backup og meta

ป๊อปเปอร์ คืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    ป๊อปเปอร์ คืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

    ป๊อปเปอร์ (Popper) หรืออะมิลไนไตรท์ (Amyl Nitrite) เป็นยาที่ใช้ทางการแพทย์เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัวใจจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ในบางกรณี อาจมีการนำไปใช้เป็นยาปลุกเซ็กส์เพื่อเพิ่มอารมณ์ทางเพศ ซึ่งคุณหมอไม่แนะนำให้ใช้ในลักษณะนี้ เพราะหากใช้ยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการร้ายแรง เช่น ปวดหัว ริมฝีปาก เล็บมือหรือฝ่ามือเป็นสีฟ้า หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว ดังนั้น จึงควรใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสมและควรใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ รวมถึงควรอยู่ในการควบคุมของคุณหมอเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

    ป๊อปเปอร์ คืออะไร

    ป๊อปเปอร์ หรืออะมิลไนไตรท์ คือ ยาที่ใช้ในทางการแพทย์สำหรับสูดดมเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัวใจหรืออาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยยาจะเข้าไปผ่อนคลายหลอดเลือด เพิ่มปริมาณเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจ

    ในบางกรณี ป๊อปเปอร์อาจถูกนำมาใช้ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ หรือเรียกว่า ยาปลุกเซ็กส์ โดยกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้นและรุนแรง มีอาการเคลิบเคลิ้มคล้ายคนเมา รู้สึกผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล ซึ่งคุณหมอไม่แนะนำให้ใช้ป๊อปเปอร์ในลักษณะนี้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น

    • ริมฝีปาก เล็บมือ หรือฝ่ามือเป็นสีฟ้า
    • อาการวิงเวียนศีรษะรุนแรง หน้ามืดหรือเป็นลม
    • ปวดหัว
    • หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว
    • อ่อนเพลียหรืออ่อนแรงผิดปกติ
    • ผื่นผิวหนัง
    • คลื่นไส้อาเจียน กระสับกระส่าย
    • ใบหน้าและลำคอบวมน้ำ

    อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นจากการใช้ป๊อปเปอร์อาจหายไปเอง เมื่อร่างกายเริ่มปรับสภาพให้เข้ากับการรักษา แต่หากใช้ยาเกินขนาดก็อาจทำให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานและอาการอาจแย่ลง รวมถึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น โรคผิวหนังบริเวณจมูกหรือริมฝีกปาก ไซนัสอักเสบ อาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจ ความดันลูกตาเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากอาการแย่ลง เพราะอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

    วิธีใช้ป๊อปเปอร์และปริมาณการใช้ที่เหมาะสม

    ปริมาณของป๊อปเปอร์ที่เหมาะสมอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาจขึ้นอยู่กับความแรงของยาและความรุนแรงของอาการ การใช้ป๊อปเปอร์จึงควรอยู่ในการควบคุมของคุณหมอ สำหรับป๊อปเปอร์แบบสูดดมควรใช้ในปริมาณ 0.3 มิลลิลิตร/หลอด โดยการสูดดมไอของยาป๊อปเปอร์ทางจมูก คุณหมออาจให้สูดดมยาซ้ำภายใน 1-5 นาที แต่หากอาการเจ็บหน้าอกไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับยาครบ 2 โดสในระยะเวลา 10 นาที ให้พบคุณหมอทันทีเพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป

    วิธีใช้ยาป๊อปเปอร์อาจทำได้ ดังนี้

    • หากเริ่มรู้สึกมีอาการเจ็บหน้าอก รู้สึกบีบหรือแน่นที่หน้าอก ให้นั่งลงหรือนอนในท่าที่สบาย ก่อนสูดดมยาเนื่องจากหลังการใช้ยาอาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ มึนงงหรือเป็นลมได้
    • บดแคปซูลยาป๊อปเปอร์ด้วยนิ้วมือให้ละเอียด แล้วสูดดมไอของยาเข้าทางจมูก 1-6 ครั้ง หลังสูดดมยาหากรู้สึกวิงเวียนศีรษะในขณะนั่ง ให้หายใจเข้าลึก ๆ หลายครั้ง จากนั้นก้มศีรษะไปข้างหน้าหรือนอนราบกับพื้นแล้วยกเท้าขึ้นสูง ซึ่งอาจช่วยให้อาการค่อย ๆ ดีขึ้น
    • หลังจากการใช้ยาควรนั่งหรือนอนราบจนกว่าอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งอาการเจ็บหน้าอกและอาการข้างเคียงจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่นาที

    ข้อควรระวังในการใช้ป๊อปเปอร์

    ข้อควรระวังบางประการในการใช้ป๊อปเปอร์ อาจมีดังนี้

    • ผู้ที่ใช้ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่น ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ไวอากร้า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ป๊อปเปอร์ร่วมด้วย เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หมดสติหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
    • ป๊อปเปอร์เป็นสารไวไฟสูง จึงควรเก็บให้ห่างจากความร้อนและเปลวไฟ เพราะอาจเสี่ยงที่จะติดไฟได้ง่ายและอาจทำให้เกิดแผลไหม้อย่างรุนแรง
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์ในขณะใช้ป๊อปเปอร์ เพราะอาจทำให้ความดันต่ำจนทำให้อาการวิงเวียนศีรษะและหน้ามืดแย่ลงได้
    • หลังใช้ป๊อปเปอร์อาจทำให้มีอาการปวดหัวเล็กน้อย ซึ่งอาการจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่หากอาการรุนแรงแรงขึ้นเป็นเวลานานควรเข้าพบคุณหมอทันที
    • ห้ามใช้ยาป๊อปเปอร์ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตต่ำ ภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) ผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เนื่องจากผลข้างเคียงของการใช้ยาป๊อปเปอร์อาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้กำเริบและมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา