backup og meta

มีอารมณ์ สังเกตได้อย่างไร และรับมือได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/10/2023

    มีอารมณ์ สังเกตได้อย่างไร และรับมือได้อย่างไร

    มีอารมณ์ หมายถึงมีความต้องการทางเพศที่อาจเกิดขึ้นจากการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การจูบ การเล้าโลม ดูสื่ออนาจาร การช่วยตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น อวัยวะเพศแข็งตัว คลิตอริสไวต่อความรู้สึก คัดตึงเต้านม มีน้ำหล่อลื่น อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่มีอารมณ์ทางเพศแม้จะถูกกระตุ้น ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ ความต้องการทางเพศลดลง หรือปัญหาความสัมพันธ์ เป็นต้น

    วงจรการตอบสนองทางเพศ

    วงจรการตอบสนองทางเพศทั้งชายและหญิงแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยแต่ละคนอาจมีการตอบสนองทางเพศและถึงจุดสุดยอดไม่พร้อมกัน รวมทั้งความรุนแรงของอารมณ์ทางเพศและเวลาที่ใช้ในแต่ละระยะอาจไม่เท่ากัน การเข้าใจความแตกต่างอาจช่วยให้คู่รักเข้าใจการตอบสนองของอีกฝ่ายมากขึ้น

    ระยะที่ 1 เกิดอารมณ์

    หญิง: เริ่มมีอารมณ์ทางเพศ ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ผิวหนังแดง หน้าอกเต่งตึง หัวนมแข็งตัว เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะเพศ ทำให้อวัยวะเพศและผนังช่องคลอดบวมขึ้น เริ่มมีน้ำหล่อลื่นไหลออกจากช่องคลอด

    ชาย: อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อหดเกร็ง ผิวหนังแดง เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะเพศทำให้องคชาตแข็งตัว ลูกอัณฑะบวม ถุงอัณฑะกระชับมากขึ้นและเริ่มหลั่งน้ำหล่อลื่นออกจากองคชาต

    ระยะที่ 2 ตื่นตัว

    หญิง: อารมณ์ทางเพศเริ่มรุนแรงขึ้น การหายใจและการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อหดเกร็งและชาเล็กน้อย การไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้นทำให้ช่องคลอดบวมขึ้นและอาจเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม คลิตอริสไวต่อความรู้สึกมากขึ้น และอาจหดกลับเข้าไปในหนังหุ้มเพื่อเลี่ยงการถูกกระตุ้น

    ชาย: อารมณ์ทางเพศเริ่มรุนแรงขึ้น การหายใจและการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อหดเกร็ง กระตุก และชาเล็กน้อย การไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้นทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวมากขึ้นและขยายใหญ่ขึ้น ลูกอัณฑะเริ่มกระชับมากขึ้น

    ระยะที่ 3 ถึงจุดสุดยอด

    หญิง: เมื่อสำเร็จความใคร่ กล้ามเนื้อในช่องคลอดจะหดตัวเป็นจังหวะ กล้ามเนื้อกระตุก อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจและความดันขึ้นสูงสุด

    ชาย: เมื่อสำเร็จความใคร่ กล้ามเนื้อจะหดตัวอย่างเฉียบพลัน กล้ามเนื้อกระตุก อารมณ์ทางเพศถูกปลดปล่อย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และการหายใจอยู่ในอัตราสูงสุด ฐานองคชาตหดตัวอย่างเป็นจังหวะส่งผลให้มีการหลั่งน้ำอสุจิออกมา

    ระยะที่ 4 กลับสู่ภาวะปกติ

    ระยะนี้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะกลับสู่ภาวะปกติ อวัยวะเพศที่บวมจะค่อย ๆ กลับสู่สภาพเดิม อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตและการหายใจจะค่อย ๆ ช้าลง และอาจทำให้มีอาการเหนื่อยล้า

    มีอารมณ์ทางเพศบ่อย รับมืออย่างไรได้บ้าง

    บางคนอาจมีอารมณ์ทางเพศง่ายและบ่อยครั้งซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่หากมีอารมณ์มากเกินไปอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงานได้ โดยสามารถรับมือกับอารมณ์ทางเพศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งด้วยวิธีเหล่านี้

    • เบี่ยงเบนความสนใจ หากิจกรรมที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจทางเพศ เช่น ออกกำลังกาย วิ่ง ทำสวน พูดคุยกับเพื่อน เพื่อช่วยให้ความสนใจทางเพศและลดอารมณ์ทางเพศลงไปชั่วขณะ
    • ปรึกษาคุณหมอ หากอารมณ์ทางเพศรบกวนการใช้ชีวิตและการทำงานมากเกินไป ควรปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากอาจเป็นความผิดปกติทางร่างกายหรือทางจิตใจ ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำการรักษา

    ไม่มีอารมณ์ทางเพศ เกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง

    การไม่มีอารมณ์ทางเพศ อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    ความต้องการทางเพศลดลง

    ปัญหานี้พบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความต้องการทางเพศ ดังนี้

    • ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศชายต่ำ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
    • ปัญหาสุขภาพกาย เช่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคทางระบบประสาท
    • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ ความเครียด เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ซึมเศร้า ยากดประสาท ยาลดความดัน
    • ความเหนื่อยล้า ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน เลี้ยงลูก หรือดูแลพ่อแม่ อาจส่งผลให้อารมณ์ทางเพศลดลง
    • การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด อาจทำให้การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง และทำให้อารมณ์ทางเพศลดลงตามไปด้วย

    ปัญหาการถึงจุดสุดยอด

    ผู้หญิงจะถึงจุดสุดยอดช้ากว่าผู้ชายจึงอาจต้องใช้ระยะเวลาในการกระตุ้นเล้าโลมที่มากกว่า แต่หากผู้หญิงไม่เคยถึงจุดสุดยอดเลย อาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไม่ถึงจุดสุดยอด อาจมีดังนี้

    • ความต้องการทางเพศลดลง
    • ถูกกระตุ้นไม่มากพอ
    • ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก
    • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล
    • เคยมีประสบการณ์ทางเพศที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ

    ความเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์

    ความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์อาจส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศ ทำให้รู้สึกไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ได้ ดังนี้

    • ภาวะช่องคลอดแห้ง ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอาจมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้มีการหลั่งน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดลดลง ทำให้ช่องคลอดแห้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดได้ ดังนั้น จึงควรใช้สารหล่อลื่นเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
    • การผ่าตัดอวัยวะเพศ อาจส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพของอวัยวะเพศ ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ และอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการทางเพศซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์และยังทำให้อารมณ์ทางเพศลดลงตามไปด้วย

    ไม่มีอารมณ์ทางเพศ จะแก้ไขอย่างไรดี

    บางคนที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศหรือมีอารมณ์ทางเพศต่ำ อาจสามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ความต้องการทางเพศลดลง หากเกิดจากปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตอาจต้องทำการรักษาโรคเรื้อรังและภาวะทางจิตนั้น หรือหากเกิดจากการใช้ยาบางชนิด อาจต้องเปลี่ยนหรือหยุดใช้ยาเพื่อให้ฮอร์โมนเพศกลับมาทำงานปกติ ทั้งนี้ หากต้องใช้ยาเพื่อรักษาโรคควรปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอ
    • ปัญหาถึงจุดสุดยอด ผู้หญิงอาจถึงจุดสุดยอดช้ากว่าผู้ชาย ดังนั้น เพื่อให้ประสบการณ์ทางเพศระหว่างคู่รักดีขึ้น ผู้ชายควรกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของผู้หญิงให้เพียงพอ ทั้งนี้ ความชื่นชอบของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ควรสอบถามความชอบหรือจุดเร้าอารมณ์จากฝ่ายหญิงให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้หญิงสามารถถึงจุดสุดยอดได้
    • ความเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากรู้สึกเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากช่องคลอดแห้ง อาจใช้สารหล่อลื่นเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา