

    การจ่ายยาเป็ปจะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของคุณหมอ โดยต้องกินครั้งแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังเผชิญความเสี่ยง และกินยาติดต่อกันเป็นเวลา 28 วัน ห้ามขาดยาเด็ดขาด เพราะการกินยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา