backup og meta

นมโต ผิดปกติไหม เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    นมโต ผิดปกติไหม เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมหรือไม่

    นมโต หมายถึง การมีขนาดหน้าอกใหญ่กว่าขนาดโดยเฉลี่ย โดยในกรณีของหญิงไทย อาจหมายถึงการมีขนาดหน้าอกเกิน 32 นิ้วหรือเต้านมใหญ่กว่าคัพ A ทั้งนี้ ผู้หญิงส่วนใหญ่อาจรู้สึกต้องการให้ตนเองมีหน้าอกใหญ่ แต่อาจส่งผลเสียคือทำให้ปวดหลัง หัวไหล่ และอาจเป็นสาเหตุของผื่นบริเวณใต้ราวนมได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนั้น อาจสร้างความกังวลใจว่าหากมีนมโตจะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้วปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมนั้นมีหลายปัจจัยที่อาจไม่เกี่ยวกับขนาดของเต้านม

    สาเหตุของการมีนมโต

    ขนาดหน้าอกเป็นลักษณะของร่างกาย ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เช่นเดียวกับลักษณะอื่น ๆ เช่น ความสูง สีผม สีตา ทั้งนี้ การมีนมโตกว่าผู้อื่น อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

    • พันธุกรรม
    • ระดับฮอร์โมนเพศเอสโทรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเพศหญิงเข้าสู่วัยรุ่น หรือขณะตั้งครรภ์
    • น้ำหนักตัว โดยการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว อาจมีผลให้นมโตขึ้นตามไปด้วยได้

    ขนาดของหน้าอกที่เรียกว่า นมโต

    โดยทั่วไปการมีนมโต หมายถึง การมีหน้าอกขนาดใหญ่กว่าค่าเฉลี่ย

    สำหรับหญิงไทยและหญิงเอเชียในประเทศอื่น ๆ นมโตอาจหมายถึงการมีรอบอกเกิน 32 นิ้วหรือขนาดเต้าใหญ่กว่าคัพ A ส่วนค่าเฉลี่ยของรอบอกในเพศหญิงทั่วโลกคือ 34 นิ้วหรือขนาดเต้าคัพ B ดังนั้น การมีนมโตของเพศหญิงทั่วโลกอาจหมายถึงการมีขนาดเต้าคัพ C หรือใหญ่กว่านั้น

    ผลกระทบต่อสุขภาพหากมี นมโต  

    การมีหน้าอกใหญ่อาจส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ดังนี้

    • อาการปวดตามร่างกาย น้ำหนักของหน้าอกที่หย่อนไปข้างหน้า อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหลัง คอ หรือหัวไหล่ ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายที่คอยรับน้ำหนัก นอกจากนี้ อาการตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ แผ่นหลัง หรือหัวไหล่ ยังอาจเกี่ยวข้องกับอาการปวดหัวรวมถึงไมเกรนด้วย หากปวดมาก ควรพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาและหาวิธีแก้ไข
    • ผื่นแดง ผู้หญิงที่นมโต อาจมีโอกาสพบผื่นขึ้นบริเวณช่วงร่องอกหรือใต้ราวนม เนื่องจากการเบียดชิดกันจนเกิดการเสียดสีระหว่างหน้าอกทั้ง 2 ข้าง รวมถึงบริเวณพุง โดยผื่นที่พบมักเป็นสีแดงหรือน้ำตาลแดง และเกิดร่วมกับอาการคัน ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงได้ ควรหมั่นทำความสะอาดร่างกายและเช็ดผิวบริเวณหน้าอกให้แห้งเพื่อป้องกันความอับชื้นที่อาจเป็นสาเหตุของผื่นแดงหรือผื่นแพ้ได้
    • ออกกำลังกายได้ไม่นาน น้ำหนักของหน้าอกที่ใหญ่กว่าค่าเฉลี่ย อาจส่งผลให้เพศหญิงที่มีนมโตเหนื่อยง่าย และออกกำลังได้ไม่นานตามที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้ การกระเพื่อมของหน้าอก ยังอาจรบกวนการเคลื่อนไหว หรือสร้างความไม่มั่นใจขณะออกกำลังกายด้วย ควรสวมใส่ชุดชั้นในสำหรับออกกำลังกายโดยเฉพาะเพื่อช่วยกระชับหน้าอก
    • เหน็บชา การมีหน้าอกใหญ่ บางครั้งอาจทำให้หาชุดชั้นในที่เหมาะสมใส่ได้ยาก จึงต้องสวมชุดชั้นในขนาดเล็กกว่าหน้าอกซึ่งส่งผลให้เส้นประสาทบริเวณหน้าอกถูกกด และเป็นเหน็บชาที่หน้าอก รวมถึงตามมือหรือนิ้วมือได้ ทั้งนี้ สามารถแก้ได้ด้วยการเลือกสวมใส่ชุดชั้นในที่พอดีกับขนาดลำตัวและขนาดหน้าอก

    นมโต ผ่าตัดให้เล็กลงได้หรือไม่

    หากขนาดหน้าอกใหญ่เกินไปจนเป็นสาเหตุของความไม่สบายใจและทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อาจเลือกผ่าตัดลดขนาดหน้าอก (Reduction Mammaplasty) เพื่อแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำและหาทางออกที่เหมาะสม

    ทั้งนี้ การผ่าตัดดังกล่าว มักใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และดำเนินการภายใต้ฤทธิ์ของยาสลบ โดยคุณหมอจะผ่ารอบ ๆ หัวนมและใต้เต้านม แล้วนำไขมันและเนื้อเยื่อส่วนเกินออกมา เพื่อทำให้หน้าอกมีขนาดเล็กลง จากนั้นจัดรูปเต้านมใหม่ และเย็บปิดแผล

    ในบางกรณี คุณหมออาจต้องปรับตำแหน่งของหัวนมใหม่ด้วย โดยการผ่าตัดนำหัวนมออกจากเต้า แล้วเย็บติดเข้าไปใหม่ ทั้งนี้ ไม่สามารถให้นมบุตรได้หลังการผ่าตัด

    นอกจากนั้น ยังมีผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดลดขนาดหน้าอก ได้แก่ เกิดแผลเป็นบริเวณหน้าอก หัวนมตอบสนองต่อความรู้สึกน้อยลง หรือด้านชา ซึ่งอาจส่งผลต่อความพึงพอใจขณะมีเพศสัมพันธ์

    นมโต เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่

    มีผู้ที่อาจเข้าใจผิดว่าขนาดหน้าอกเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะความเข้าใจที่ว่า ผู้หญิงรูปร่างอ้วนที่มีขนาดหน้าอกที่ใหญ่กว่าคนทั่วไป อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากว่าผู้หญิงรูปร่างผอม

    ปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ระบุว่าผู้หญิงหน้าอกใหญ่ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงหน้าอกเล็ก แต่มีงานวิจัย ที่ระบุชัดเจนว่าขนาดหน้าอกไม่เกี่ยวข้องกับโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม

    งานวิจัยหนึ่งเผยแพร่ในวารสาร European Journal of Cancer Prevention ปี พ.ศ. 2539 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดหน้าอก และความเสี่ยงมะเร็งเต้านม โดยติดตามกรณีศึกษาในเพศหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 75 ปี ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมจำนวน 2,557 ราย ในประเทศอิตาลี ได้ข้อสรุปว่า ไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าขนาดหน้าอกเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา