backup og meta

ลิ่มเลือดประจำเดือน เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

    ลิ่มเลือดประจำเดือน เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

    ลิ่มเลือดประจำเดือน คือเลือดประจำเดือนที่ตกค้างอยู่ในช่องคลอด มีลักษณะออกมาเป็นก้อนขนาดไม่ใหญ่ มักพบในวันแรกหรือวันสุดท้ายของรอบเดือน นับเป็นเรื่องปกติและมักไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม หากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่และ มักเป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก เนื้องอกในมดลูก มะเร็งปากมดลูก ดังนั้น หากพบลิ่มเลือดขนาดใหญ่ไหลออกมาจากช่องคลอด ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด

    ลิ่มเลือดประจำเดือน เกิดจากอะไร

    เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ร่างกายของเพศหญิงจะตกไข่ทุก ๆ 21-35 วัน เพื่อรอการปฏิสนธิกับตัวอสุจิของเพศชาย และเกิดการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมา เพื่อรองรับการตั้งครรภ์ หากเซลล์ไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิในเดือนนั้น ๆ ร่างกายเพศหญิง จะขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกทางช่องคลอด ออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

    ทั้งนี้ เพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียเลือดจำนวนมาก โดยเฉพาะในวันแรกหรือวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน กลไกในร่างกายจะสร้างลิ่มเลือดขึ้นมาโดยมีส่วนประกอบเป็นน้ำเลือดหรือพลาสมา (Plasma) และเกล็ดเลือด  เพื่อขัดขวางการไหลของเลือดประจำเดือนไม่ให้ไหลออกจากร่างกายจำนวนมาก

    ลิ่มเลือดประจำเดือน อันตรายหรือไม่

    ลิ่มเลือดประจำเดือน เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว และไม่ใช่เรื่องน่ากังวล อย่างไรก็ตาม การพบลิ่มเลือดขนาดใหญ่กว่าเหรียญหนึ่งบาท พร้อมกับมีปริมาณประจำเดือนมากกว่าปกติ มักเป็นสัญญาณของความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ เช่น

    • ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก มักพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 40-50 ปี โดยยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ไม่เป็นอันตราย สันนิษฐานว่า เกี่ยวข้องกับการผลิตเยื่อบุโพรงมดลูกที่มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดหรือประจำเดือนมามากทั้งนี้ หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เลือดออกมากผิดปกติ มีเลือดจางมากกว่าปกติ ควรปรึกษาคุณหมอ
    • เนื้องอกในมดลูก เป็นเนื้องอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง และปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด โรคนี้พบในผู้หญิงในอัตราเฉลี่ย 1 ต่อ 3 และผู้ป่วยส่วนมากจะมีอายุระหว่าง 30-50 ปี ทั้งนี้ นอกจากการมีประจำเดือนมากผิดปกติ และมีลิ่มเลือดออกเป็นบางครั้ง อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย และรู้สึกเจ็บบริเวณอวัยวะเพศระหว่างมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้องอกมดลูก
    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นการเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกนอกโพรงมดลูก โดยมักพบบริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ หรือเยื่อบุช่องท้อง ปัจจุบัน ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดของโรคนี้ แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการไหลย้อนกลับของประจำเดือนไปยังอุ้งเชิงกราน ผ่านท่อนำไข่ ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดประจำเดือนได้
    • มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งเนื่องจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) ซึ่งแพร่กระจายระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดประจำเดือนได้ ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้หญิงกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้หญิงที่สูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่ มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหลายคน มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีบุตรคนแรกตอนอายุน้อยกว่า 20ปี หรือมีบุตรหลายคน ไม่เคยตรวจภายใน และผู้หญิงที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

    การรักษา ลิ่มเลือดประจำเดือน

    หากมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ไหลออกจากช่องคลอด และมีประจำเดือนมากกว่าปกติ ควรไปพบคุณหมอ ทั้งนี้ คุณหมอจะตรวจความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ และจะเลือกรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ให้รับประทานยา เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดประจำเดือน หรือยาคุมกำเนิด ซึ่งช่วยลดปริมาณประจำเดือน และลดการเกิดลิ่มเลือด รวมทั้งมีส่วนช่วยทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอและมีรอบเดือนที่เท่า ๆ กัน ในแต่ละเดือน
    • ขูดมดลูก เป็นการใช้อุปกรณ์ขูดเยื่อบุโพรงมดลูกบางส่วนออกจากร่างกายของผู้ที่มีลิ่มเลือดประจำเดือนผิดปกติ เพื่อส่งตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติและเพื่อควบคุมปริมาณเลือดประจำเดือนไม่ให้ออกมามากเกินไป เมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดร่อนจากโพรงมดลูก
    • การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) คือการส่องกล้องหาสิ่งผิดปกติในโพรงมดลูก อย่างติ่งเนื้อหรือเนื้องอก แล้วผ่าตัดออกจากร่างกาย ทั้งนี้ การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกร่วมกับการทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) ยังใช้เพื่อลดจำนวนเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งจะทำให้โอกาสเกิดลิ่มเลือดน้อยลงด้วยเช่นเดียวกับการขูดมดลูก
    • ผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออกจากร่างกาย บางกรณีอาจผ่าตัดพร้อมกับอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ปากมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ หากคนไข้มีปริมาณประจำเดือนมามากจนมีภาวะซีด และมีบุตรครบเท่าที่ต้องการแล้ว หรือมีข้อห้ามในการรักษาโดยใช้ฮอร์โมน การผ่าตัดมดลูกถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา ทั้งนี้ การผ่าตัดมดลูก เป็นตัวเลือกหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง รวมถึงโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา