backup og meta

อัณฑะ มีหน้าที่อะไร ป้องกันโรคเกี่ยวกับอัณฑะอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    อัณฑะ มีหน้าที่อะไร ป้องกันโรคเกี่ยวกับอัณฑะอย่างไร

    อัณฑะ เป็นอวัยวะรูปไข่อยู่ข้างในถุงอัณฑะ มีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีหน้าที่ผลิตอสุจิหรือเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย และผลิตฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งช่วยขับเคลื่อนระบบต่าง ๆ ในร่างกายเพศชาย รวมถึงสร้างลักษณะทางเพศ เช่น เสียงทุ้มต่ำ ขนตามใบหน้า หรือมวลกล้ามเนื้อที่มากกว่าเพศหญิง ควรดูแลสุขภาพอัณฑะเป็นประจำเพื่อป้องกันโรคหรืออาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับอัณฑะ เช่น อัณฑะอักเสบ หลอดเลือดอัณฑะขอด ถุงน้ำลูกอัณฑะ

    อัณฑะ มีหน้าที่อะไร

    อัณฑะ เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศชาย รูปร่างคล้ายไข่ มี 2 ใบ อยู่ข้างในถุงอัณฑะทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 ใบ โดยทั่วไป มีน้ำหนักประมาณ 25 กรัม ยาว 4-5 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 2-3 เซนติเมตร

    อัณฑะ มีหน้าที่ผลิตอสุจิ หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย โดยอสุจิจะถูกผลิตจากเซลล์และเนื้อเยื่อของหลอดสร้างอสุจิ (Seminiferous Tubules) ซึ่งเป็นท่อขดอยู่ด้านในอัณฑะ

    อสุจิที่ผลิตจากอัณฑะถือเป็นอสุจิที่ยังไม่โตเต็มวัยยังไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ โดยจะถูกส่งไปยังหลอดเก็บอสุจิเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน เพื่อหล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่พร้อมสืบพันธุ์ ก่อนถูกจะส่งต่อไปยังหลอดนำอสุจิ และรอให้ร่างกายหลั่งน้ำอสุจิเมื่อเพศชายถึงจุดสุดยอด

    นอกจากนี้ อัณฑะยังมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นลักษณะความเป็นชายต่าง ๆ ให้แสดงออก เช่น หนวดเครา น้ำเสียงทุ้มต่ำ มวลกล้ามเนื้อที่มากกว่าเพศหญิง รวมถึงกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความต้องการทางเพศ ทั้งนี้ หากอัณฑะผลิตเทสโทสเตอโรนได้ต่ำกว่าปกติ จะส่งผลให้ขนตามใบหน้าหรือร่างกายหลุดร่วง เกิดภาวะซึมเศร้า มวลกล้ามเนื้อลดลง และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

    อาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับอัณฑะ

    อาการผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับอัณฑะที่อาจพบได้ มีดังต่อไปนี้

    • อัณฑะอักเสบ เป็นความผิดปกติของอัณฑะที่มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุได้หลายประการ อาทิ การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณหลอดเก็บตัวอสุจิ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อไวรัสโรคคางทูม อาการที่เป็นสัญญาณของอัณฑะอักเสบ ได้แก่ ปวดลูกอัณฑะข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ไข้ขึ้น
    • ถุงน้ำลูกอัณฑะ เป็นภาวะที่ถุงอัณฑะบวมโตเนื่องจากของเหลวที่สะสมอยู่ด้านในมีปริมาณมากผิดปกติ โดยอาจเกิดจากการบาดเจ็บหรืออักเสบของถุงอัณฑะซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของหลอดเก็บอสุจิ หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการของถุงน้ำลูกอัณฑะ คือ รู้สึกไม่สบายตัวเนื่องจากถุงอัณฑะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้มักไม่สร้างความรู้สึกเจ็บปวด ยกเว้นในกรณีที่ถุงอัณฑะบวมหรืออักเสบมาก
    • หลอดเลือดอัณฑะขอด เป็นความผิดปกติของลูกอัณฑะซึ่งทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากความบกพร่องของลิ้นปิด-เปิดในหลอดเลือดดำ ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เลือดจึงอาจไหลเข้ามาขังอยู่ในหลอดเลือดและทำให้เกิดอาการเส้นเลือดบวมในเวลาต่อมา ผู้ป่วยหลอดเลือดอัณฑะขอดมักปวดอัณฑะ และผลิตอสุจิได้น้อยกว่าปกติเนื่องจากอัณฑะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้มีบุตรยาก
    • อัณฑะบิดตัว (Testicular Torsion) หากลูกอัณฑะบิดตัวในลักษณะผิดปกติ มักส่งผลให้สายรั้งอัณฑะซึ่งทำหน้าที่ส่งผ่านเลือดมาเลี้ยงอัณฑะเกิดการบิดตัวผิดจากองศาตามธรรมชาติ จนนำไปสู่การตีบตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลลงมาหล่อเลี้ยงอัณฑะได้ จนเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา เช่น ปวดอัณฑะและถุงอัณฑะ อัณฑะขยับขึ้นเหนือตำแหน่งเดิม ปวดท้องน้อย
    • มะเร็งอัณฑะ (Testicular Cancer) เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก มักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-35 ปี ปัจจุบัน สาเหตุของมะเร็งอัณฑะยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยอาการของมะเร็งอัณฑะ ได้แก่ อัณฑะบวมผิดปกติ อัณฑะแข็งขึ้น พบก้อนนูนใกล้ ๆ อัณฑะ และความรู้สึกเจ็บบริเวณถุงอัณฑะ

    การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับอัณฑะ

    อัณฑะเป็นอวัยวะสำคัญในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ดังนั้น จึงควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ล้างทำความสะอาดถุงอัณฑะ องคชาต และบริเวณรอบ ๆ จุดซ่อนเร้น รวมทั้งบริเวณขาหนีบ ทวารหนัก อยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อจากเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งนี้ หลังล้างทำความสะอาดแล้ว ควรเช็ดให้แห้งสนิท เพื่อลดโอกาสให้แบคทีเรียบริเวณจุดซ่อนเร้นเพิ่มจำนวน และนำไปสู่การติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ หรือภายในระบบสืบพันธุ์
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และควรจำกัดคู่นอนแค่คนเดียว เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส
    • เลือกสวมชั้นในที่กระชับแต่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อให้ถุงอัณฑะมีพื้นที่สำหรับขยายหรือหดตัว สามารถควบคุมอุณหภูมิของอัณฑะให้เหมาะสมต่อการผลิตอสุจิ นอกจากนี้ การใส่ชั้นในที่พอดีไมรัดแน่นจนเกินไปยังช่วยป้องกันการอับชื้นบริเวณจุดซ่อนเร้นและขาหนีบ และช่วยลดความเสี่ยงให้แบคทีเรียบริเวณดังกล่าวเพิ่มจำนวน
    • เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทางเพศ เช่น ปริมาณน้ำอสุจิ ความแข็งแรงของตัวอสุจิ ความเร็วในการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ และโรคมะเร็งต่าง ๆ
    • ตรวจร่างกายและตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติบริเวณอวัยวะเพศ หรือจุดซ่อนเร้นส่วนอื่น ๆ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการได้ทันท่วงที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาการอาจรุนแรงขึ้นจนอาจรักษาให้หายได้ยาก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา