backup og meta

น้ำอสุจิ บอกสุขภาพ กับเรื่องน่ารู้ของน้ำอสุจิ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/06/2023

    น้ำอสุจิ บอกสุขภาพ กับเรื่องน่ารู้ของน้ำอสุจิ

    น้ำอสุจิ เป็นของเหลวข้นที่ปล่อยจากอวัยวะเพศชายเมื่อถึงจุดสุดยอดหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ มีตัวอสุจิที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิกับไข่ของเพศหญิงและทำให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยน้ำอสุจิอาจบ่งบอกถึงสุขภาพทางเพศได้ เช่น ภาวะมีบุตรยาก ปัญหาต่อมลูกหมาก โดยมักสังเกตได้จากสี ปริมาณ หรือใช้วิธีนำน้ำอสุจิไปทดสอบในห้องแล็บเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ

    น้ำอสุจิ คืออะไร

    น้ำอสุจิ คือของเหลวข้นที่ปล่อยออกจากอวัยเพศชายเมื่อถึงจุดสุดยอด มีจุดประสงค์หลักคือเพื่อการสืบพันธ์ประกอบไปด้วยตัวอสุจิ 10% นอกจากนั้นคือเอนไซม์ วิตามินซี แคลเซียม โปรตีน โซเดียม สังกะสี และน้ำตาลฟรุกโตส ทำหน้าที่ลำเลียงและเป็นพลังงานให้กับตัวอสุจิในการเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ของเพศหญิง

    โดยการหลั่งอสุจิ 1 ครั้ง ควรมีปริมาณตัวอสุจิไม่น้อยกว่า 15 ล้านตัว/มิลลิลิตรของน้ำอสุจิ ลักษณะของน้ำอสุจิเป็นของเหลวข้นที่ถูกควบคุมความข้นโดยเอนไซม์ ช่วยให้อสุจิถูกปล่อยออกมาอย่างช้า ๆ และเข้าสู่มดลูกอย่างเป็นระเบียบ

    กระบวนการหลั่งน้ำอสุจิ

    ตัวอสุจิถูกผลิตในถุงอัณฑะและส่งผ่านไปยังถุงน้ำอสุจิ เพื่อเก็บไว้จนกว่าจะถึงเวลาปล่อยไปยังท่อนำอสุจิ (Vas deferens) และถูกปล่อยออกมาภายนอก โดยมีส่วนประกอบและกระบวนการผลิตน้ำอสุจิ ดังนี้

    • ต่อมคาวเปอร์ (Cowper’s Glands) เป็นต่อมที่อยู่ใต้ต่อมลูกหมาก มีหน้าที่สร้างสารหล่อลื่นในท่อปัสสาวะในขณะเกิดการกระตุ้นทางเพศ ซึ่งเป็นของเหลวปริมาณเล็กน้อยที่ถูกปล่อยออกมาก่อนการหลั่ง ช่วยหล่อลื่นท่อปัสสาวะลดความเป็นกรดทำให้ตัวอสุจิเดินทางออกมาได้ง่ายขึ้น
    • ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) อยู่บริเวณฐานกระเพาะปัสสาวะรอบท่อปัสสาวะ ผลิตน้ำอสุจิประมาณ 15-30% และเป็นแหล่งของกรดซิตริก (Citric acid) อิโนซิทอล (Inositol) แคลเซียม สังกะสี แมกนีเซียม และกรดฟอสฟาเทส (Acid phosphatase) ที่ทำให้น้ำอสุจิเป็นของเหลวข้นช่วยให้ตัวอสุจิถูกปล่อยออกมาอย่างช้า ๆ และสามารถเดินทางเข้าปากมดลูกได้อย่างเป็นระเบียบเพื่อไปปฏิสนธิกับไข่
    • ถุงน้ำเชื้อ (Seminal Vesicles) น้ำอสุจิผลิตโดยถุงน้ำเชื้อประมาณ 65-75% และมีส่วนในการผลิตฟรุกโตสที่ช่วยบำรุงเซลล์อสุจิ และพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) สารประกอบจากกรดไขมัน ช่วยกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเพื่อส่งตัวอสุจิที่อยู่ในสถานะของเหลวข้น

    น้ำอสุจิกินได้ไหม

    น้ำอสุจิประกอบด้วยสารอาหารหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม ฟรุกโตส กลูโคส กรดแลคติก แมกนีเซียม โพแทสเซียม โปรตีน และสังกะสี ซึ่งเป็นสารอาหารที่ปลอดภัยสามารถกินได้ แต่ทั้งนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริ่ม โรคซิฟิลิส และโรคหนองใน จากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก

    น้ำอสุจิกับการตั้งครรภ์

    การหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอดโดยตรง หรือ การแตกใน สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้สูง เนื่องจากในช่องคลอดเป็นที่ชื้นและอบอุ่นเหมาะแก่การดำรงชีวิตของตัวอสุจิ ทำให้ตัวอสุจิมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดได้นานถึง 5 วัน และเริ่มเดินทางผ่านปากมดลูกเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ สำหรับการหลั่งน้ำอสุจิในรูปแบบอื่น เช่น ทางปาก หรือทางทวารหนัก อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยหรือไม่มีโอกาสเลย หากน้ำอสุจิไม่ได้สัมผัสทางช่องคลอดโดยตรงด้วย

    สีของน้ำอสุจิ

    น้ำอสุจิควรมีสีปกติเป็นสีขาวนวล สีค2รีม หรือสีเทาอ่อน แต่หากมีสีที่เปลี่ยนแปลงไปอาจบอกถึงปัญหาสุขภาพ ดังนี้

    • น้ำอสุจิสีน้ำตาลหรือสีแดง คือภาวะน้ำอสุจิเป็นเลือด (Hematospermia) ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก หรือภาวะสุขภาพที่เกี่ยวระบบสืบพันธุ์เพศชาย เช่น การติดเชื้อ หรือสัญญาณของมะเร็ง โดยทั่วไปภาวะอสุจิเป็นเลือดสามารถหายได้เอง แต่เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสอบถุงอัณฑะและต่อมลูกหมาก
    • น้ำอสุจิสีเหลืองหรือสีเขียว อาจหมายถึงการมีวิตามินหรือการตกค้างของยาในน้ำอสุจิ โรคดีซ่าน หรือการติดเชื้อ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคหนองใน นอกจากนี้ น้ำอสุจิอาจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม

    การวิเคราะห์น้ำอสุจิ

    การวิเคราะห์น้ำอสุจิเป็นการทดสอบภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชาย เพื่อตรวจจำนวน รูปร่าง และการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ โดยเป็นวิธีการทดสอบที่มักใช้ในกรณีภาวะมีบุตรยากของเพศชายเป็นผลมาจากการผลิตน้ำอสุจิที่ต่ำเกินไป คือน้อยกว่า 1.5 มิลลิลิตรหรือประมาณครึ่งช้อนชา และอาจใช้ทดสอบในกรณีการทำหมันของเพศชายเพื่อดูว่ายังคงผลิตสุจิอยู่หรือไม่

    วิธีเก็บน้ำอสุจิ

    เพื่อทำการทดสอบคุณหมออาจจำเป็นต้องให้ผู้ชายปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • คุณหมออาจขอให้เก็บน้ำอสุจิในห้องส่วนตัวในเวลานั้นทันที หรือในบางกรณีอาจสามารถเก็บตัวอย่างจากที่บ้านได้ แต่ต้องเก็บในอุณหภูมิห้อง และน้ำส่งคุณหมอภายใน 1 ชั่วโมง
  • ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นนการเก็บตัวอย่าง เพราะอาจส่งผลต่อคุณภาพของน้ำอสุจิได้
  • ผลการวิเคราะห์น้ำอสุจิ

    เมื่อได้ตัวอย่างน้ำอสุจิคุณหมอจะใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อวิเคราะห์น้ำอสุจิ ดังนี้

    • ตรวจสอบจำนวนของตัวอสุจิ จำนวนตัวอสุจิระดับปกติควรไม่น้อยกว่า 15 ล้านตัว/มิลลิลิตรของน้ำอสุจิ
    • ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ ตรวจสอบว่าตัวอสุจิเคลื่อนไหวทั้งหมดกี่ตัวและมีการเคลื่อนไหวได้ดีหรือไม่ ตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวได้ดีควรไม่น้อยกว่า 50% ขึ้นไป
    • ตรวจสอบลักษณะของตัวอสุจิ ตรวจสอบรูปร่างและลักษณะของตัวอสุจิ เนื่องจากรูปร่างส่งผลต่อการเคลื่อนตัวในการปฏิสนธิกับไข่ และในน้ำอสุจิควรมีตัวอสุจิที่รูปร่างปกติไม่น้อยกว่า 4%
    • ตรวจสอบปริมาณน้ำอสุจิ ปริมาณน้ำอสุจิที่ได้ควรไม่น้อยกว่า 1.5 มิลลิลิตรหรือประมาณครึ่งช้อนชา แต่หากมีปริมาณน้อยกว่าที่กำหนดอาจแสดงว่าถุงเชื้อผลิตของเหลวไม่เพียงพอหรือเกิดการอุดตัน หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก
    • การละลายตัวของน้ำเชื้อ (Liquefaction time) เป็นขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อดูระยะเวลาการละลายของน้ำอสุจิที่ข้นให้กลายเป็นของเหลว ควรใช้เวลาประมาณ 20 นาที
    • ตรวจสอบระดับฟรุกโตส (Fructose level) หากการตรวจสอบไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อ คุณหมออาจต้องตรวจสอบระดับฟรุกโตสในน้ำอสุจิที่ผลิตโดยถุงน้ำเชื้อ หากไม่พบฟรุกโตสหรืออยู่ในระดับต่ำอาจหมายความว่าถุงน้ำเชื้ออุดตัน

    คุณหมออาจจำเป็นต้องใช้วิธีการทดสอบแบบอื่นเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยภาวะเจริญพันธ์ของผู้ชายที่ถูกต้องมากขึ้น ดังนี้

    • ตรวจแอนติบอดีทำลายอสุจิ (Sperm antibodies) มักเกิดขึ้นในผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาด เข้าไปทำลายตัวอสุจิ
    • ทดสอบการแทรกซึมของตัวอสุจิ (Sperm penetration assay : SPA) ทดสอบคุณภาพและความแข็งแรงของตัวอสุจิที่สามารถเจาเข้าผนังด้านนอกของไข่
    • ทดสอบความสามารถของสเปิร์มในการหลอมรวมกับไข่ (Hemizona assay test)
    • ทดสอบความแข็งแรงการว่ายน้ำของตัวอสุจิในมูกปากมดลูกไปถึงไข่ (Cervical mucus penetration test)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา