backup og meta

ซีสต์ในรังไข่ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    ซีสต์ในรังไข่ สาเหตุ อาการ และการรักษา

    ซีสต์ในรังไข่ คือก้อนที่เกิดขึ้นภายในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ที่ไม่ใช่มะเร็งแต่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดอุ้งเชิงกราน ขับถ่ายลำบาก รู้สึกมีแรงกดทับในท้อง ประจำเดือนมาไม่ปกติ หากไม่ทำการรักษาอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เลือดออกในอุ้งเชิงกราน และซีสต์ในรังไข่แตก ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

    คำจำกัดความ

    ซีสต์ในรังไข่ คืออะไร

    ซีสต์ในรังไข่ คือ ก้อนหรือถุงน้ำที่เต็มไปด้วยของเหลว ที่ก่อตัวขึ้นในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง อาจมีขนาดตั้งแต่ 1 เซนติเมตร ไปจนถึง 10 เซนติเมตร ขึ้นไป อีกทั้งยังมักพบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ สตรีวัยหมดประจำเดือน และสตรีตั้งครรภ์

    อาการ

    อาการของซีสต์ในรังไข่

    อาการของซีสต์ในรังไข่ อาจมีดังต่อไปนี้

  • ท้องอืด ท้องมีขนาดโตขึ้น
  • รู้สึกมีแรงกดทับภายในท้อง
  • ปวดอุ้งเชิงกรานแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน
  • ขับถ่ายลำบาก
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมามากหรืออาจมาน้อย
  • มีไข้
  • อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • วิงเวียนศีรษะ
  • หายใจถี่
  • หมดสติ
  • สาเหตุ

    สาเหตุของซีสต์ในรังไข่ชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง

    สาเหตุของซีสต์ในรังไข่ อาจแบ่งออกตามประเภทของซีสต์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

    • ซีสต์ฟอลลิเคิล หรือถุงน้ำรังไข่ (Follicle Cyst) โดยปกติรังไข่จะผลิตไข่ภายในถุงน้ำที่เรียกว่า ฟอลลิเคิล เมื่อถึงเวลาตกไข่ถุงน้ำจะแตกออกและปล่อยไข่ออกมา แต่หากถุงน้ำไม่แตกออกก็อาจพัฒนากลายเป็นซีสต์รังไข่ ซึ่งไม่มีอันตรายและอาจหายไปได้เองภายใน 1-3 เดือน
    • ซีสต์คอร์ปัสลูเทียม (Corpus Luteum Cyst) โดยปกติถุงน้ำมักจะสลายไปเองหลังจากการปล่อยไข่ แต่หากถุงน้ำไม่สลายไปและมีของเหลวสะสมภายในถุงน้ำก็อาจพัฒนากลายเป็นซีสต์คอร์ปัสลูเทียม ซึ่งไม่มีอันตรายและอาจหายไปได้เองภายใน 1-3 เดือน
    • ซีสต์เดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) เกิดจากความผิดปกติการแบ่งตัวของเซลล์สืบพันธุ์ที่สร้างในรังไข่ โดยภายในซีสต์อาจประกอบด้วยไขมัน เนื้อเยื่อและเส้นขน
    • ซีสต์ตาดีโนมา (Cystadenoma) พัฒนามาจากเซลล์ที่อยู่บนพื้นผิวของรังไข่และอาจขยายใหญ่มากขึ้น
    • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriomas) เกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญเติบโตภายนอกมดลูกและเกาะติดกับรังไข่ที่พัฒนากลายเป็นซีสต์

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เป็นซีสต์ในรังไข่

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เป็นซีสต์ในรังไข่ มีดังนี้

    • มีประวัติเป็นซีสต์ในรังไข่มาก่อน
    • การใช้ยาโคลมีฟีน (Clomiphene) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยให้ตกไข่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดซีสต์ในรังไข่ได้
    • การตั้งครรภ์ หากภายในรังไข่มีไข่ตกค้างอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ อาจพัฒนาไปสู่ซีสต์ได้
    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เยื่อบุโพรงมดลูกอาจเกาะติดกับรังไข่และพัฒนากลายเป็นซีสต์

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยซีสต์ในรังไข่

    วิธีการวินิจฉัยซีสต์ในรังไข่ มีดังนี้

    • อัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพโครงสร้างของมดลูกและรังไข่ เพื่อหาตำแหน่งของซีสต์ในรังไข่
    • การสอดกล้อง คุณหมออาจผ่าตัดแผลเล็กบริเวณหน้าท้องเพื่อสอดกล้องเข้าไปยังรังไข่เพื่อตรวจหาซีสต์
    • การตรวจเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นซีสต์ในรังไข่ชนิดแข็ง คุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งรังไข่ เนื้องอกมดลูก หรือเนื้องอกเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการรักษาในลำดับถัดไปตามความเหมาะสม
    • การทดสอบการตั้งครรภ์ หากมีอาการของซีสต์รังไข่ และผลทดสอบการครรภ์เป็นบวกอาจหมายความว่ามีความเสี่ยงเป็นซีสต์คอร์ปัสลูเทียม ซึ่งจำเป็นต้องตรวจหาซีสต์ในรังไข่ด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย

    การรักษาซีสต์ในรังไข่

    ปกติแล้วซีสต์ในรังไข่บางชนิดเช่น Follicular cyst, Corpus luteal cyst สามารถหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากซีสต์ในรังไข่มีขนาดใหญ่ขึ้น คุณหมออาจรักษาซีสต์ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ยาคุมกำเนิด อาจช่วยยับยั้งการตกไข่เพื่อไม่ให้เกิดซีสต์ในรังไข่เพิ่มขึ้น
    • การผ่าตัด เพื่อกำจัดซีสต์ในรังไข่ออก โดยคุณหมออาจใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้องด้วยการกรีดผิวหนังบริเวณท้องน้อยและสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปพร้อมกับอุปกรณ์ผ่าตัด วิธีนี้อาจเหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีซีสต์ในรังไข่ขนาดเล็ก แต่สำหรับผู้หญิงที่มีซีสต์ในรังไข่ขนาดใหญ่และมีอาการเจ็บปวด คุณหมออาจทำการกรีดแผลบริเวณท้องให้ใหญ่ขึ้นเพื่อง่ายต่อการผ่าตัด บางกรณีอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดนำรังไข่ออกทั้งหมด

    คุณหมออาจจำเป็นต้องติดตามผลการรักษาด้วยการอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจสอบว่าซีสต์ในรังไข่หายไปหรือมีแนวโน้มกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือไม่

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันซีสต์ในรังไข่

    ไม่มีวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันซีสต์ในรังไข่ได้แต่สามารถตรวจสุขภาพสม่ำเสมอเพื่อการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว อาจทำได้ด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจสุขภาพอุ้งเชิงกรานสม่ำเสมอ รวมถึงสังเกตว่าประจำเดือนมาปกติหรือไม่ หากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมามากและน้อยเกินไป ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของซีสต์ในรังไข่หรือความผิดปกติอื่น ๆ ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา