backup og meta

อสุจิ คืออะไร ทำอย่างไรให้แข็งแรงสุขภาพดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    อสุจิ คืออะไร ทำอย่างไรให้แข็งแรงสุขภาพดี

    อสุจิ หรือ สเปิร์ม คือ เซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย ลักษณะเป็นของเหลว สีขาวขุ่น ปกติแล้ว ปริมาณของอสุจิที่หลั่งออกมาในแต่ละครั้งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-6 มิลลิลิตร โดยเมื่ออสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่อย่างสมบูรณ์ก็จะกลายเป็นตัวอ่อนและฝังตัวในมดลูกเพื่อพัฒนาเป็นทารกในครรภ์ 

    อสุจิ คืออะไร 

    อสุจิ คือ ของเหลวที่มีลักษณะสีขาวขุ่น เกิดจากการหลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอดของเพศชาย อสุจิมีขนาดเพียง 0.05 มิลลิเมตร เมื่อผู้ชายเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์มักจะผลิตอสุจิประมาณนับล้านตัวในทุกวัน และทุกครั้งที่มีการหลั่งอสุจิ อาจมีจำนวนมากถึง 100 ล้านตัว รวมถึงอสุจิยังเป็นอีกหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ทั้งนี้ สามารถตรวจวิเคราะห์อสุจิได้ในโรงพยาบาล ด้วยการตรวจจำนวน รูปร่าง และการเคลื่อนไหวของอสุจิว่าปกติหรือไม่ โดยความสมบูรณ์ของอสุจินั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเคลื่อนไหว ปริมาณ โครงสร้าง หากอสุจิหลั่งออกมาน้อยและการเคลื่อนไหวช้า รวมถึงมีโครงสร้างที่ผิดปกติ อาจส่งผลต่อภาวะมีลูกยากได้

    อสุจิมีชีวิตประมาณกี่วัน 

    การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วมีการหลั่งในกับเพศหญิง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนช่วงไข่ตก 2-3 วัน ซึ่งอสุจิอาจมีชีวิตอยู่ในร่างกายของผู้หญิงประมาณ 5 วัน นอกจากนี้ เมื่ออยู่บนพิ้นผิวที่แห้ง เช่น เสื้อผ้า เครื่องนอน สเปิร์มจะตายเมื่อน้ำอสุจิแห้ง แต่หากเป็นในน้ำ เช่น อ่างน้ำร้อน อสุจิอาจเจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นและอุ่น ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ยากที่อสุจิในอ่างน้ำจะเข้าสู่ร่างกายของเพศหญิงและส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ 

    ปริมาณอสุจิกับการตั้งครรภ์ 

    โดยปกติผู้ชายจะหลั่งอสุจิเฉลี่ยประมาณ 100 ล้านตัว/ครั้ง แต่มีเพียง 1 ตัวเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยอสุจิจะเคลื่อนที่ผ่านทางช่องคลอดและท่อนำไข่แล้วเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ หากการปฏิสนธิสมบูรณ์ก็จะกลายเป็นตัวอ่อนและฝังตัวในมดลูกเพื่อพัฒนาเป็นทารกต่อไป โดยจะมีอสุจิเพียงเล็กน้อยที่สามารถเคลื่อนที่ไปถึงท่อนำไข่ ซึ่งถือเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกายในการเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดสำหรับการปฏิสนธิ 

    วิธีทำให้อสุจิแข็งแรง 

    เคล็ดลับที่อาจช่วยให้ผู้ชายมีอสุจิที่แข็งแรง มีดังนี้ 

    • ออกกำลังกาย เพื่อควบคุมน้ำหนัก เนื่องจาก น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือโรคอ้วนอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การผลิตอสุจิลดลง โดยควรออกกำลังกาย เช่น วิ่ง แอโรบิก ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 30-45 นาที/วัน 
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และส่งผลให้การสร้างอสุจิลดลง
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่มีสารแคดเมียม สารตะกั่ว ที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ และทำให้อสุจิเคลื่อนที่ช้าลง รวมถึงอาจส่งผลให้การผลิตอสุจิลดลง และรูปร่างของอสุจิอาจผิดปกติได้ 
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เครียด เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อระบบการทำงานของฮอร์โมนเพศชายที่ใช้ผลิตอสุจิในผู้ชาย และทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว
    • ใส่กางเกงในหรือบ็อกเซอร์ที่ระบายอากาศได้ดี หากบริเวณถุงอัณฑะอบอ้าว หรือร้อน อาจส่งผลในการผลิตอสุจิ ทำให้อสุจิมีจำนวนลดลง 

    อายุที่เพิ่มขึ้นจะส่งกับอสุจิหรือไม่ 

    เมื่ออายุที่เพิ่มขึ้น ปริมาณของอสุจิอาจจะลดลง แต่ก็ยังอาจสามารถสืบพันธ์ุได้อยู่ และสามารถมีบุตรได้ หากอสุจิที่เข้าไปปฏิสนธิกับไข่มีความแข็งแรง 

    การวิเคราะห์อสุจิ

    การวิเคราะห์น้ำอสุจิเป็นการทดสอบภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชาย หากมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ คุณหมออาจแนะนำให้ทดสอบวิเคราะห์อสุจิ เนื่องจากภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย อาจเกิดจากการผลิตอสุจิลดลง โดยคุณหมอจะขอเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิในถ้วยเก็บ เพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ที่แน่ชัด ผู้ชายไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หรือช่วยตัวเองเป็นเวลา 2-5 วันก่อนการทดสอบ โดยการวิเคราะห์อาจสามารถทราบผลได้ ดังนี้ 

    • จำนวนของอสุจิ จำนวนอสุจิปกติ ไม่ควรมีน้อยกว่า 15 ล้านตัว/มิลลิลิตร 
    • ลักษณะของอสุจิ ขนาดและรูปร่างของอสุจินั้นมีผลต่อการปฏิสนธิกับไข่ ซึ่งอสุจิควรมีรูปร่างที่ปกติไม่น้อยกว่า 4% ของจำนวนอสุจิทั้งหมด
    • การเคลื่อนไหวของอสุจิ โดยทดสอบว่าอสุจิเคลื่อนไหวกี่ตัวและเคลื่อนไหวได้ดีหรือไม่ ซึ่งอสุจิที่เคลื่อนไหวได้ดีควรมีไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนอสุจิทั้งหมด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา