backup og meta

รังไข่ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/07/2022

    รังไข่ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง

    รังไข่ เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ลักษณะเป็นคู่ รูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์อยู่บริเวณปลายท่อนำไข่ทั้งสองข้างของมดลูก ทำหน้าผลิตไข่ให้ตกเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรองรับการปฏิสนธิจนเกิดการตั้งครรภ์ และสร้างฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

    รังไข่ คืออะไร

    รังไข่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง รูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ขนาดประมาณนิ้วโป้งมีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร อยู่ข้างปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง

    รังไข่ มีหน้าที่อะไร

    หน้าที่หลักของรังไข่ คือการผลิตไข่ และการผลิตฮอร์โมนเพศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    ผลิตไข่

    รังไข่ มีหน้าที่ผลิตไข่ ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง ภายใต้การกระตุ้นของฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ (Follicle Stimulating Hormone) และฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone) ซึ่งหลั่งออกมาจากสมอง และถูกส่งมายังรังไข่ผ่านหลอดเลือด

    โดยปกติ ในแต่ละเดือน รังไข่แต่ละข้างจะสลับกันผลิตไข่ขึ้นมาโดยรังไข่หนึ่งข้างจะผลิตไข่ขึ้นมาพร้อมกันจำนวนหลายฟอง เมื่อมีไข่ 1 ฟองที่เติบโตและแข็งแรงกว่าไข่ฟองอื่น ๆ ที่เหลือจะหยุดการเติบโตหรือฝ่อลง โดยปกติตลอดชีวิต ร่างกายผู้หญิงจะผลิตไข่ทั้งหมดประมาณ 400 ฟอง

    เมื่อไข่สมบูรณ์พร้อมสำหรับการสืบพันธุ์แล้ว จะเกิดการตกไข่ (ovulation) ไข่ดังกล่าวจะเคลื่อนตัวไปยังท่อนำไข่ ซึ่งเชื่อมต่อกับมดลูก เพื่อรอปฏิสนธิกับตัวอสุจิ หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย

    ทั้งนี้ หากได้ปฏิสนธิกับตัวอ่อน ไข่จะเคลื่อนไปฝังตัวที่ผนังมดลูก และเกิดการตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการปฏิสนธิ ไข่จะเคลื่อนไปที่มดลูกและฝ่อสลายไปในที่สุด และรังไข่จะเริ่มกระบวนการผลิตไข่อีกครั้ง

    ผลิตฮอร์โมนเพศ

    ฮอร์โมนซึ่งผลิตจากรังไข่ ประกอบด้วย

    เอสโตรเจน (Estrogen)

    เป็นฮอร์โมนซึ่งมีความสำคัญมากในเพศหญิง นอกจากผลิตจากรังไข่แล้ว ยังผลิตจากต่อมหมวกไตและเซลล์ไขมันด้วย แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า

    หน้าที่ของเอสโตรเจนมีหลายประการ ประกอบด้วย

    • กระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาเพื่อเตรียมรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนหลังปฏิสนธิ
    • กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารหล่อลื่นในช่องคลอด
    • กระตุ้นให้เส้นขนงอกบริเวณรักแร้หรืออวัยวะเพศ
    • จำกัดจำนวนไข่ ที่รังไข่ผลิตในแต่ละครั้ง

    โปรเจสเตอโรน (Progesterone)

    โปรเจสเตอโรน ผลิตจากกลุ่มเนื้อเยื่อในรังไข่ เรียกว่า “คอร์ปัส ลูเทียม” (Corpus Luteum) เมื่อไข่ปฏิสนธิกับอสุจิสำเร็จ โปรเจสเตอโรน ซึ่งโดยปกติจะหลั่งออกมาก่อนมีรอบเดือน จะกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกให้คงความหนานุ่มเตรียมพร้อมสำหรับตัวอ่อนมาฝังตัว และยังกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลั่งสารอาหารออกมาเพื่อหล่อเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งพัฒนาจากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว

    นอกจากนั้น ระหว่างตั้งครรภ์ โปรเจสเตอโรนยังมีหน้าที่สำคัญ คือ

    • กระตุ้นร่างกายให้ผลิตรก เพื่อปกป้องทารกในครรภ์
    • ทำงานร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนกระตุ้นให้เยื่อบุผนังต่อมน้ำนมเพิ่มขึ้น เต้านมจึงใหญ่ขึ้นและสามารถผลิตน้ำนมเพื่อเลี้ยงทารกได้อย่างเพียงพอ
    • เพิ่มความแข็งแรงให้ผนังและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการคลอดธรรมชาติ

    ทั้งนี้ ระดับโปรเจสเตอโรนจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ และจะลดลงหลังทารกคลอดออกมา

    อย่างไรก็ตาม หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ ระดับโปรเจสเตอโรนจะลดลง ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของผนังมดลูกซึ่งรอการฝังตัวของไข่จะหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

    การรักษาสุขภาพรังไข่

    การรักษาสุขภาพรังไข่ ทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้

    • งดสูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่ส่งผลให้เซลล์ไข่อ่อนแอปฏิสนธิยากขึ้น และทำให้จำนวนไข่อ่อนที่จะถูกผลิตเป็นไข่ซึ่งพร้อมสืบพันธุ์ในอนาคต ลดจำนวนลงก่อนเวลาที่ควรจะเป็น
    • จัดการความเครียด ความเครียดส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และโปรแลกติน (Prolactin) ซึ่งอาจทำให้การผลิตไข่หยุดชะงักหรือไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ความเครียดจัดการได้หลายวิธี เช่น การทำกิจกรรมที่ชอบ รับประทานอาหารอร่อย ๆ เล่นโยคะ
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อให้สุขภาพร่างกายโดยรวมแข็งแรง และรังไข่ผลิตไข่ได้มีคุณภาพหรือสมบูรณ์ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ประกอบด้วย ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชเต็มเมล็ด ผลไม้
    • ควบคุมน้ำหนัก โรคอ้วน อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตไข่ของรังไข่ รวมถึงความสมบูรณ์ของไข่ จึงควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา