backup og meta

ปวดอัณฑะ สาเหตุ และการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/01/2024

    ปวดอัณฑะ สาเหตุ และการดูแลตัวเอง

    ปวดอัณฑะ เป็นอาการที่พบได้ในผู้ชายเมื่อระบบสืบพันธุ์หรือระบบขับถ่ายเกิดภาวะผิดปกติหรือเป็นโรค เช่น อัณฑะอักเสบ ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ โรคถุงน้ำลูกอัณฑะ ในเบื้องต้นอาจดูแลตัวเองด้วยการรับประทานยาแก้ปวดหรือใช้น้ำแข็งประคบบริเวณอัณฑะ แต่หลังจากนั้น ควรพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาให้ถูกจุด

    ปวดอัณฑะ เกิดจากอะไร

    ปวดอัณฑะ มักเป็นอาการสืบเนื่องจากความผิดปกติบริเวณช่วงล่างของผู้ชาย ทั้งจากระบบสืบพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น

    อัณฑะอักเสบ

    อัณฑะอักเสบ อาจเกิดได้กับอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง เป็นผลจากการติดเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนองในหรือหนองในเทียม หรือจากการติดเชื้อของหลอดเก็บตัวอสุจิ หรือการติดเชื้อไวรัสซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับโรคคางทูม หากไม่เคยได้รับวัคซีนโรคคางทูมมาก่อน อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ป่วยเป็นอัณฑะอักเสบได้

    อาการอื่น ๆ ซึ่งอาจพบได้ในผู้ป่วยอัณฑะอักเสบ คือ

    • อัณฑะบวมข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง
    • มีไข้
    • คลื่นไส้ อาเจียน

    ปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้อัณฑะอักเสบประกอบด้วย การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และการผ่าตัดในระบบทางเดินปัสสาวะหรืออวัยวะเพศ

    วิธีการรักษา

    อัณฑะอักเสบรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ทั้งในกรณีของการป่วยเนื่องจากแบคทีเรีย

    โดยการรักษาอัณฑะอักเสบเนื่องจากเชื้อไวรัส คุณหมออาจให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองเพิ่มเติมที่บ้าน ด้วยการประคบเย็นเป็นเวลา 15-20 นาที/ครั้ง ร่วมกับการให้สวมกางเกงในกีฬา (Athletic Supporter) เพื่อไม่ให้อัณฑะได้รับการกระทบกระเทือนเวลาเคลื่อนไหว

    ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ

    ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ เป็นภาวะที่ลำไส้ยื่นออกจากช่องท้อง อาจพบก้อนนูนที่ขาหนีบ ซึ่งจะเห็นนูนชัดขึ้นเมื่อลำตัวตั้งตรงขณะนั่ง ยืน เดิน สาเหตุเกิดจากผนังหน้าท้องบางลงเนื่องจากอายุมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมที่ไปเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การเบ่งอุจจาระ ทั้งนี้ ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ทำให้อัณฑะบวมหรือปวดได้ หากลำไส้ที่เลื่อนไปบริเวณขาหนีบไหลลงไปบริเวณอัณฑะ

    วิธีการรักษา

    ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ รักษาได้ด้วยการผ่าตัดบริเวณขาหนีบผู้ป่วย เพื่อดันลำไส้ที่เลื่อนลงมากลับขึ้นไปในช่องท้อง จากนั้นเย็บปิดส่วนที่เป็นรูและเย็บเสริมความแข็งแรงภายในให้ผนังหน้าท้องบริเวณนั้น

    หลอดเลือดอัณฑะขอด

    หลอดเลือดอัณฑะขอด เป็นภาวะบวมของหลอดเลือดดำบริเวณอัณฑะ ทำให้ปวดอัณฑะและผลิตตัวอสุจิได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีบุตรยาก แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการปวดหรือบวมของอัณฑะ

    ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดหลอดเลือดอัณฑะขอดที่แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เกิดจากความบกพร่องของลิ้นปิด-เปิดในหลอดเลือดดำ ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เลือดจึงไหลเข้ามาขังอยู่ในหลอดเลือดจนเกิดเป็นเส้นขอดและทำให้หลอดเลือดบวมในเวลาต่อมา

    วิธีการรักษา

    หากอาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการปวดหรือบวมของอัณฑะ คุณหมออาจไม่รักษา เนื่องจากหลอดเลือดอัณฑะขอดสามารถหายเองได้ หากอัณฑะมีอาการปวดหรือบวม หรือมีผลต่อจำนวนตัวอสุจิที่ลดลง คุณหมอจะรักษาด้วยการผ่าตัดปิดผนึกหลอดเลือดดำที่มีปัญหา แล้วปรับการไหลของเลือดให้เป็นปกติ

    ถุงน้ำลูกอัณฑะ

    ถุงน้ำลูกอัณฑะ เป็นภาวะที่ถุงอัณฑะบวมโตเนื่องจากของเหลวซึ่งสะสมอยู่ด้านในข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง

    ถุงน้ำลูกอัณฑะมักพบในเด็กเกิดใหม่ และจะหายไปเองเมื่ออายุครบ 1 ปี ในกรณีของเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ถุงน้ำลูกอัณฑะเกิดจากการบาดเจ็บหรืออักเสบของถุงอัณฑะ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการอักเสบของหลอดเก็บอสุจิ หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถุงน้ำลูกอัณฑะอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สบายตัว เนื่องจากถุงอัณฑะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ แต่โดยปกติไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด ยกเว้นในกรณีบวมหรืออักเสบมาก

    วิธีการรักษา

    ถุงน้ำลูกอัณฑะนั้นมักหายได้เอง หากอาการแย่ลง คุณหมอจะผ่าถุงอัณฑะหรือหน้าท้องส่วนล่าง เพื่อระบายของเหลวออกจากอัณฑะ ซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้น

    ก้อนในถุงอัณฑะ

    ก้อนในถุงอัณฑะ (Scrotal Mass) เป็นก้อนบวมในถุงอัณฑะ เกิดจากเนื้อเยื่อผิดปกติหรือของเหลวที่สะสมอยู่ในอัณฑะมีปริมาณมากเกินไป ผู้ป่วยอาจมีอัณฑะบวมแดง มีไข้ คลื่นไส้ และปัสสาวะบ่อยร่วมด้วย

    ก้อนในถุงอัณฑะเป็นอาการหนึ่งของภาวะผิดปกติบริเวณอัณฑะหรือถุงอัณฑะ เช่น

    • มะเร็งอัณฑะ
    • หลอดเก็บอสุจิโป่ง
    • หลอดเก็บอสุจิอักเสบ
    • อัณฑะอักเสบ
    • ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ

    วิธีการรักษา

    การรักษาก้อนในถุงอัณฑะมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของความผิดปกติ  ดังนี้

    • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส รักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ในกรณีติดเชื้อไวรัส อาจรักษาควบคู่กับการประคบเย็นบริเวณถุงอัณฑะ
    • มะเร็งอัณฑะ รักษาด้วยการผ่าตัดนำอัณฑะข้างที่เป็นออกจากร่างกาย หรือใช้ยาเคมีบําบัด เพื่อป้องกันมะเร็งกระจายและลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ
    • สาเหตุอื่น ๆ ในกรณีไม่รุนแรง คุณหมออาจปล่อยให้หายเอง หรือเลือกรักษาภาวะผิดปกติ อันเป็นสาเหตุของก้อนในถุงอัณฑะ

    การดูแลตัวเองเมื่อปวดอัณฑะ

    เมื่อปวดอัณฑะ การดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยวิธีการต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการได้

    • ประคบเย็น ด้วยถุงสำหรับประคบ หรือน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าสะอาด
    • สวมใส่กางเกงในกีฬา เพื่อช่วยพยุงอัณฑะให้อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหวมากจนเกินไป
    • อาบน้ำอุ่น เพื่อช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น
    • หาซื้อยาแก้ปวดมารับประทาน เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือบวม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา