backup og meta

ยาเหน็บช่องคลอด ใช้อย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/10/2023

    ยาเหน็บช่องคลอด ใช้อย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่

    ยาเหน็บช่องคลอด เป็นยารักษาเฉพาะที่ มักใช้เพื่อรักษาติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด มีทั้งชนิดที่ซื้อเองได้จากร้านขายยา หรือคุณหมอเป็นผู้จ่ายยาให้ รูปทรงของยาเหน็บช่องคลอดมักมีลักษณะคล้ายจรวดขนาดเล็ก เพื่อให้สอดใส่ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาเหน็บช่องคลอด ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำ เนื่องจากยาเหน็บช่องคลอดมีผลข้างเคียง และข้อควรระวัง โดยเฉพาะหากใช้กับผู้ที่แพ้ยา หรือหญิงตั้งครรภ์

    ยาเหน็บช่องคลอด คืออะไร

    ยาเหน็บช่องคลอด หรือยาสอดช่องคลอด เป็นยาใช้เฉพาะที่เพื่อรักษาการติดเชื้อราหรือแบคทีเรียในช่องคลอด โดยการหยุดเชื้อโรคบริเวณดังกล่าวไม่ให้เติบโต ปกติผู้ป่วยมักใช้ยาเหน็บช่องคลอดติดต่อกันนาน 7 วันหรือตามที่คุณหมอสั่งจ่ายยา

    โดยทั่วไป ยาเหน็บช่องคลอดมักเคลือบด้วยเจลาตินหรือโกโก้บัตเตอร์ซึ่งเป็นไขมันจากเมล็ดโกโก้ เมื่อสอดยาเข้าไปในช่องคลอด อุณหภูมิร่างกายจะทำให้ชั้นเคลือบละลาย ตัวยาจึงสัมผัสกับเนื้อเยื่อ และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในเวลาต่อมา

    ใช้ยาเหน็บช่องคลอดในกรณีใดบ้าง

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรืออาการผิดปกติบริเวณช่องคลอดที่อาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาเหน็บช่องคลอด มีดังนี้

    • โรคติดเชื้อราในช่องคลอด

    อาจใช้ยาเหน็บช่องคลอดที่มีตัวยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) 100 มิลลิกรัม สอดช่องคลอดก่อนนอน นาน 7 วัน หรือที่มีตัวยาโคลไตรมาโซล 500 มิลลิกรัม สอดช่องคลอดก่อนนอน นาน 1 วัน ช่วยยับยั้งเชื้อรา โดยควรเหน็บในช่องคลอดให้ลึกที่สุดและงดเพศสัมพันธ์ขณะเหน็บยา

    • ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

    ใช้ยาเหน็บช่องคลอดซึ่งมีตัวยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 750 มิลลิกรัม และไมโคนาโซล (Miconazole nitrate) 200 มิลลิกรัม สอดช่องคลอดก่อนนอน วันละ 1 เม็ด นาน 7 วัน เพราะตัวยามีคุณสมบัติออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของปรสิตและแบคทีเรีย

    ยาเหน็บช่องคลอด มีวิธีใช้อย่างไร

    วิธีการสอดยาเหน็บช่องคลอดมีอยู่ 2 วิธี โดยมีขั้นตอนดังนี้

    1. สอดยาเหน็บช่องคลอดด้วยมือ

    • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่า
    • แกะยาออกจากซอง
    • จุ่มเม็ดยาในน้ำสะอาดประมาณ 1-2 วินาที เพื่อให้ตัวยานิ่มและลื่น จะได้สอดเข้าช่องคลอดได้ง่ายขึ้น
    • เลือกสอดยาในท่าที่เหมาะสม เช่น นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้น แล้วแยกขาเล็กน้อย หรือยืนขาเดียว โดยขาอีกข้างหนึ่งวางไว้บนเก้าอี้หรือชักโครก
    • ค่อย ๆ สอดยาเข้าไปในช่องคลอด โดยสอดด้านแหลมเข้าด้านใน และนิ้วมือช่วยดันเม็ดยาเข้าไปให้ลึกที่สุด

    2. ใช้แท่งช่วยสอดยาเหน็บช่องคลอด

    • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่า
    • แกะยาออกจากห่อ แล้วบรรจุยาที่ส่วนปลายของแท่งสอดยา โดยหันด้านแหลมเข้าสู่ช่องคลอด
    • เมื่ออยู่ในท่าที่เหมาะสมแล้ว ให้สอดแท่งสอดยาเข้าไปในช่องคลอด แล้วใช้นิ้วกดส่วนปลายของแท่งสอดยา เพื่อดันตัวยาออกจากแท่งสอด จากนั้นนำแท่งสอดออกจากช่องคลอด

    หลังเหน็บยาเสร็จแล้ว ไม่ว่าด้วยมือหรือแท่งสอด ควรอยู่ในท่าเดิมหรือนอนนิ่ง ๆ ประมาณ 15 นาที เพื่อป้องกันยาไหลออกจากช่องคลอด หรืออาจเลือกเหน็บยาก่อนเข้านอน หรือใส่ผ้าอนามัยหลังจากเหน็บยา เพื่อป้องกันยาเหน็บช่องคลอดไหลออกมา ซึ่งอาจทำให้ชุดชั้นในหรือผ้าปูที่นอนเปื้อนได้

    คำแนะนำในการใช้ยาเหน็บช่องคลอด

    • หากลืมเหน็บยาหลายวัน ให้เหน็บยาในวันถัดไปได้ตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
    • ควรเก็บยาในอุณหภูมิห้อง และหลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่อากาศร้อน เพื่อป้องกันยาเหน็บช่องคลอดละลาย
    • หากมีประจำเดือน สามารถเหน็บยาได้ตามปกติ ไม่ต้องหยุดใช้ยา
    • หลังการใช้ยาเหน็บช่องคลอดครบ 7 วันแล้ว ควรกลับไปพบคุณหมอเพื่อติดตามอาการ โดยเฉพาะหากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจซ้ำและหาสาเหตุอื่น ๆ เพื่อหาวิธีรักษาอาการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดที่เหมาะสมต่อไป

    ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเหน็บช่องคลอด

    เมื่อใช้ยาเหน็บช่องคลอด ผู้ใช้อาจพบผลข้างเคียง ดังนี้

    • ช่องคลอดแสบ แห้ง หรือระคายเคือง
    • ตกขาวผิดปกติ
    • ปากแห้ง
    • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
    • มีอาการแพ้ยา สังเกตได้จากอาการหายใจลำบาก ปากบวม แน่นหน้าอก มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ควรหยุดใช้และปรึกษาคุณหมอ

    หากใช้ยาเหน็บช่องคลอดแล้วพบผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบคุณหมอทันที

    ยาเหน็บช่องคลอดไม่เหมาะกับใคร

    การรักษาอาการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดโดยการเหน็บยา อาจไม่เหมาะกับกลุ่มบุคคลต่อไปนี้

    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
    • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาและสารประกอบในตัวยาดังกล่าว
    • ผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
    • ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 60 ปี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา