backup og meta

ประจำเดือนขาด เกิดจากสาเหตุใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    ประจำเดือนขาด เกิดจากสาเหตุใด

    ประจำเดือนขาด อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การเข้าสู่หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน การรับประทานยาบางชนิด รวมถึงอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ส่งผลทำให้ประจำเดือนขาด ดังนั้น หากพบว่าประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาดไป 3 เดือน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษา

    ประจำเดือน คืออะไร 

    ประจำเดือน คือ เลือดที่ออกมาจากทางช่องคลอดเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงอาจเริ่มมีประจำเดือนตอนอายุประมาณ 11-14 ปี โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะมีรอบประจำเดือนประมาณ 24-38 วัน และจะมีประจำเดือนครั้งละประมาณ 3-5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน นอกจากนี้ หากมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น ปริมาณเลือดประจำเดือนมาน้อยหรือมามากเกินไป ประจำเดือนขาด รอบเดือนมีความคลาดเคลื่อน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ เมื่อทราบสาเหตุแล้ว จะได้รักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

    สาเหตุที่ประจำเดือนขาด

    ประจำเดือนขาดอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 

    • การตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงจะไม่มีการตกไข่ในช่วงตั้งครรภ์ จึงส่งผลให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่มีประจำเดือน
    • การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มักเริ่มเมื่ออายุประมาณ 50 ปี แต่ผู้หญิงบางคนอาจเริ่มมีการตกไข่ที่คลาดเคลื่อนจากเดิม เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ก่อนที่จะหมดประจำเดือนจริง ๆ
    • การคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิดหรือการฝังยาคุมกำเนิด ก็อาจทำให้ประจำเดือนขาดได้ แม้จะหยุดยาคุมกำเนิดแล้วก็ตาม 
    • การออกกำลังกายหนักเกินไป อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้ประจำเดือนมาผิดปกติ หรือประจำเดือนขาดได้ 
    • น้ำหนักมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน น้ำหนักมากเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วนอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป จนฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลและส่งผลต่อกระบวนการตกไข่ ส่วนน้ำหนักน้อยเกินเกณฑ์อาจทำให้ร่างกายมีสารอาหารไม่พอไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก
    • การตกไข่ผิดปกติ เมื่อไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่ จึงไม่มีการสร้างคอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) ซึ่งมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งถ้ารอบเดือนนั้นไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สุดท้ายเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกกลายเป็นประจำเดือน
    • ภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการมีประจำเดือน หากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป หรือที่เรียกว่าไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) และต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนน้อยเกินไป หรือที่เรียกว่าไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) อาจส่งผลทำให้ประจำเดือนขาดได้
    • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือฮอร์โมนในร่างกาย ที่ทำให้เกิดถุงน้ำหรือซีสต์ในรังไข่ขนาดเล็ก ๆ ในรังไข่ ส่งผลให้การตกไข่มีประสิทธิภาพลดลง และส่งผลทำให้ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาน้อยหรือมากเกินไป 

    การวินิจฉัยประจำเดือนขาด  

    คุณหมออาจวินิจฉัยภาวะประจำเดือนขาดด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

    • ตรวจการตั้งครรภ์ เนื่องจากการตั้งครรภ์ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ๆ ที่มักส่งผลทำให้ประจำเดือนขาด 
    • ตรวจเลือด เพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนโพรแลกติน (Prolactin) ฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone หรือ LH) ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน หรือฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ (Follicle-stimulating hormone หรือ FSH) ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน หากระดับฮอร์โมนผิดปกติ อาจส่งผลให้ประจำเดือนขาดได้
    • ตรวจอุ้งเชิงกราน หมออาจทำการตรวจอวัยวะเพศหญิงทั้งภายในและภายนอก เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ไข่ เพื่อหาสัญญาณความผิดปกติของโรคที่ส่งผลให้ประจำเดือนขาด 
    • อัลตราซาวด์ คุณหมอจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงประมวลภาพสแกนอวัยวะภายในร่างกายบริเวณรังไข่ มดลูก ระบบสืบพันธุ์ เพื่อหาปัญหาด้านสุขภาพที่อาจส่งผลทำให้ประจำเดือนขาด 
    • ซีทีสแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก เพื่อตรวจหาเนื้องอก หรือก้อนเนื้อที่ผิดปกติ 

    การรักษาประจำเดือนขาด

    วิธีรักษาภาวะประจำเดือนขาดขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาด เช่น 

    • การออกกำลังกายมากเกินไป ควรปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การออกกำลังกายใหม่ แบ่งเวลาในการออกกำลังกายให้เหมาะสม เช่น ออกกำลังกายอย่างน้อย 30-45 นาที/วัน ด้วยการ วิ่ง เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ ไม่ออกกำลังกายหักโหมเกินไป
    • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด เนื่องจากรังไข่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน 
    • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ อาจรักษาด้วยการกินยาคุมกำเนิดแบบเม็ด หรือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน 
    • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หรือไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) อาจรักษาด้วยการให้ยาต้านไทรอยด์ที่อาจช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ 

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่ 

    หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ 

    • อายุ 15 ปีแล้วแต่ประจำเดือนยังไม่มา 
    • ประจำเดือนขาดติดต่อกัน 3 เดือน ทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร 
    • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา