backup og meta

ปวดลูกอัณฑะ สาเหตุ การดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/12/2023

    ปวดลูกอัณฑะ สาเหตุ การดูแลตัวเอง

    ปวดลูกอัณฑะ เป็นอาการที่พบได้ในผู้ชายซึ่งป่วยเป็นโรคหรือมีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดหรือประคบเย็นบริเวณลูกอัณฑะ อย่างไรก็ตาม หากปวดลูกอัณฑะร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปวดท้องน้อย ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุของโรค และรับการรักษาที่เหมาะสม

    ปวดลูกอัณฑะ เกิดจากอะไร

    ปวดลูกอัณฑะ มักเป็นอาการสืบเนื่องจากความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ อันมีสาเหตุจากโรคหรือภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้

    ปวดลูกอัณฑะเนื่องจากอัณฑะอักเสบ

    อัณฑะอักเสบ เป็นโรคซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณหลอดเก็บตัวอสุจิ และเป็นอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างหนองในหรือหนองในเทียม นอกจากนี้ อัณฑะอักเสบยังเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสโรคคางทูม ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคางทูม จะเสี่ยงเป็นอัณฑะอักเสบมากกว่าคนที่เคยฉีดวัคซีนแล้ว

    โดยทั่วไป อัณฑะอักเสบมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะปวดลูกอัณฑะข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการป่วยอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว

    วิธีรักษาอัณฑะอักเสบ

    อัณฑะอักเสบรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • รับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค ควบคู่กับการรับประทานยาแก้อักเสบ เพื่อลดอาการปวดลูกอัณฑะหรือลูกอัณฑะบวม
    • ประคบเย็น สามารถทำได้ด้วยตนเองโดยประคบเย็นบริเวณลูกอัณฑะเป็นเวลา 15-20 นาที/ครั้ง วันละประมาณ 3-4 ครั้ง
    • เลือกชนิดชุดชั้นในให้เหมาะสม ควรสวมใส่กางเกงในสำหรับการออกกำลังกายซึ่งมักทำจากผ้าฝ้าย เพื่อป้องกันลูกอัณฑะอักเสบหรือระคายเคือง รวมทั้งช่วยกระชับลูกอัณฑะไม่ให้กระทบกระเทือนจนเกินไปขณะเคลื่อนไหวร่างกาย

    ปวดลูกอัณฑะเนื่องจากอัณฑะบิดตัว

    อัณฑะบิดตัว หมายถึง การบิดหรือรั้งของลูกอัณฑะที่ผิดปกติ ส่งผลให้สายรั้งอัณฑะซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวส่งผ่านเลือดมาเลี้ยงลูกอัณฑะบิดจากองศาปกติตามธรรมชาติจนอาจทำให้เกิดการตีบตัน ส่งผลให้เลือดไม่ไหลลงมาเลี้ยงอัณฑะ จนเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา อาทิ

    • การปวดลูกอัณฑะและถุงอัณฑะ
    • ปัสสาวะบ่อย
    • ปวดท้องน้อย
    • ลูกอัณฑะขยับขึ้นเหนือตำแหน่งเดิม

    โดยทั่วไป อัณฑะบิดตัวมักเกิดจากสายรั้งอัณฑะและเนื้อเยื่อที่คลุมลูกอัณฑะผิดปกติโดยกำเนิด ซึ่งส่งผลให้ลูกอัณฑะบิดตัวง่ายผิดปกติและปวดลูกอัณฑะได้

    อัณฑะบิดตัวพบได้ในเพศชายทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอายุระหว่าง 12-18 ปี โดยมักเกิดหลังจากออกกำลังกาย

    นอกจากนี้ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นอัณฑะบิดตัวมาก่อน มีแนวโน้มที่จะเป็นอัณฑะบิดตัวมากกว่าคนทั่วไป

    วิธีรักษาอัณฑะบิดตัว

    อัณฑะบิดตัวรักษาได้ด้วยการผ่าตัดบริเวณถุงอัณฑะ เพื่อบิดลูกอัณฑะกลับสู่ตำแหน่งเดิม และคลายสายรั้งลูกอัณฑะซึ่งตีบจากการบิดตัว

    ทั้งนี้ เมื่อมีอาการที่อาจเข้าข่ายว่าเป็นอัณฑะบิดตัว ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะหากอัณฑะบิดตัวนานเกิน 6 ชั่วโมง จะยิ่งรักษาอาการป่วยได้ยากขึ้น หรือคุณหมออาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดนำลูกอัณฑะออกจากร่างกาย แทนการผ่าตัดบิดลูกอัณฑะกลับเข้าที่

    ปวดลูกอัณฑะเนื่องจากไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ

    ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ หมายถึง ภาวะที่ลำไส้ยื่นออกจากช่องท้อง และมากองอยู่บริเวณขาหนีบ ทำให้พบเป็นก้อนนูนบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะเห็นชัดเมื่อยืนหรือเดิน ทั้งนี้ ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบอาจทำให้ปวดลูกอัณฑะได้โดยเฉพาะในกรณีส่วนปลายของลำไส้ไหลจากขาหนีบลงมายังถุงอัณฑะ

    สาเหตุของไส้เลื่อนที่ขาหนีบ คือ ผนังหน้าท้องบางลงเนื่องจากอายุที่มากขึ้น และความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นทำให้ไส้เลื่อนได้

    วิธีรักษาไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ

    เมื่อเป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ คุณหมอจะรักษาโดยการผ่าตัดบริเวณขาหนีบ เพื่อดันลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้อง แล้วเย็บปิดส่วนที่เป็นรู จากนั้นเย็บเสริมความแข็งแรงหน้าท้องบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันไส้เลื่อนเกิดซ้ำ

    ปวดลูกอัณฑะเนื่องจากหลอดเก็บอสุจิบวม

    หลอดเก็บอสุจิบวม หมายถึง การพบถุงน้ำในหลอดเก็บอสุจิ หรือท่อด้านหลังลูกอัณฑะทั้ง 2 ข้าง ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงอสุจิไปยังหลอดนำอสุจิ

    สาเหตุที่ทำให้หลอดอสุจิบวมยังไม่แน่ชัด โดยทางการแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดจากการอุดตันของหลอดเก็บอสุจิ ไม่เกี่ยวกับโรคมะเร็งแต่อย่างใด

    ทั้งนี้ อาการของหลอดเก็บอสุจิบวม คือ ปวดลูกอัณฑะ และรู้สึกว่าลูกอัณฑะหนักกว่าปกติ

    วิธีรักษาหลอดเก็บอสุจิบวม

    วิธีรักษาหลอดเก็บอสุจิบวม ได้แก่

    • การผ่าตัด ภายใต้ฤทธิ์ของยาชา โดยคุณหมอจะกรีดถุงอัณฑะแล้วผ่านำถุงน้ำออกจากหลอดเก็บอสุจิ อย่างไรก็ตาม หากภาวะหลอดเก็บอสุจิบวมไม่ทำให้ผู้ป่วยปวดลูกอัณฑะ คุณหมออาจไม่แนะนำให้ผ่าตัด
    • การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดอาการปวดบวมของลูกอัณฑะ

    ปวดลูกอัณฑะ เนื่องจากถุงน้ำลูกอัณฑะบวม

    ถุงน้ำลูกอัณฑะ เป็นการบวมของถุงอัณฑะเนื่องจากของเหลวที่สะสมอยู่ข้างในเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนอาจทำให้ปวดลูกอัณฑะ ทั้งนี้ ถุงอัณฑะจะบวมน้อยในตอนเช้าและบวมมากขึ้นระหว่างวัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากการอักเสบหรือบาดเจ็บของลูกอัณฑะ

    ภาวะนี้พบได้ทั้งในเด็กแรกเกิดและผู้ใหญ่ โดยในกรณีของเด็กแรกเกิด จะเป็นภาวะโดยกำเนิด ซึ่งพบได้บ่อยหรือในทารกชายร้อยละ 10 และสามารถหายเองได้เมื่อเด็กอายุครบ 1 ปี

    ในกรณีของผู้ใหญ่ ถุงน้ำลูกอัณฑะอาจเป็นผลมาจากการอักเสบหรือติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศชาย รวมถึงอาจเกิดจากเนื้องอกบริเวณอัณฑะ ซึ่งเป็นอาการของมะเร็งอัณฑะ

    โดยปกติถุงน้ำลูกอัณฑะไม่ใช่โรคอันตราย และอาจไม่ทำให้ผู้ป่วยปวดลูกอัณฑะ ยกเว้นในกรณีพบของเหลวสะสมในถุงอัณฑะปริมาณมาก

    วิธีการรักษาถุงน้ำลูกอัณฑะ

    โดยปกติ ถุงน้ำลูกอัณฑะมักจะหายไปเองในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หากเกิน 1 ปีแล้วถุงน้ำลูกอัณฑะไม่หายไป ควรไปพบคุณหมอ ซึ่งอาการนี้รักษาได้ด้วยการผ่าตัดบริเวณหน้าท้องหรือถุงอัณฑะเพื่อระบายของเหลวออกมา รวมถึงการเจาะถุงอัณฑะแล้วใช้หลอดฉีดยาดูดของเหลวที่คั่งอยู่บริเวณถุงอัณฑะมากจนเกินไปออกมา

    ปวดลูกอัณฑะ ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    เมื่อปวดลูกอัณฑะอาจดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ประคบเย็นด้วยถุงประคบ หรือน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าสะอาด
    • สวมชั้นในผ้าฝ้ายสำหรับออกกำลังกาย เพื่อช่วยประคองถุงอัณฑะ ลดการกระทบกระเทือนหรือทำให้ลูกอัณฑะระคายเคือง
    • รับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือบวมของลูกอัณฑะ

    หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างตรงจุด

    ทั้งนี้ ผู้ที่ปวดลูกอัณฑะควรไปพบคุณหมอทันที หากอาการที่เป็นอยู่เกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังนี้

    • มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน
    • ถุงอัณฑะบวมแดง หรือเมื่อสัมผัสถุงอัณฑะแล้วรู้สึกอุ่นจนถึงร้อนจัด
    • อาการปวดรุนแรงขึ้นเฉียบพลัน
    • มีอาการบาดเจ็บหรือเป็นแผลบริเวณลูกอัณฑะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา