backup og meta

ประจําเดือนไม่มาทําไงดี กลัวท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    ประจําเดือนไม่มาทําไงดี กลัวท้อง

    ประจําเดือนไม่มาทําไงดี กลัวท้อง เป็นคำถามที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากความกังวลหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัย หรือรับประทานยาคุมไม่ถูกวิธี ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งท้องได้ ดังนั้น หากสังเกตว่าประจำเดือนมาช้านานกว่า 1 เดือน และมีอาการอาเจียน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เต้านมขยาย หัวนมมีสีคล้ำขึ้น ควรตรวจครรภ์ด้วยตัวเองหรือเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อให้ทราบผลแน่ชัด

    สาเหตุที่ประจำเดือนไม่มา

    สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา อาจเกิดจากการตั้งท้อง เนื่องจากการไม่สวมใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ การรับประทานยาคุมกำเนิดผิดวิธีหรือลืมรับประทานยาคุม โดยเฉพาะยาคุมฉุกเฉินที่ควรรับประทานไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังจากถุงยางแตกหรือมีการหลั่งใน ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา และเกิดความรู้สึกกังวลและกลัวท้องได้

    อย่างไรก็ตาม การที่ประจำเดือนไม่มาอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ ดังนี้

    • ยาคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน (Progesterone) อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบาง เพื่อให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้ และอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาด้วยเช่นกัน
    • ความเครียด อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการตกไข่ จึงอาจทำให้ประจำเดือนไม่มาทำให้เกิดความกังวลและรู้สึกกลัวท้องได้
    • การออกกำลังกายมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนมาช้าหรือไม่มา
    • น้ำหนักตัว การมีน้ำหนักน้อยหรือน้ำหนักมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จำเป็นต่อการตกไข่ ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล และส่งผลให้ประจำเดือนขาด
    • วัยหมดประจำเดือน อาจส่งผลให้ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้การตกไข่น้อยลง และอาจทำให้ประจำเดือนหยุดโดยสมบูรณ์
    • กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ อาจส่งผลให้ฮอร์โมนแปรปรวน ทำให้ไม่เกิดการตกไข่ จึงทำให้ประจำเดือนไม่มา

    ประจําเดือนไม่มาทําไงดี กลัวท้อง

    หากมีข้อสงสัยว่า ประจำเดือนไม่มาทำไงดี กลัวท้อง อาจเริ่มต้นจากการสังเกตอาการการตั้งครรภ์ ดังนี้

    • ประจำเดือนไม่มานานเกินกว่า 1 เดือน
    • ปัสสาวะบ่อย การตั้งท้องอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตของเหลวและเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปเลี้ยงทารกในครรภ์ จึงส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้นเพื่อคัดกรองของเสียออกมาในรูปแบบปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
    • แพ้ท้อง เช่น มอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหม็นอาหาร อยากรับประทานอาหารแปลก ๆ
    • อารมณ์แปรปรวน ท้องผูก เหนื่อยล้าง่าย และอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
    • เต้านมขยาย คัดเต้านม และหัวนมมีสีคล้ำขึ้น เพื่อเตรียมผลิตน้ำนมให้ทารก
    • ปวดเกร็งบริเวณท้องส่วนล่างที่อาจเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนในผนังมดลูก บางคนอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย

    นอกจากการสังเกตอาการแล้ว ยังควรตรวจครรภ์ด้วยชุดตรวจครรภ์ โดยตรวจปัสสาวะแรกของวัน เพราะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (HCG) สูงสุด และไม่ควรดื่มน้ำก่อนการตรวจเพราะอาจทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อน หากที่ตรวจครรภ์มีเส้นสีแดงขึ้น 2 ขีด ที่ตรงกับตัวอักษร C และ T บนเครื่องทดสอบ อาจมีความหมายว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่หากมีเส้นสีแดงขึ้นเพียง 1 ขีด ที่ตรงกับตัวอักษร C บนเครื่องทดสอบ อาจมีความหมายว่าไม่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับการตรวจกับคุณหมอโดยตรงเพื่อผลลัพธ์ที่แน่นอน

    หากมั่นใจว่า ประจำเดือนไม่มาเพราะตั้งครรภ์ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสม แต่หากไม่ได้ตั้งครรภ์ ก็ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    การดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนไม่มา

    การดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนไม่มา อาจทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง หากเป็นไปได้ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะทราบผลแน่ชัดว่าตนเองไม่ได้ท้อง
  • หยุดรับประทานยาคุมเมื่อหมดแผงเพื่อให้เกิดการตกไข่ที่ทำให้ประจำเดือนมาปกติในรอบเดือนถัดไปหรืออาจใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน เพราะร่างกายกำลังเข้าสู่ช่วงปรับตัวเตรียมพร้อมตกไข่ แต่หากต้องการคุมกำเนิดอยู่ ควรสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง สำหรับผู้ที่รับประทานยาคุมฉุกเฉินหลังจากมีการหลั่งใน อาจจำเป็นต้องรอประจำเดือนมาในรอบถัดไป หากประจำเดือนยังไม่มาควรตรวจครรภ์อีกครั้ง
  • ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายและชื่นชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ถ่ายรูป ออกไปเที่ยวข้างนอก เพราะความเครียดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม วันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายมากเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียด ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพราะอาจช่วยให้ระดับฮอร์โมนสมดุล กระตุ้นการตกไข่ ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาตามปกติ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา