backup og meta

ต่อมลูกหมากโต สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    ต่อมลูกหมากโต สาเหตุ อาการ และการรักษา

    ต่อมลูกหมากโต คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตเมือกและน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ เจริญเติบโตมากผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้น หากสังเกตว่ามีอาการปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาในทันที

    คำจำกัดความ

    ต่อมลูกหมากโต คืออะไร

    ต่อมลูกหมากโต คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่กว่าปกติ แต่ไม่ใช่ก้อนมะเร็งและไม่เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก พบได้บ่อยในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป หากปล่อยให้มีภาวะต่อมลูกหมากโตเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

    อาการ

    อาการต่อมลูกหมากโต

    อาการต่อมลูกหมากโต อาจมีดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อยมากกว่า 8 ครั้ง/วัน โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • ปัสสาวะลำบาก
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปัสสาวะไม่สุด
  • รู้สึกปวดปัสสาวะตลอดเวลา
  • สาเหตุ

    สาเหตุของต่อมลูกหมากโต

    สาเหตุที่ส่งผลให้เกิดภาวะต่อมลูกหมากโตยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น และความผิดปกติของฮอร์โมนเนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะต่อมลูกหมากโต

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของต่อมลูกหมากโต

    ปัจจัยเสี่ยงของต่อมลูกหมากโต มีดังนี้

    • ผู้สูงอายุ ภาวะต่อมลูกหมากโตมักพบได้ในผู้ชายที่มีตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ได้เช่นเดียวกัน
    • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเคยมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ก็อาจมีแนวโน้มที่ส่งผลให้เป็นต่อมลูกหมากโตได้
    • โรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ที่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต ซึ่งอาจส่งผลให้ฮอร์โมนไม่สมดุล และนำไปสู่การเกิดภาวะต่อมลูกหมากโต

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยต่อมลูกหมากโต

    การวินิจฉัยต่อมลูกหมากโต อาจทำได้ดังนี้

    • ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาการติดเชื้อหรือภาวะอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะต่อมลูกหมากโต
    • ตรวจเลือด คุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อนำไปตรวจปัญหาเกี่ยวกับไต
    • ตรวจทวารหนัก คุณหมออาจสอดนิ้วเข้าไปในทวารหนัก เพื่อวัดการขยายตัวของต่อมลูกหมาก
    • ตรวจสารพีเอสเอ (PSA) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะต่อมลูกหมากโต และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
    • ทดสอบการไหลของปัสสาวะ โดยคุณหมออาจให้ผู้ป่วยปัสสาวะลงในภาชนะที่ยึดติดกับเครื่องวัดความแรงของปัสสาวะและปริมาณการไหลของปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบดูว่าการขับถ่ายปัสสาวะปกติหรือไม่
    • อัลตราซาวด์ คุณหมออาจสอดกล้องเข้าไปทางกระเพาะปัสสาวะ เพื่อวัดปริมาณปัสสาวะที่เหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจสามารถบ่งบอกได้ว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมการปัสสาวะที่ปกติหรือไม่
    • เก็บชิ้นเนื้อในต่อมลูกหมาก โดยการใช้เข็มหรืออุปกรณ์สอดเข้าทางทวารหนักเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากนำมาตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากมะเร็งหรือสาเหตุอื่น ๆ

    การรักษาต่อมลูกหมากโต

    การรักษาต่อมลูกหมากโต อาจทำได้ดังนี้

    ยา

    • แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blockers)เช่น อัลฟูโซซิน (Alfuzosin) แทมซูโลซิน (Tamsulosin) ไซโลโดซิน (Silodosin) ใช้เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก เพื่อช่วยให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น แต่อาจส่งผลข้างเคียงเล็กน้อยคือทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ และอสุจิไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
    • ยากลุ่ม 5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ (5 Alpha Reductase Inhibitor) เช่น ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) ดูแทสเทอไรด์ (Dutasteride)ที่อาจช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมาก และป้องกันการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศที่ส่งผลให้ต่อมลูกหมากโต
    • ทาดาลาฟิล (Tadalafil)อาจช่วยรักษาต่อมลูกหมากโต และภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (โดยทั่วไปใช้รักษาเรื่องอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวเป็นหลัก)

    สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตัวใดตัวหนึ่ง คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ ร่วมกับ 5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ เพื่อช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโต

    การผ่าตัด

    • การผ่าตัดส่องกล้องต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate: TURP)เพื่อช่วยให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น และอาจจำเป็นต้องใส่สายสวนชั่วคราวเพื่อระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ
    • การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขยายท่อปัสสาวะ (Transurethral Incision of the Prostate: TUIP) โดยการกรีดเปิดต่อมลูกหมากเล็กน้อย เพื่อช่วยลดแรงกดทับบนท่อปัสสาวะ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตในระดับเบาและปานกลาง
    • การผ่าตัดด้วยการใช้คลื่นไมโครเวฟ (Transurethral Microwave Thermotherapy: TUMT) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตในระดับเบา โดยการปล่อยคลื่นไมโครเวฟภายในต่อมลูกหมากเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบางส่วนของต่อมลูกหมาก ที่อาจช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมาก โดยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง
    • การผ่าตัดส่องกล้องด้วยเข็ม (Transurethral Needle Ablation: TUNA) เป็นการผ่าตัดที่คุณหมอจะสอดเข็มเข้าไปในต่อมลูกหมาก และปล่อยคลื่นวิทยุไปที่เข็ม ซึ่งความร้อนจากคลื่นวิทยุจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมากที่ขวางการไหลเวียนของปัสสาวะ ช่วยให้ปัสสาวะสะดวกมากขึ้น และช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโต
    • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Therapy) การรักษาด้วยรังสีพลังงานสูงเพื่อช่วยกำจัดเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมาก และช่วยบรรเทาอาการต่อมลูกหมากโต อีกทั้งยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัดแบบไม่ใช้เลเซอร์

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันต่อมลูกหมากโต

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันต่อมลูกหมากโต อาจทำได้ดังต่อนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ และอาจช่วยปรับฮอร์โมนให้สมดุล ลดความเสี่ยงเป็นภาวะต่อมลูกหมากโต
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เพราะอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง
    • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในปริมาณมากก่อนเข้านอน
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง
    • ไม่ควรอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา