backup og meta

วิธีจูบ มีกี่รูปแบบ และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    วิธีจูบ มีกี่รูปแบบ และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

    วิธีจูบ เป็นวิธีแสดงความรักรูปแบบหนึ่ง รวมถึงเพื่อเล้าโลมกระตุ้นอารมณ์ก่อนมีเพศสัมพันธ์ โดยวิธีจูบนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งการจูบแบบใช้ลิ้น การจูบโดยใช้เพียงริมฝีปากสัมผัสกัน การจูบอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ มือ หน้าอก ติ่งหู ทั้งนี้ การจูบมีข้อดีหลายประการ เช่น ช่วยกระชับความสัมพันธ์ ลดความเครียด กระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการจูบหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สบาย เพราะโรคบางอย่างสามารถแพร่กระจายผ่านน้ำลายระหว่างการจูบได้ เช่น โรคหวัด โรคโควิด-19

    วิธีจูบ รูปแบบต่าง ๆ มีอะไรบ้าง

    การจูบเป็นวิธีการแสดงความรักรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งเป็นการเล้าโลมเพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายเกิดอารมณ์และนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ วิธีจูบนั้นมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ดังต่อไปนี้

    • เฟรนช์ คิส (French Kiss) เป็นการจูบโดยประกบริมฝีปากค้างไว้ แล้วสอดลิ้นเข้าไปในปากของกันและกัน เพื่อให้ลิ้นของทั้ง 2 ฝ่ายสัมผัสกันระหว่างการจูบ
    • ซิงเกิล ลิป คิส (Single Lip Kiss) เป็นการจูบโดยใช้ริมฝีปากดูด ขบ เม้ม หรือไล้ริมฝีปากบนหรือริมฝีปากล่างของอีกฝ่ายเพียงเบา ๆ อย่างอ่อนโยน ทั้งนี้ ไม่ควรกัดริมฝีปากของอีกฝ่ายเพราะอาจทำให้เกิดแผลและติดเชื้อได้
    • ลิซซี คิส (Lizzy Kiss) เป็นการจูบโดยต่างฝ่ายต่างยื่นลิ้นออกมาสัมผัสกัน โดยไม่ต้องให้ริมฝีปากประกบกัน เป็นวิธีจูบที่เร้าอารมณ์และเย้ายวนให้ต่างฝ่ายต่างต้องการกันมากขึ้น
    • อเมริกัน คิส (American Kiss) เป็นการจูบแบบลุ่มลึกและดูดดื่มโดยใช้ปากประกบกันคล้ายกับเฟรนช์ คิส แต่ไม่ใช้ลิ้น อาจใช้วิธีจูบแบบนี้สำหรับเวลาที่ต้องการจูบกันในที่สาธารณะ
    • บัตเตอร์ฟลาย คิส (Butterfly Kiss) หรือการจูบแบบผีเสื้อ เป็นการจูบโดยแนบหน้าเข้าใกล้กันและกัน ให้ตำแหน่งของดวงตาเสมอกัน แล้วกระพริบตาถี่ ๆ ให้ขนตาสัมผัสกัน เสมือนผีเสื้อกระพือปีกขณะลิ้มรสริมฝีปากของอีกฝ่าย ทั้งนี้ บัตเตอร์ฟลาย คิส ยังรวมถึงการจูบโดยยื่นหน้าเข้าใกล้แก้มของคนรัก แล้วกระพริบตาถี่ ๆ เพื่อให้ขนตาตีกับแก้มคนรักเบา ๆ ด้วย
    • เนค คิส (Nake Kiss) เป็นการจูบบริเวณคอหรือซอกคอซึ่งไวต่อความรู้สึก โดยอาจใช้ริมฝีปากขบเม้มเบา ๆ หรืออาจใช้ลิ้นเลียเพื่อกระตุ้นอารมณ์ขณะเล้าโลมก่อนมีเพศสัมพันธ์
    • ชูการ์ คิส (Sugar Kiss) เป็นการจูบโดยที่มีของหวานอย่าง ไอศกรีม มาร์ชเมลโล และช็อกโกแลต อยู่ในปาก โดยคู่รักจะจูบกันไปเรื่อย ๆ ขณะที่ของหวานค่อย ๆ ละลาย เป็นการเพิ่มรสหวานและกระตุ้นความรู้สึกให้อยากจูบต่อไปเรื่อย ๆ
    • สไปเดอร์แมน คิส (Spiderman Kiss) เป็นวิธีจูบที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่องสไปเดอร์แมน โดยพระเอกของเรื่องห้อยหัวของมาจากที่สูงเพื่อประกบปากกับนางเอก วิธีจูบแบบนี้ ทำได้เมื่ออีกฝ่ายนอนหรือนั่ง ในขณะที่อีกฝ่ายก้มหน้าเข้ามาหาจากทิศทางตรงข้าม และขณะประกบริมฝีปากเข้าหากัน จมูกของต่างฝ่ายต่างจะต้องสัมผัสคางของกันและกัน

    การจูบ มีข้อดีและข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

    ข้อดีของการจูบ มีหลายประการ ดังต่อไปนี้

    • กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย โดยการจูบ 1 นาที จะใช้พลังงานราว 2 กิโลแคลอรี่ ยิ่งกว่านั้น การเคลื่อนไหวร่างกายขณะจูบ ยังอาจทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้นด้วย
    • กระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนรักให้แนบแน่นและใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
    • ช่วยให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาความเครียด และป้องกันอาการที่เกิดจากความเครียดอย่างอาการปวดหัว
    • อาจช่วยลดคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ในผลการทดลองหนึ่ง ว่าด้วยประสิทธิภาพของการจูบกันอย่างร้อนแรงต่อระดับไขมันในเลือด ความเครียด และความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ตีพิมพ์ในวารสาร Western Journal of Communication ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยได้แบ่งอาสาสมัครซึ่งเป็นคู่รักกันออกเป็น 2 กลุ่ม โดยทดลองให้คู่รักในกลุ่มแรกจูบกันบ่อยขึ้น ส่วนคู่รักในอีกกลุ่มจูบกันตามปกติในจำนวนครั้งเท่าเดิมก่อนการทดลอง แล้วเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอาสาสมัครคู่รักทุกคนในทั้ง 2 กลุ่มตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการทดลอง ผลปรากฏว่า คู่รักในกลุ่มแรก มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและความเครียดลดลง รวมถึงมีความพึงพอใจระหว่างคนรักที่มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคู่รักในอีกกลุ่มที่ไม่ได้เพิ่มจำนวนครั้งในการจูบ

    ข้อควรระวังของการจูบ

    แม้ว่าการจูบจะเป็นการแสดงออกซึ่งความรักอย่างหนึ่ง ช่วยกระชับความสัมพันธ์ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่การจูบอาจมีข้อควรระวังดังนี้

    • อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น โรคหวัด โรคโควิด-19 โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไข้กาฬหลังแอ่น เนื่องจากเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำลายได้  และในรายที่มีแผลในปากสามารถติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อซิฟิลิสได้ผ่านทางน้ำลายเข้าไปแผลที่ปาก รวมทั้งการสัมผัสกับหูดหรือเม็ดเริมบริเวณริมฝีปาก อาจทำให้ติดโรคดังกล่าวได้ด้วย
    • อาจทำให้ฟันผุได้ เนื่องจากการจูบกันอาจทำให้เกิดการส่งผ่านแบคทีเรียบางชนิด

    คำแนะนำสำหรับ การจูบ

    แม้จะมีวิธีจูบในรูปแบบต่าง ๆ ให้เลือกใช้ ก่อนจูบกัน ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้การจูบนั้นราบรื่นและสร้างความรู้สึกที่ดีให้กันและกันได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น ได้แก่

    • ควรจูบกันในขณะที่ร่างกายพร้อม หรือในขณะที่ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อหรือแผลในปาก รวมทั้งไม่มีความผิดปกติบริเวณริมฝีปาก เช่น เม็ดเริม หูด หรือตุ่มบวม เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคจากน้ำลายหรือผิวหนังของอีกฝ่าย
    • ควรจูบกันในขณะที่สุขภาพปากพร้อม เพื่อให้รู้สึกดีขณะจูบ ควรสังเกตว่าปากชุ่มชื้น ไม่มีกลิ่นปาก โดยในแต่ละวันควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือทาลิปบาล์มสม่ำเสมอเพื่อป้องกันปากแห้ง หากกังวลปัญหากลิ่นปากหรือลมหายใจไม่หอมสดชื่นอาจป้องกันได้ด้วยการเคี้ยวหมากฝรั่งหรือการแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
    • ควรจูบโดยที่ทั้งสองฝ่ายยินยอม วิธีจูบที่โรแมนติกและน่าจดจำ ควรเริ่มต้นด้วยการจูบกันในขณะที่ต่างฝ่ายต่างยินยอมและมีอารมณ์ร่วม อาจสังเกตได้จากภาษากายของอีกฝ่าย เช่น สีหน้า ท่าทาง รวมทั้งสังเกตดูว่าอีกฝ่ายทำกิจกรรมอะไรอยู่ หรืออาจค่อย ๆ เข้าไปอยู่ใกล้อีกฝ่ายและสัมผัสร่างกายส่วนอื่น ๆ เช่น จับมือ ลูบแขนเบา ๆ หรือมองตาอีกฝ่ายเพื่อสื่อสารถึงอารมณ์ ในบางคู่อาจเลือกใช้วิธีบอกอีกฝ่ายตรง ๆ ถึงความต้องการที่จะจูบ
    • ควรจูบโดยคำนึงถึงกาลเทศะ เพื่อที่จะได้แสดงออกทางความรู้สึกได้อย่างเต็มที่และสบายใจ รวมทั้งเลือกรูปแบบวิธีจูบที่เข้ากับสถานการณ์ เช่น การจูบกันในที่สาธารณะ การจูบกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ การจูบกันในพิธีแต่งงาน
    • อาจพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีจูบที่ชื่นชอบ อาจเลือกพูดคุยหลังจากการจูบเสร็จสิ้นแล้ว หรือระหว่างพูดคุยในเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน เนื่องจากการแสดงความเห็น และบอกถึงความรู้สึกจะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันและกันดีขึ้น ว่าชอบหรือไม่ชอบวิธีจูบในรูปแบบใด และอาจช่วยกันเลือกวิธีจูบที่ตรงใจและดูดดื่มมากยิ่งขึ้นสำหรับครั้งต่อ ๆ ไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา