backup og meta

อาการมดลูกหย่อน สัญญาณเตือน ภาวะแทรกซ้อน และวิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    อาการมดลูกหย่อน สัญญาณเตือน ภาวะแทรกซ้อน และวิธีรักษา

    อาการมดลูกหย่อน คือ ภาวะที่มดลูกหย่อนคล้อยและเคลื่อนลงมาอยู่บริเวณช่องคลอดหรือออกมาบริเวณปากช่องคลอด ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็นของอุ้งเชิงกราน ทำให้ไม่สามารถยึดและรองรับมดลูกได้ หากสังเกตว่ามีปัญหาด้านการขับถ่าย หรือมีเนื้อเยื่อยื่นออกมาทางช่องคลอด มีเลือดออกผิดปกติ ควรเข้ารับการรักษาในทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจตามมาหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน

    อาการมดลูกหย่อน เกิดจากอะไร

    อาการมดลูกหย่อน เกิดจากการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็นของอุ้งเชิงกรานที่คอยยึดและรองรับมดลูก โดยมีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอาการมดลูกหย่อน ดังต่อไปนี้

    • คนในครอบครัวมีภาวะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอ่อนแอ
    • อายุที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงและเสื่อมสภาพ
    • การคลอดทารกทางช่องคลอด อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสียหายระหว่างคลอดแบบธรรมชาติ
    • วัยหมดประจำเดือน ที่อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงและเนื้อเยื่อในมดลูกเสื่อมสภาพ
    • ท้องผูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง และเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน ที่อาจส่งผลให้มีความดันในช่องท้องเรื้อรัง
    • น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการมดลูกหย่อน
    • การยกของหนักเป็นประจำ
    • การผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานอ่อนแอและไม่สามารถรองรับมดลูกได้ นำไปสู่อาการมดลูกหย่อน

    ระยะของอาการมดลูกหย่อน

    อาการมดลูกหย่อน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

    • ระยะที่ 1 มดลูกเริ่มหย่อนลงไปในช่องคลอด ที่อยู่ในระดับครึ่งหนึ่งของช่องคลอด
    • ระยะที่ 2 มดลูกมีระดับต่ำลงใกล้ปากช่องคลอด ที่ใกล้จะยื่นออกมา
    • ระยะที่ 3 บางส่วนของมดลูกหย่อนออกจากปากช่องคลอด
    • ระยะที่ 4 มดลูกหย่อนออกจากปากช่องคลอดโดยสมบูรณ์

    สัญญาณเตือนของอาการมดลูกหย่อน

    อาการมดลูกหย่อน อาจสังเกตได้ดังนี้

    • รู้สึกมีแรงกดภายในช่องคลอด
    • รู้สึกเหมือนมีบางอย่างถ่วงหรือรั้งบริเวณช่องคลอดเอาไว้
    • รู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนลูกบอลขนาดเล็ก
    • มีอาการปวดหลังส่วนล่าง
    • รู้สึกเจ็บปวดช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์และปัสสาวะ
    • ปัสสาวะและอุจจาระลำบาก
    • รู้สึกไม่สบายตัวขณะเดิน
    • สัมผัสได้ถึงก้อนหรือเนื้อเยื่อของมดลูกที่เคลื่อนลงมาอยู่บริเวณช่องคลอด
    • ปัสสาวะเล็ดเล็กน้อยเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย
    • เข้าห้องน้ำบ่อยเนื่องจากรู้สึกว่าปัสสาวะไม่สุด
    • ติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะ ที่เป็นซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง

    ควรพบคุณหมอทันที หากสังเกตว่ามีอาการขับถ่ายลำบากปัสสาวะลำบาก คลำได้ก้อนบริเวณปากช่องคลอด และสามารถสัมผัสกับมดลูกได้เมื่อสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด

    ภาวะแทรกซ้อนของอาการมดลูกหย่อน

    ภาวะแทรกซ้อนของอาการมดลูกหย่อน อาจมีดังนี้

    • ปัญหากระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele) เนื่องจากอาการมดลูกหย่อนมีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณช่องคลอดอ่อนแอ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเนื้อเยื่อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้อาจมีภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อนร่วมด้วย
    • โรคกระเปาะทวารหนัก (Rectocele) เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณไส้ตรงและช่องคลอดอ่อนแอ ซึ่งอาจทำให้ไส้ตรงหย่อนและนูนเข้าไปในช่องคลอดได้ ส่งผลให้มีปัญหาในการขับถ่าย เช่น รู้สึกเจ็บปวดขณะขับถ่าย ใช้ระยะเวลาเบ่งนาน และรู้สึกถ่ายไม่สุด
    • แผลพุพอง อาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีอาการมดลูกหย่อนระดับรุนแรง ที่ทำให้มดลูกหย่อนออกมาและเสียดสีกับเสื้อผ้า จนเกิดเป็นแผลพุพอง อาจเกิดการติดเชื้อ และมีเลือดออก

    วิธีรักษาอาการมดลูกหย่อน

    วิธีรักษาอาการมดลูกหย่อน อาจทำได้ดังนี้

    • การผ่าตัด เพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่เสียหายของอุ้งเชิงกราน ทำให้สามารถกลับมารองรับมดลูก แต่สำหรับอาการมดลูกหย่อนระดับรุนแรงอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมด
    • การออกกำลังกายบริหารอุ้งเชิงกราน หรือเรียกอีกอย่างว่า การฝึกขมิบช่องคลอด เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยรักษาอาการมดลูกหย่อน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการมดลูกหย่อนไม่รุนแรงที่เริ่มจากการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นจังหวะปกติ จากนั้นขมิบช่องคลอดที่คล้ายกับการกลั้นปัสสาวะหรือการผายลมออก โดยห้ามเกร็งหน้าท้อง ขาหนีบ เพราะอาจทำให้อุ้งเชิงกรานไม่หดเกร็งเต็มประสิทธิภาพ และค้างเอาไว้ 10 วินาที ก่อนจะผ่อนคลาย โดยควรทำซ้ำ ๆ กัน 10 ครั้ง วันละ 3 รอบ เป็นประจำทุกวัน
    • การใช้อุปกรณ์พยุงมดลูก (Pessaries) ที่มีลักษณะเป็นวงแหวนพลาสติกที่สามารถยืดหดได้ โดยคุณหมอจะสอดอุปกรณ์พยุงมดลูกใส่เข้าไปในช่องคลอดและดันขึ้นเล็กน้อยเพื่อรองรับมดลูกที่หย่อนลงมาและทำให้มดลูกกลับเข้าที่อีกทั้งอาจจำเป็นต้องติดตามอาการหลังใส่อุปกรณ์และนัดหมายในการถอดอุปกรณ์พยุงมดลูกเพื่อออกมาทำความอาดหรืออาจเปลี่ยนใหม่
    • การใช้ยาปรับระดับฮอร์โมน คือการใช้ครีมหรือวงแหวนสอดช่องคลอดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนและช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน ส่วนใหญ่มักใช้กับสตรีช่วงวัยหมดประจำเดือน

    นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรมการดูแลตัวเอง เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก รักษาตัวเองหากมีอาการไอเรื้อรัง รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะท้องผูกเรื้อรัง และช่วยลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นอาการมดลูกหย่อนซ้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา