backup og meta

อาการมดลูกต่ำ สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/07/2022

    อาการมดลูกต่ำ สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

    อาการมดลูกต่ำ คือภาวะที่เกิดจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง สามารถเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกช่วงวัย แต่อาจพบได้บ่อยในผู้หญิงหลังจากคลอดบุตรและอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยอาการมดลูกต่ำอาจส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะและการขับถ่าย ทำให้กระเพาะปัสสาวะและลำไส้หย่อน เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจทำให้ขับถ่ายลำบาก ดังนั้น หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไอจามแล้วมีปัสสาวะเล็ด ควรพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดทันที

    สาเหตุที่ทำให้มดลูกต่ำ

    อาการมดลูกต่ำ อาจเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอและเสื่อมสภาพลง โดยอาจมีสาเหตุ ดังนี้

    • การคลอดบุตรยากเนื่องจากทารกมีลำตัวใหญ่ อาจทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออุ้งเชิงกรานเสียหายขณะคลอด
    • การเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือนเนื่องจากระดับฮอร์โมนเอนโตรเจนลดลง
    • การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
    • การยกของหนักเป็นประจำ
    • อาการท้องผูกเรื้อรัง
    • คนในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งทำหน้าที่พยุงอวัยวะอ่อนแอ
    • มีประวัติการผ่าตัดบริเวณกระดูกเชิงกรานมาก่อน

    อาการมดลูกต่ำ สังเกตจากอะไร

    อาการมดลูกต่ำอาจสังเกตได้ ดังนี้

    • ตกขาวมีปริมาณมาก และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอด
    • ปวดท้องส่วนล่าง
    • เจ็บแสบช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์
    • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
    • มีปัญหาในการปัสสาวะและขับถ่าย เช่น ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะไม่ออก ขับถ่ายยาก ท้องผูก
    • เดินลำบาก
    • รู้สึกเหมือนมีเนื้อเยื่อหรือก้อนเนื้อยื่นออกมาทางช่องคลอด

    หากสังเกตพบอาการดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    อาการมดลูกต่ำ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

    อาการมดลูกต่ำอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

  • กระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele) อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อด้านในเสียดสีกัน จนเสี่ยงต่อการเกิดแผลในช่องคลอด ปัสสาวะไม่หมด ปัสสาวะลำบาก หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เพิ่มโอกาสการติดเชื้อและปัญหาการปัสสาวะ
  • ลำไส้ส่วนปลายหย่อน (Rectocele) อาจส่งผลต่อระบบการขับถ่าย ทำให้ขับถ่ายลำบาก ท้องผูก
  • ลำไส้เล็กหย่อนหรือไส้เลื่อน (Enterocele) ลำไส้เล็กบางส่วนอาจหย่อนลงมาที่ช่องคลอด ทำให้รู้สึกตึงและปวดหลังเมื่อยืนขึ้น เมื่อนอนราบอาจรู้สึกว่าอาการบรรเทาลง
  • การรักษาอาการมดลูกต่ำ

    วิธีการรักษาอาการมดลูกต่ำ มีดังนี้

    • ห่วงพยุงทางช่องคลอด (Pessary) คือห่วงที่ทำจากพลาสติกหรือยางที่ใช้เพื่อรองรับมดลูกที่หย่อนคล้อย โดยสอดใส่เข้าทางช่องคลอด อาจจำเป็นต้องถอดมาทำความสะอาดบ่อยครั้ง ผลข้างเคียงคืออาจทำให้รู้สึกระคายเคือง มีสารคัดหลั่งเพิ่มขึ้นและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
    • การขมิบช่องคลอดเป็นวิธีการบริหารอุ้งเชิงกรานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ปัสสาวะเล็ด โดยเริ่มจากการฝึกขมิบช่องคลอดค้างไว้ 5 วินาทีและผ่อน 5 วินาที จากนั้นค่อยเพิ่มเวลาตามลำดับจนถึง 10 วินาที ควรทำซ้ำอย่างน้อยวันละ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง
    • การผ่าตัด เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่อ่อนแอในอุ้งเชิงกราน หรืออาจจำเป็นต้องตัดมดลูก โดยอาจพิจารณาตามระดับความหย่อนคล้อยของมดลูก

    การป้องกันอาการมดลูกต่ำ

    การป้องกันอาการมดลูกต่ำ อาจทำได้ดังนี้

    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
    • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
    • ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อลดความเสี่ยงมดลูกหย่อนคล้อย
    • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
    • หยุดสูบบุหรี่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา