backup og meta

ฝันเปียกคืออะไร ผิดปกติหรือไม่ และเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับฝันเปียก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    ฝันเปียกคืออะไร ผิดปกติหรือไม่ และเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับฝันเปียก

    ฝันเปียกคืออะไร ฝันเปียกหมายถึงการหลั่งน้ำอสุจิหรือถึงจุดสุดยอดขณะนอนหลับทำให้กางเกงนอนหรือที่นอนเปียก และบางครั้งอาจเกิดควบคู่กับความฝันเรื่องเพศ  ฝันเปียกเป็นปรากฏการณ์ซึ่งพบได้เป็นปกติในวัยรุ่นชายและเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตทางเพศ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่อาจยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการฝันเปียกนี้อยู่ ซึ่งผู้ชายที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ควรทำความเข้าใจ

    ทำไมถึงฝันเปียก?

    ฝันเปียกเกิดจากการที่ร่างกายของวัยรุ่นชาย เริ่มผลิตเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือฮอร์โมนเพศที่ทำให้เกิดการสร้างอสุจิและหลั่งออกมาเป็นครั้งคราวเมื่อนอนหลับ ฝันเปียกเกิดขึ้นเมื่อองคชาตแข็งตัวหรือไม่แข็งตัวก็ได้ โดยการฝันเปียกครั้งแรก ปกติจะเกิดขึ้นตอนวัยรุ่นชายอายุประมาณ 13 ปี แต่อาจเกิดขึ้นไวหรือช้ากว่านี้ได้

    งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาความรู้ เจตคติ ความเชื่อ และพฤติกรรมทางเพศของเยาวชนไทย” โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อายุต่ำสุดของเด็กผู้ชายที่พบการฝันเปียกคือ เด็กอายุ 8 ปี

    อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นชายบางคนอาจไม่เคยฝันเปียกและผู้ชายบางคนอาจฝันเปียกน้อยครั้งมากในชีวิตหรือไม่เคยเลยซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล เพราะร่างกายของคนเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

    โดยทั่วไป ความถี่ของฝันเปียกในวัยรุ่น คือประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มช่วยตัวเองหรือเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ฝันเปียกยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกอีกว่าร่างกายพร้อมแล้วที่จะสืบพันธุ์หรือสามารถทำให้เพศหญิงตั้งครรภ์ได้หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

    ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝันเปียก

    แม้ฝันเปียกจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายแต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝันเปียก ดังนี้

    • ฝันเปียกทำให้อสุจิน้อยลง ความจริงแล้ว ฝันเปียกเป็นกลไกของร่างกายในการกำจัดอสุจิเก่าออกจากร่างกาย เพื่อแทนที่ด้วยอสุจิซึ่งใหม่และแข็งแรงกว่า การฝันเปียกจึงไม่ทำให้อสุจิลดลงแต่อย่างใด
    • ฝันเปียกทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง ฝันเปียกไม่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ความจริงแล้ว การที่ร่างกายขับน้ำเชื้อออกมาขณะหลับจะช่วยลดปริมาณน้ำเชื้อส่วนเกินในลูกอัณฑะซึ่งดีต่อระบบสืบพันธุ์
    • ฝันเปียกเกิดแค่ในวัยรุ่น ฝันเปียกเกิดได้ในผู้ใหญ่เช่นกัน เพียงแต่มักเกิดขึ้นบ่อยกว่าในวัยรุ่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนซึ่งยังไม่คงที่ และความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์หรือสำเร็จความใคร่ซึ่งอาจน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ร่างกายขับน้ำเชื้อออกมาขณะหลับแทน
    • ฝันเปียกเป็นสัญญาณของโรค จริง ๆ แล้ว เป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะการที่ร่างกายฝันเปียกแสดงให้เห็นว่ามีสุขภาวะทางเพศที่แข็งแรง ระบบเจริญพันธุ์ในร่างกายทำงานเป็นปกติ
    • ฝันเปียกเกี่ยวข้องกับความฝันเรื่องเพศ ฝันเปียกบางครั้งอาจไม่เกี่ยวกับความฝันเรื่องเพศก็ได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งรายงานว่า ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนส่งผลต่อความถี่ในการฝันเปียก ยิ่งมีระดับฮอร์โมนสูงก็อาจยิ่งฝันเปียกบ่อย ซึ่งฮอร์โมนนี้อาจเพิ่มขึ้นได้จากการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย
    • นอนคว่ำทำให้ฝันเปียกง่ายขึ้น แม้จะมีงานวิจัยที่ระบุว่า การนอนคว่ำอาจทำให้ฝันเรื่องเพศมากกว่า แต่เรื่องนี้ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอ และยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มว่าท่าทางในการนอนหลับส่งผลต่อความฝันหรือฝันเปียกหรือไม่
    • ฝันเปียกทำให้อวัยวะเพศเล็กลง ฝันเปียกไม่ใช่ความเจ็บป่วยหรือโรค จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับขนาดของอวัยวะเพศ รวมทั้งยังไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ระบุเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรื่องนี้

    ฝันเปียกในผู้หญิง

    ผู้หญิงสามารถฝันเปียกได้เช่นเดียวกับผู้ชาย เพียงแต่อาการอาจไม่ชัดเจนเท่า โดยอาจพบน้ำหล่อลื่นบริเวณช่องคลอด อ้างอิงจากการศึกษาปี พ.ศ. 2529 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Sex Research พบว่า ผู้หญิงส่วนมากจะฝันเปียก ก่อนอายุ 21  รวมทั้งมีงานวิจัยที่ระบุว่า ฝันเปียกในผู้หญิงอาจเกิดควบคู่กับการมีความฝันเรื่องเพศ

    ข้อแนะนำเกี่ยวกับฝันเปียก

    ฝันเปียกเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตในวัยรุ่นชาย และอาจควบคุมไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อตื่นมาพบว่าตนเองฝันเปียก ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศ เปลี่ยนเสื้อผ้า และผ้าปูที่นอน อย่างไรก็ตาม หากมีข้อกังวลเกี่ยวกับฝันเปียก หรือฝันเปียกส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจปรึกษาคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำหรือตรวจร่างกายเพิ่มเติม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา