backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ผู้ป่วย หนองในแท้ เป็นเอดส์ ได้ง่ายขึ้นหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 13/07/2023

ผู้ป่วย หนองในแท้ เป็นเอดส์ ได้ง่ายขึ้นหรือไม่

หากเป็นโรค หนองในแท้ เป็นเอดส์ ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ ? คำตอบคือ ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองในแท้ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เป็นโรคเอดส์ (AIDS) ได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หากต้องการลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน

หนองในแท้ คืออะไร

โรคหนองในแท้ หรือ โรคหนองใน (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases หรือ STDs) ที่พบได้บ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก (ออรัลเซ็กส์) นอกจากนี้ อาจติดโรคได้จากการใช้ไวเบรเตอร์ (Vibrator) หรือเซ็กส์ทอยอื่น ๆ ร่วมกับผู้อื่นโดยที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดทั้งก่อนหรือหลังใช้ หรือไม่ได้สวมถุงยางอนามัยเวลาที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

อาการของหนองในแท้

อาการของหนองในแท้ มีดังต่อไปนี้

อาการหนองในแท้ในผู้หญิง

  • มีตกขาวผิดปกติ เช่น สีเหลือง สีเขียว เหลวเป็นน้ำ
  • เจ็บหรือแสบร้อนบริเวณอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่เป็นประจำเดือน
  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดท้องน้อย แต่อาจพบได้ไม่บ่อย

อาการหนองในแท้ในผู้ชาย

  • มีของเหลวหรือหนองไหลออกมาจากปลายองคชาต อาจเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีเขียว
  • เจ็บหรือแสบร้อนบริเวณอวัยเพศขณะปัสสาวะ
  • หนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบหรือบวม
  • ปวดบริเวณลูกอัณฑะ แต่อาจพบได้ไม่บ่อย

ผู้ป่วย หนองในแท้ เป็นเอดส์ ง่ายขึ้นหรือไม่

การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม (Chlamydia) โรคซิฟิลิส (Syphilis) หรือโรคอื่น ๆ ก็ตาม ล้วนเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV มากกว่าปกติ เนื่องจากเซลล์เยื่อบุภายในช่องคลอด องคชาต ทวารหนัก หรือปาก มักอ่อนแอลงหลังการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และยิ่งเมื่อไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HIV โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อ HIV ได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อ HIV แล้วร่างกายไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยการกินยาต้านไวรัสเป็นประจำทุกวัน อาจทำให้เข้าสู่ระยะเป็นโรคเอดส์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ได้ในที่สุด

ผู้ป่วยหนองในแท้ ป้องกันการเป็นเอดส์ ได้หรือไม่

วิธีป้องกันผู้ป่วยหนองในแท้ จากการเป็นเอดส์ ให้ได้ผลดีที่สุด ควรเริ่มต้นด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยตั้งแต่แรกด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และควรไปตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีกิจกรรมทางเพศสุ่มเสี่ยง หากตรวจพบว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรไปพบคุณหมอและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยป้องกันการลุกลามของโรคและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV ที่อาจนำไปสู่การเป็นโรคเอดส์ ทั้งยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นได้อีกด้วย

วิธีป้องกันผู้ป่วย หนองในแท้ เป็นเอดส์

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ HIV อาจทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ถุงยางอนามัย 1 ชิ้นจะมีอายุการใช้งานเพียง 30 นาทีและจะเสื่อมประสิทธิภาพลง จึงควรเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งเมื่อใช้จนครบเวลา และหากมีการร่วมเพศหลายช่องทาง เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก ช่องปาก ควรป้องกันอย่างถูกต้องทุกครั้ง เช่น ใช้ถุงยางอนามัย 1 ชิ้น/ 1 ช่องทาง และใช้แผ่นอนามัยออรัลเมื่อมีออรัลเซ็กส์
  • จำกัดจำนวนคนที่ร่วมเพศด้วยให้น้อยที่สุด
  • ไม่ใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่นและล้างทำความสะอาดก่อนและหลังใช้ทุกครั้ง
  • ก่อนมีเพศสัมพันธ์กับคนใหม่ ๆ ควรสอบถามประวัติทางเพศของคู่นอนของตัวเองด้วย
  • หากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาให้หายก่อน
  • เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะหากมีประวัติเสี่ยงสูง
  • จำกัดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์ก่อนและระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ที่อาจทำให้สติสัมปชัญญะลดลง และส่งผลให้มีการป้องกันตนเองน้อยลง
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 13/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา