backup og meta

ชายรักชาย และความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    ชายรักชาย และความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หมายถึงโรคต่าง ๆ ซึ่งติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ในหมู่ชายรักชาย ความเสี่ยงของโรคในกลุ่มนี้ อย่างเช่นเอดส์ หนองใน หนองในเทียม อาจมีมากกว่าผู้ชายทั่วไป เนื่องจากบางคนอาจมีพฤติกรรมไม่สวมถุงยางอนามัย มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก และมีแนวโน้มในการมีคู่นอนมากกว่าหนึ่ง 

    ชายรักชายที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยทุก 6 เดือน เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัว หากไม่ป้องกันตัวเองอาจเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังคู่นอนของตัวเองได้

    โรคติดต่อที่พบบ่อยในกลุ่มชายรักชาย

    เอดส์

    เอดส์ คือกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดไวรัสเอชไอวี (HIV) และจัดเป็นระยะสุดท้ายจาก 4 ระยะของการติดเชื้อ ในผู้ป่วยโรคเอดส์ เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายและลดจำนวนลง ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เชื้อราในหลอดลม หลอดอาหาร หรืออาการปวด และการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ

    เชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก และปาก การได้รับเลือดผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

    อาการซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยเอดส์รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะอื่น ๆ มีดังนี้

    • มีไข้
    • ปวดศีรษะ
    • ไอ เจ็บคอ
    • หนาวสั่น
    • ท้องเสีย
    • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้าง่าย
    • ผื่นขึ้นตามลำตัว
    • ต่อมน้ำเหลืองบวม
    • มีแผลในปาก

    ไวรัสตับอักเสบ

    ชายรักชายสามารถติดไวรัสตับอักเสบบางชนิดได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนี้

    • ไวรัสตับอักเสบเอ

    เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ สามารถติดต่อและแพร่กระจายผ่านการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม ผ่านมือที่ไม่สะอาด รวมถึงปนเปื้อนในอุจจาระ ที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในตับ และอาจแพร่เชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ปากกับรูทวารของคู่นอน การมีเพศสัมพันธ์ทางรูทวาร รวมถึงการใช้นิ้วหรือเซ็กส์ทอยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ได้

    เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอผู้ป่วยอาจมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดข้อต่อ ปวดหัว และมีปัสสาวะหรืออุจจาระสีเข้ม

    • ไวรัสตับอักเสบบี

    ไวรัสตับอักเสบบีเป็นไวรัสซึ่งทำให้ตับของผู้ติดเชื้ออักเสบ แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปากและทางทวารหนัก สามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าเชื้อ HIV กว่า 50-100 เท่า สามารถพบได้ในสารคัดหลั่ง อสุจิ น้ำลาย อาการหลังติดเชื้อเหมือนกับไวรัสตับอักเสบเอ และผู้ป่วยสามารถอาจหายป่วยเองได้ภายใน 1-3 เดือน โดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคอย่างมะเร็งตับหรือตับแข็งได้

    • ไวรัสตับอักเสบซี

    เป็นไวรัสซึ่งเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะสร้างความเสียหายกับตับเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบเอและบี สามารถติดเชื้อผ่านเลือดของผู้ที่เป็นโรค ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศที่มีการถลอก ฉีกขาด

    ในระยะแรก ไวรัสตับอักเสบซี อาจทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตนมีเชื้อไวรัส อาการซึ่งอาจพบได้ในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประกอบด้วย ไข้สูง อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และปวดท้อง ในระยะยาวหากไม่ทำการรักษา การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี อาจนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้

    โรคหนองใน 

    โรคหนองในเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) ซึ่งแพร่กระจายได้ผ่านทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก 

    โรคหนองใน อาจจะออกอาการภายใน 2 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ โดยทั่วไป ผู้ป่วยเพศชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองไหลออกจากอวัยวะ เพศอัณฑะเจ็บหรือบวม 

    ในกรณีติดเชื้อหนองในที่ลำไส้ตรง จากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ผู้ป่วยจะมีสารคัดหลั่งคล้ายหนองไหลออกมาจากรูทวาร และอาการคันบริเวณทวารหนัก

    เชื้อหนองในยังสามารถลุกลามไปที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น ท่ออสุจิตีบตัน เป็นหมัน ยิ่งกว่านั้น การเป็นโรคหนองในยังเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ด้วย

    หนองในเทียม

    หนองในเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) โดยทั่วไป การติดต่อของหนองในเทียมมาจากการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก

    ในระยะแรก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ จนกระทั่งประมาณ 1-3 สัปดาห์แรกของการติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อหนองในเทียมที่อวัยวะเพศจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด สารคัดหลั่งผิดปกติไหลออกมาจากอวัยวะเพศ อัณฑะปวดหรือบวม 

    ในกรณีของการติดเชื้อที่ลำไส้ตรง ผู้ป่วยจะมีหนองไหลและเลือดไหลออกมาจากทวารหนัก รวมถึงอาการเจ็บปวดที่ทวารหนัก

    ซิฟิลิส

    ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ซึ่งเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็ก ๆ บนผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ

    ซิฟิลิสติดต่อกันได้โดยการสัมผัสกับแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก อันเป็นอาการของโรค นอกจากนี้ ซิฟิลิสยังติดต่อผ่านเลือดได้ 

    ซิฟิลิสจะแสดงอาการภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ โดยอาการที่มักพบคือแผลริมแข็งและผื่นตามร่างกาย โดยอาการทั้ง 2 อย่างสามารถหายเองได้และอาจกลับมาเป็นใหม่ได้ 

    ผู้ป่วยซิฟิลิสในระยะแฝงจะไม่พบอาการผิดปกติ แต่สามารถพบเชื้อได้เมื่อตรวจเลือด

    ความอันตรายของซิฟิลิสคือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หากปล่อยให้การติดเชื้อเกิดขึ้นเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รักษา เช่น อาการบาดเจ็บที่สมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ

    การตรวจโรคในชายรักชาย

    ชายรักชายซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือมีคู่นอนหลายคน ควรไปตรวจโรคที่สถานพยาบาลอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน

    นอกจากนี้ ชายรักชายควรไปพบคุณหมอ ในกรณีพบอาการต้องสงสัยของโรค หรือว่าทราบว่าคู่นอนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในบางระยะอาจไม่แสดงอาการ การตรวจโรคจะทำให้แน่ใจได้ว่า ชายรักชายจะไม่แพร่เชื้อโรคไวรัสหรือแบคทีเรียที่แฝงอยู่ในร่างกาย ไปให้คู่นอนของตน หากลืมป้องกันตัวเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์

    ในการตรวจโรค คุณหมอจะใช้วิธีการต่าง ๆ ดังนี้ เพื่อให้ทราบว่าเป็นโรคนั้น ๆ หรือไม่

    • การตรวจเลือด เพื่อตรวจการติดเชื้อ ตรวจแอนติบอดีซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับโรค โรคเอดส์ (และการติดเชื้อ HIV ระยะก่อนหน้า) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ บี ซีและซิฟิลิสในระยะแฝง
    • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเชื้อในปัสสาวะ การติดเชื้อหนองในและหนองในเทียม 
    • การสวอป เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ลำคอ ท่อปัสสาวะ หรือลำไส้ตรง เป็นอีกทางเลือกในการหาเชื้อหนองในและหนองในเทียม
    • การอัลตร้าซาวด์ เพื่อดูความเสียหายของตับ หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
    • การเจาะชิ้นเนื้อตับ เพื่อตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

    ชายรักชายมีเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ปลอดภัย

    การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยในชายรักชาย สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

    • ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
    • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ปลอดภัย หรือมีผลตรวจยืนยัน
    • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด
    • รับวัคซีนป้องกันโรคก่อนมีเพศสัมพันธ์ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ
    • ในกรณีของผู้มีผลเลือดลบ แต่จำเป็นต้องหรือ/ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV ควรรับประทานยาเพร็พ (​Pre-exposure Prophylaxis หรือ , PrEP ) ก่อนมีเพศสัมพันธ์
    • ในกรณีของผู้มีผลเลือดลบ ที่มีความสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อ HIV ควรรีบรับประทานยาต้านไวรัสฉุกเฉิน หรือเพ็พ (Post-Exposure Prophylaxis หรือ , PEP) ภายใน 72 ชั่วโมง 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา