backup og meta

สกินชิพ คือ อะไร ช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

    สกินชิพ คือ อะไร ช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างไร

    สกินชิพ คือ การแสดงความรู้สึกของความผูกพันและความรู้สึกอันดีระหว่างคนสองคน ผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการจูบ การโอบกอด การจับมือ การสัมผัสตัว โดยเฉพาะระหว่างสมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนรัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสัมผัสนั้นจะสำคัญต่อมนุษย์ในการสื่อสารอารมณ์และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่ก็ควรอยู่บนพื้นฐานของการยินยอมของทั้งสองฝ่าย เพื่อช่วยในการรักษาความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยต่อกันได้อย่างราบรื่น

    สกินชิพ คือ อะไร

    สกินชิพ (Skinship) มาจากคำว่า Skin และ Kinship เป็นคำศัพท์ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น คำว่าสกินชิพ หรือที่เรียกตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า ซูคินชิบปุ (Sukinshippu) ใช้สื่อความหมายถึงการสัมผัสใกล้ชิดต่อกันระหว่างคุณแม่และลูกน้อย ในลักษณะเนื้อแนบเนื้อ (Skin-to-skin) จากนั้นความหมายเพี้ยนไปจนเปลี่ยนบริบทมาเป็นคำศัพท์ที่แสดงถึงการสัมผัสทางกายระหว่างคู่รัก เพื่อน หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกัน ต่อมาคำว่าสกินชิพได้แพร่ไปยังประเทศอื่น ๆ และใช้กันแพร่หลายมากขึ้น โดยทั่วไป คำว่าสกินชิพ หมายถึงการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลอื่นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น สัมผัสตัว จับมือ จูบ โอบกอด เพื่อแสดงความรู้สึกอันดีที่มีต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือผู้ที่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อกัน

    ประโยชน์ของการสกินชิพกับคนที่รัก

    การสกินชิพหรือการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลอันเป็นที่รัก อาจมีประโยชน์ ดังนี้

    ช่วยลดฮอร์โมนความเครียด

    การกอดกันของคู่รักมีส่วนช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดตัวหลักที่ทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย ส่งผลให้รู้สึกเครียดหรือวิตกวังกลกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ ฮอร์โมนนี้อาจลดลงได้ด้วยการสกินชิพหรือสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลที่ทำให้รู้สึกสบายใจเป็นประจำ นอกจากนี้ การกอดยังมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้อีกด้วย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Psychology เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 ศึกษาเกี่ยวกับ ความเชื่อมโยงของการกอดกับระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน จำนวน 59 คน พบว่า หลังกอดกับสามีหรือคู่รักของตัวเอง ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนมีระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าระดับที่วัดได้ก่อนกอด แสดงให้เห็นว่ามีระดับความตึงเครียดต่ำลง นอกจากนี้ ยังมีระดับฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความผูกพันกับผู้อื่นเพิ่มสูงขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการสกินชิพช่วยลดความเครียดและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายลงได้

    ช่วยสานสัมพันธ์กับสมาชิกใหม่ในครอบครัว

    คุณพ่อคุณแม่ที่กอดกับลูกน้อยเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันได้ และอาจช่วยให้เข้าใจความต้องการของกันและกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสกินชิพแบบเนื้อแนบเนื้อ (Skin-to-skin) ซึ่งช่วยให้คุณพ่อและคุณแม่รู้สึกผูกพันกับลูกได้อย่างมาก ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสกินชิพด้วยการกอดกับลูกวัยทารกได้ด้วยการประคองให้ลูกนอนคว่ำบนหน้าอกของคุณพ่อหรือคุณแม่แบบให้ผิวหนังแนบชิดกัน สำหรับคุณพ่อ การสกินชิพกับลูกจะช่วยให้คุณพ่อได้มีใช้เวลาร่วมกับคุณแม่และลูกน้อยมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดความเครียดให้กับคุณแม่มือใหม่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ฮอร์โมนoxytocin ที่หลั่งมากขึ้นจากการทำสกินชิพจะทำให้การหลั่งของน้ำนม คุณแม่ ดีขึ้นด้วย

    อาจช่วยทำให้รู้สึกมีความสุข

    การสกินชิพกับบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นการนั่งชิดกัน กุมมือ หรือกอด อาจช่วยทำให้รู้สึกมีความสุขและรู้สึกสงบได้ เนื่องจากเมื่อคนเรามีการสัมผัสใกล้ชิดกัน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนความรัก ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดที่ทำให้เกิดอารมณ์เชิงบวกในขณะที่รู้สึกดึงดูดต่อบุคคลอื่น หรือระหว่างมีความต้องการทางเพศ ทำให้เมื่อสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลที่รักแล้วหลายคนจึงรู้สึกเป็นสุขและคลายความวิตกกังวลลงได้

    ช่วยในการสื่อสารกับผู้อื่น

    การสกินชิพและสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของผู้อื่น เป็นวิธีที่ช่วยในการสื่อสารทางอารมณ์เพื่อบอกความรู้สึกของตัวเองให้อีกฝ่ายรับรู้โดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด คนมักใช้การสัมผัสใกล้ชิดในการแสดงความรู้สึกต่าง ๆ เช่น การตบบ่าเพื่อปลอบใจ การกอดเพื่อแสดงความยินดี นอกจากนี้ การสัมผัสทักทายยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมอีกด้วย เช่น การจูบแก้ม การจับมือ เมื่อพบกันของผู้คนในบางประเทศ

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Emotion เมื่อพ.ศ. 2552 ศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารทางอารมณ์ผ่านการสัมผัส พบว่า คนแปลกหน้าสามารถแสดงอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น ความโกรธ ความกลัว ความขยะแขยง ความรัก ความกตัญญู ความสุข ความเศร้า ความเห็นอกเห็นใจ ให้บุคคลอื่นรับรู้โดยการสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของผู้ที่สื่อสารด้วย

    ติดสกินชิพมากไป จะส่งผลอย่างไร

    การสกินชิพเป็นการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคลที่แสดงถึงความรู้สึกที่ดีต่อกันที่ดีก็จริง แต่ก็ควรมีพื้นฐานอยู่บนความยินยอมของทั้งสองฝ่ายด้วย คนรอบตัวของผู้ที่ชอบสกินชิพอาจไม่ได้รู้สึกสะดวกใจที่จะถูกสัมผัสบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย หรืออาจไม่สะดวกที่จะถูกโอบกอดในที่สาธารณะ การติดสกินชิพจนมากเกินไปอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ผู้ที่ไม่ยินยอมให้สัมผัสตัวอาจมีความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้คนที่ติดการสกินชิพ ไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะกำหนดขอบเขต (Setting boundaries) ที่เหมาะสมว่าระดับการสกินชิพที่อีกฝ่ายยอมรับได้อยู่ในระดับไหน นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงเวลาและสถานที่ว่าเหมาะสมตามกาลเทศะหรือไม่ เพื่อให้การสกินชิพมีประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพ และช่วยให้สามารถประคับประคองความสัมพันธ์ที่มีต่อกันได้ต่อไป และควรเคารพความต้องการของผู้อื่นอยู่เสมอ แม้ว่าจะเป็นคู่รัก เพื่อน ครอบครัวที่สนิทกันมากก็ตาม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา