backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ต่อมลูกหมากอักเสบ อาการ สาเหตุ วิธีการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

ต่อมลูกหมากอักเสบ อาการ สาเหตุ วิธีการรักษา

ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในเพศชาย อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักมีอาการปัสสาวะแสบ ติดขัด หรือปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ชายทุกวัยมีโอกาสเสี่ยงเป็นต่อมลูกหมากอักเสบได้ แต่มักพบมากในผู้ชายวัย 50 ปี โรคนี้รักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะควบคู่กับยาแก้ปวด

คำจำกัดความ

ต่อมลูกหมากอักเสบ คืออะไร

ต่อมลูกหมากอักเสบ คือ การติดเชื้อหรืออักเสบบริเวณต่อมลูกหมากซึ่งเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดความปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ พบได้ทั่วไปในผู้ชายทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 ของผู้ชายอายุเกิน 50 ปี

ต่อมลูกหมากอักเสบอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

  • ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน เชื้ออาจเข้าสู่ต่อมลูกหมากอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างรุนแรงและเกิดขึ้นทันที เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องน้อยหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน ร่วมกับอาการผิดปกติที่ระบบปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย
  • ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง เชื้อแบคทีเรียค่อย ๆ เข้าสู่ท่อปัสสาวะ มักพบได้ในผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีประวัติทางเดินปัสสาวะอักเสบ อาการไม่รุนแรงแต่มักเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนหรือนานกว่านั้น เช่น มีเลือดปนกับปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นมากกว่าปกติ รู้สึกเจ็บเมื่อถึงจุดสุดยอด
  • ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยสาเหตุการเกิดไม่แน่ชัด ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง เช่น อั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด โดยอาการไม่ค่อยรุนแรงนักแต่จะปรากฏอยู่อย่างน้อย 3 เดือน และอาจจะสลับกับอาการแสบขัดปัสสาวะอย่างรุนแรงหรือเจ็บปวดมากกว่าปกติเมื่อถึงจุดสุดยอดในบางครั้ง รวมทั้งอาการปวดหลัง ปวดท้อง ร่วมด้วย
  • ต่อมลูกหมากอักเสบชนิดไม่มีอาการ มักพบเนื่องจากการนำชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปตรวจ หรือการเจาะเลือดเพื่อหาค่า PSA (Prostate-Specific Antigen) ซึ่งเป็นการตรวจหาค่าโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ในต่อมลูกหมากซึ่งปกติจะมีในน้ำอสุจิ หากปนเปื้อนอยู่ในเลือด แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการต่อมลูกหมากอักเสบ โดยผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมา และต่อมลูกหมากอักเสบชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา ต่อมลูกหมากอักเสบชนิดนี้มักตรวจเจอจากการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากหรือการตรวจโรคอื่น ๆ

อาการ

อาการของต่อมลูกหมากอักเสบ

อาการที่พบได้ในผู้ป่วยต่อมลูกหมากอักเสบ อาจมีดังนี้

  • ปัสสาวะแสบหรือเจ็บ
  • ปัสสาวะติดขัด กะปริบกะปรอย
  • ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  • ปัสสาวะมีสีขุ่น
  • เจ็บปวดบริเวณหน้าท้อง ขาหนีบ อุ้งเชิงกราน หลังส่วนล่าง ถุงอัณฑะ ลำไส้ตรง
  • เจ็บปวดเมื่อหลั่งน้ำอสุจิ
  • มีอาการคล้ายหวัดต่าง ๆ เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน

นอกจากนี้ ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจพบอาการแทรกซ้อน เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด
  • ท่อเก็บน้ำเชื้ออสุจิอักเสบ
  • มีโพรงหนองที่ต่อมลูกหมาก
  • น้ำอสุจิเสื่อมคุณภาพ ในกรณีของการป่วยแบบเรื้อรัง

สาเหตุ

สาเหตุของต่อมลูกหมากอักเสบ

  • ต่อมลูกหมากอักเสบจากการติดเชื้อ สาเหตุเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียหลุดรอดจากระบบทางเดินปัสสาวะเข้าไปบริเวณต่อมลูกหมาก และทำให้ต่อมลูกหมากติดเชื้อ
  • ต่อมลูกหมากอักเสบซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อแบคทีเรีย ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าความเครียด การบาดเจ็บของเส้นประสาทบริเวณระบบทางเดินปัสสาวะตอนล่าง รวมถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในอดีต มีส่วนทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบได้

ปัจจัยเสี่ยงของต่อมลูกหมากอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงของต่อมลูกหมากอักเสบ ประกอบด้วย

  • อายุระหว่าง 50-59 ปีหรือมากกว่า
  • ติดเชื้อในท่อปัสสาวะ
  • ใส่สายสวนปัสสาวะ
  • มีภาวะปวดท้องหรือไม่สบายท้องเรื้อรัง อาจเคยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน
  • เคยเป็นต่อมลูกหมากอักเสบมาก่อน
  • ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • เคยได้รับการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปตรวจ

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

ควรรีบไปพบคุณหมอเมื่อสังเกตพบอาการต่อมลูกหมากอักเสบ เช่น ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะบ่อย ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ ปัสสาวะมีเลือดปน

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยต่อมลูกหมากอักเสบ

ในการวินิจฉัยโรค คุณหมอจะสอบถามเกี่ยวกับอาการและประวัติการป่วยของคนไข้ เพื่อให้ทราบสาเหตุของอาการป่วย หรือชนิดของต่อมลูกหมากอักเสบที่อาจกำลังเป็นอยู่ รวมทั้งตรวจคนไข้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ตรวจทางทวารหนัก โดยคุณหมอจะใช้นิ้วสอดเข้าไปตรวจต่อมลูกหมากผ่านรูทวารของคนไข้โดยตรง เพื่อให้ทราบถึงลักษณะการบวมหรือลักษณะของต่อมลูกหมากขณะนั้น
  • ตรวจของเหลวจากอวัยวะเพศ เช่น ปัสสาวะ น้ำอสุจิ หรือสารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อคุณหมอนวดต่อมลูกหมากระหว่างการตรวจทวารหนัก เพื่อหาสัญญาณของการอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาสาเหตุการติดเชื้อ และความผิดปกติอื่น ๆ ของต่อมลูกหมาก เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ตรวจยูโรพลศาสตร์ (Urodynamic Tests) หรือการตรวจความแรงของการหลั่งปัสสาวะ เนื่องจากต่อมลูกหมากที่อักเสบหรือบวม มักทำให้ปัสสาวะแสบขัด ไม่สามารถไหลออกมาตามปกติได้
  • ตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยการส่องกล้อง เพื่อตรวจดูว่า ท่อปัสสาวะถูกกีดขวางหรือไม่ ในกรณีที่คนไข้ปัสสาวะแสบขัด

การรักษาต่อมลูกหมากอักเสบ

โดยปกติ คุณหมอจะใช้ยาปฏิชีวนะรักษาคนไข้ต่อมลูกหมากอักเสบ อันประกอบด้วย

  • ยาฆ่าเชื้อ ในกรณีของผู้ป่วยซึ่งต่อมลูกหมากอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย คุณหมอจะสั่งยาให้รับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ในกรณีป่วยแบบเรื้อรัง อาจต้องรับประทานยาต่อเนื่องถึง 6 เดือน
  • ยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers) คุณหมอจะสั่งยาในกลุ่มนี้เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะ ในกรณีของผู้ป่วยที่ปัสสาวะแสบขัด
  • สารต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ คุณหมอมักจ่ายยาประเภทนี้เพื่อช่วยลดอาการปวดหรือบวมตามร่างกายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากภาวะต่อมลูกหมากอักเสบ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาแบบอื่นร่วมด้วย เช่น

  • การสวนปัสสาวะ ในกรณีของผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก
  • กายภาพบำบัด เนื่องจากบางครั้ง ต่อมลูกหมากอักเสบเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน นักกายภาพบำบัดจะช่วยแนะนำท่าทางที่ไม่ทำให้อุ้งเชิงกรานบาดเจ็บ
  • การบำบัดทางจิต เนื่องจากความเครียดหรือโรคซึมเศร้าอาจเป็นสาเหตุของต่อมลูกหมากอักเสบได้

ดูการปรับพฤติกรรมและการดูแลตัวเอง

ต่อมลูกหมากอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ โดยวิธีการดังนี้

  • แช่น้ำอุ่น โดยการใส่น้ำอุ่นในอ่างขนาดเล็กหรืออ่างอาบน้ำโดยให้ผู้ป่วยนั่งแช่ก้นลงไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดบวมของระบบทางเดินปัสสาวะหรือช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระเทือนต่อมลูกหมากและระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การปั่นจักรยาน การนั่งเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจทำให้ต่อมลูกหมากระคายเคือง หรืออักเสบได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มบางประเภท เช่น อาหารรสเปรี้ยวหรือเผ็ด และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ เพราะทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองได้
  • ดื่มน้ำมาก เพื่อช่วยขับแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดต่อมลูกหมากอักเสบออกจากกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา