backup og meta

ปล่อย นอก ท้อง ไหม สามารถใช้คุมกำเนิดได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    ปล่อย นอก ท้อง ไหม สามารถใช้คุมกำเนิดได้หรือไม่

    ปล่อย นอก ท้อง ไหม น่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่คนสงสัยมากที่สุด การปล่อยน้ำอสุจินอกช่องคลอดขณะถึงจุดสุดยอดเป็นวิธีที่คู่รักหลายคู่นิยมใช้เพื่อคุมกำเนิด เนื่องจากไม่ต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การสวมถุงยางอนามัย เพราะอาจทำให้รู้สึกว่าทำกิจกรรมทางเพศได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม การปล่อยนอกไม่สามารถป้องกันการตั้งท้องได้ 100 % ทั้งยังอาจทำให้เสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย จึงควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งท้องและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ หากปล่อยนอกแล้วกังวลว่าอาจตั้งท้อง ควรไปพบเภสัชกรหรือคุณหมอและรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาคุมฉุกเฉิน

    ปล่อย นอก ท้อง ไหม

    การปล่อยนอก บางครั้งเรียกว่าการหลั่งนอกหรือการแตกนอก (Withdrawal/Pull out method) เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ฝ่ายชายจะถอนองคชาตออกจากช่องคลอดของฝ่ายหญิงในจังหวะก่อนถึงจุดสุดยอด และหลั่งอสุจิภายนอกช่องคลอด แม้การทำเช่นนี้จะลดโอกาสที่อสุจิจะเดินทางเข้าไปในช่องคลอดได้มากกว่าการสอดใส่ขณะถึงจุดสุดยอด แต่ก็ยังอาจทำให้ตั้งท้องได้ไม่ต่างจากการหลั่งอสุจิในช่องคลอด หรือที่มักเรียกว่าการปล่อยใน การหลั่งใน หรือการแตกใน เนื่องจากฝ่ายชายอาจไม่สามารถถอนองคชาตออกจากช่องคลอดได้ทันเวลา หรือมีอสุจิจำนวนเล็กน้อยในน้ำหล่อลื่นที่ออกมาจากองคชาตก่อนถึงจุดสุดยอด (Pre-ejaculate) จนทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้สำเร็จ และเกิดการตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ

    ความเสี่ยงของการปล่อยนอก

    การปล่อยนอก ไม่ใช้วิธีป้องกันการตั้งท้องที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections หรือ STIs) เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) โรคติดเชื้อไวรัสเอสไอวี (HIV) ได้ด้วย จึงควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

    อย่างไรก็ตาม แม้การปล่อยนอกเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ เช่น ถุงยางอนามัย ห่วงอนามัย ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด ยาคุมกำเนิดแบบฝัง แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันเลย หากใช้วิธีปล่อยนอกแล้วไม่มั่นใจว่าช่วยป้องกันการตั้งท้องได้หรือไม่ ควรไปพบเภสัชกรเพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งท้องได้เมื่อรับประทานภายใน 3-5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด

    ปล่อยนอกยังไงให้เสี่ยงท้องน้อยลง

    ในขณะนี้ ยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันการตั้งท้องได้ 100% รวมไปถึงการปล่อยนอกด้วย แต่หากปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของการตั้งท้องได้

    • ควรใช้วิธีปล่อยนอกร่วมกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การสวมถุงยางอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicide)
    • ควรหลีกเลี่ยงการใช้วิธีปล่อยนอกในช่วงไข่ตก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผู้หญิงมีโอกาสตั้งท้องได้สูงกว่าช่วงอื่นของรอบเดือน
    • ให้ฝ่ายชายถ่ายปัสสาวะก่อนมีเพศสัมพันธ์เพื่อกำจัดอสุจิที่อาจหลุดออกมาก่อนเวลา
    • ควรชักองคชาตออกมาจากช่องคลอดก่อนถึงจุดสุดยอดทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
    • ขณะฝ่ายชายถึงจุดสุดยอด ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำอสุจิหรือสารคัดหลั่งใด ๆ ไปสัมผัสกับต้นขาหรือขาหนีบของฝ่ายหญิง เพราะอาจทำให้อสุจิเดินทางเข้าไปในช่องคลอดได้

    ข้อดีและข้อเสียของการปล่อยนอก

    ข้อดีและข้อเสียของการปล่อยนอก อาจมีดังนี้

    ข้อดีของการปล่อยนอก

    • ช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไม่มีถุงยางอนามัย
    • เป็นวิธีที่สะดวกและไม่เสียค่าใช้จ่าย
    • ไม่ต้องใช้ฮอร์โมนหรือสารเคมี
    • ไม่มีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงต่อร่างกาย

    ข้อเสียของการปล่อยนอก

    • เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะหากถอนองคชาตออกจากช่องคลอดไม่ทันก็อาจทำให้เสี่ยงตั้งท้องได้
    • ฝ่ายหญิงไม่สามารถควบคุมหรือทำอะไรเพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งท้องได้เลย
    • อาจทำให้ความสุขทางเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ลดลง เนื่องจากวิตกกังวลว่าอาจถอนอวัยวะเพศออกมาไม่ทัน หรือกลัวว่าจะท้อง
    • แม้ว่าฝ่ายชายจะถ่ายปัสสาวะก่อนมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังอาจมีอสุจิบางส่วนออกมาพร้อมน้ำหล่อลื่นที่หลั่งออกมาก่อนถึงจุดสุดยอดได้เช่นกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา