backup og meta

ประจำเดือนสีน้ำตาล เกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    ประจำเดือนสีน้ำตาล เกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่

    ประจำเดือนสีน้ำตาล เป็นภาวะปกติที่เกิดจากเลือดเก่าที่ค้างอยู่ในมดลูกเป็นเวลานานทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจนเปลี่ยนสี พบบ่อยในช่วงวันแรกและวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน แต่ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น การตั้งครรภ์ การแท้งบุตร การท้องนอกมดลูก วัยหมดประจำเดือน โรคมะเร็งมดลูก

    ดังนั้น หากมีประจำเดือนสีน้ำตาลร่วมกับพบอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ประจำเดือนสีน้ำตาล มาน้อย หรือ มามาก เกินไป ควรพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาโดยเร็วที่สุด

    ประจําเดือนสีน้ำตาล คืออะไร

    ประจำเดือนสีน้ำตาลเป็นเลือดประจำเดือนที่มีสีเข้มกว่าปกติ อาจเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม มักเกิดจากเลือดที่ค้างอยู่ในมดลูกเป็นเวลานานทำปฏิกิริยากับออกซิเจนทำให้มีสีเข้มขึ้น ซึ่งสีของประจำเดือนอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและอายุ หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น การตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน ที่อาจส่งผลต่อสีของเลือดประจำเดือนได้เช่นกัน

    ประจำเดือนสีน้ำตาลผิดปกติหรือไม่

    สีของประจำเดือน เป็นสีน้ำตาลอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

    เมนส์สีน้ำตาล ที่เป็นปกติ

    ประจำเดือนสีน้ำตาลที่เป็นปกติอาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

  • ประจำเดือนตกค้าง ในมดลูก ประจำเดือนสีน้ำตาลมักเกิดขึ้นในวันแรกและวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน เนื่องจากเลือดสีแดงที่ค้างอยู่ในมดลูกมีปริมาณน้อยและทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้เลือดออกมาเป็นสีน้ำตาล
  • เยื่อบุโพรงมดลูกหนา ทำให้ประจำเดือนมามาก เลือดประจำเดือนจึงอาจเป็นสีแดงคล้ำ
  • เยื่อบุโพรงมดลูกบาง อาจเกิดจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ทำให้ประจำเดือนมาน้อย และมีสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม
  • น้ำคาวปลา อาจมีสีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม มักเกิดขึ้นหลังคลอดบุตร เป็นวิธีที่ร่างกายขับเลือดและเนื้อเยื่อส่วนเกินออกจากมดลูก อาการน้ำคาวปลาจะดีขึ้นตามลำดับภายใน 2-3 เดือนแรกหลังคลอด อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติหลังคลอดเนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ หากมีประจำเดือนมากผิดปกติหรือเลือดประจำเดือนมีสีเข้มมาก ควรไปพบคุณหมอทันที
  • วัยหมดประจำเดือน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงวัย 40-50 ปีซึ่งฮอร์โมนมักแปรปรวน หรือบางคนอาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติซึ่งอาจส่งผลต่อสีของเลือดประจำเดือน ทำให้เลือดประจำเดือนมีสีเข้มขึ้นได้
  • เมนส์สีน้ำตาล ไม่ปกติ

    ประจำเดือนสีน้ำตาลที่ไม่ปกติอาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

  • การตั้งครรภ์ การท้องนอกมดลูก หรือการแท้งบุตร เลือดสีน้ำตาลในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ หรือเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ควรพบคุณหมอทันทีหากมีอาการเลือดประจำเดือนมาน้อยหรือมีสีน้ำตาล และไม่ได้คุมกำเนิด หรือหากมีตกขาวหรือเลือดเป็นจุดสีน้ำตาลในช่วงตั้งครรภ์
  • การอุดตันภายในช่องคลอด อาจเกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เมื่อมีประจำเดือน อาจทำให้เกิดบาดแผล เกิดการอักเสบและการอุดตันภายในช่องคลอด
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อหรือระบบฮอร์โมน ทำให้มีถุงน้ำหลายใบภายในรังไข่ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ทำให้ประจำเดือนมีสีน้ำตาลและอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขนตามร่างกาย ความอ้วน สิว ภาวะมีบุตรยาก ซีสต์
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา อาจทำให้อวัยวะเพศภายนอก ช่องคลอด หรือมดลูกอักเสบได้ ทำให้มีตกขาวสีเหลือง สีเขียว และอาจทำให้เลือดประจำเดือนสีคล้ำลงด้วยเช่นกัน
  • การติดเชื้อรา เกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) อาจทำให้มดลูกหรือปากมดลูกอักเสบและมีแผลจนส่งผลให้เลือดประจำเดือนมีสีคล้ำลง ร่วมกับมีตกขาวสีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น
  • โรคมะเร็งปากมดลูก ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบและบาดแผลในมดลูก ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกจะมีเลือดออกกระปริบกระปรอย ประจำเดือนอาจมาเร็วกว่าปกติ มีปริมาณมากและเป็นก้อน อาจส่งผลทำให้เลือดประจำเดือนมีสีเข้มขึ้นด้วย
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    ประจำเดือนสีน้ำตาลที่เป็นปกติอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากเกิดอาการเหล่านี้ร่วมกับมีประจำเดือนสีน้ำตาล ควรรีบเข้ารับการวินิจฉัยจากคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ได้

  • มีไข้
  • ประจำเดือนสีน้ำตาล มามากหรือ ประจำเดือนสีน้ำตาล มาน้อย เกินไป
  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
  • มีอาการคันในช่องคลอดหรือรอบ ๆ ช่องคลอด
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน หรือมีอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน
  • ตกขาวหนา มีฟอง สีน้ำตาลเข้มหรือสีเทา
  • ประจำเดือนไม่มา 2-3 เดือน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา