backup og meta

อายุ 45 หมดประจำเดือน ผิดปกติหรือไม่ และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    อายุ 45 หมดประจำเดือน ผิดปกติหรือไม่ และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    โดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนตอนอายุ 50 ปี ซึ่งสามารถสังเกตได้จากภาวะประจำเดือนไม่มาติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือน แต่หากผู้หญิง อายุ 45 หมดประจำเดือน ร่วมกับมีอาการร้อนวูบวาบ หนาวสั่น เหงื่อออกเยอะในตอนกลางคืน เป็นต้น ก็อาจหมายถึงว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองแล้ว ภาวะนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลง ทำให้รังไข่หยุดทำงานและหยุดปล่อยไข่ ประจำเดือนจึงไม่มาและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม หากอาการของวัยหมดประจำเดือนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

    อายุ 45 หมดประจำเดือน ผิดปกติหรือไม่

    ภาวะหมดประจำเดือน หรือที่เรียกว่า วัยทอง เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป ผู้หญิงส่วนใหญ่จะหมดประจำเดือนในช่วงอายุ 45-55 ปี หากผู้หญิง อายุ 45 หมดประจำเดือน จึงไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้ ช่วงอายุที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ไม่สามารถระบุหรือคำนวณล่วงหน้าได้อย่างแน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อาจต้องอาศัยการสังเกตอาการหรือความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเองที่เป็นสัญญาณของวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือระยะเริ่มต้นของวัยหมดประจำเดือน (Perimenopause) เช่น อารมณ์แปรปรวนกว่าปกติ รู้สึกร้อนวูบวาบ ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ที่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายเดือนก่อนประจำเดือนจะหมด ทั้งนี้ บางคนอาจแทบไม่แสดงอาการที่สังเกตได้ หรือบางคนก็อาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนอาจมีภาวะหมดประจำเดือนเร็วกว่าคนทั่วไปหลายปี ซึ่งอาจแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

    • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด (Early menopause) เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงหยุดมีประจำเดือนอย่างสิ้นเชิงก่อนอายุ 45 ปี อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นผลข้างเคียงของการรักษาโรคบางชนิด เช่น การทำคีโมบำบัด การฉายรังสี
    • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร (Premature Menopause) เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงหยุดมีประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่จัด หรือภาวะสุขภาพอย่างโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune diseases) ความผิดปกติของรังไข่ เป็นต้น

    อาการที่เป็นสัญญาณของภาวะหมดประจำเดือน

    อาการที่เป็นสัญญาณว่า ผู้หญิง อายุ 45 หมดประจำเดือน อาจมีดังนี้

    ประจำเดือนมาไม่ปกติ

    เช่น ประจำเดือนมามากกว่า 2 ครั้งใน 1 เดือน ประจำเดือนขาดในบางเดือน ประจำเดือนมามากหรือน้อยกว่าปกติ ประจำเดือนมานานหรือหมดเร็วกว่าปกติ

    อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Vasomotor symptoms)

    เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากในตอนกลางคืนจนทำให้ตื่น โดยอาจเกิดอาการประมาณ 1-5 นาที ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนบางคนอาจมีอาการเหล่านี้เพียงเล็กน้อย หรือบางคนก็อาจเกิดอาการรุนแรงมาก

    นอกจากนี้อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการต่อไปนี้

    • หงุดหงิดง่าย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์ได้ และหากเป็นผู้ที่มีโรคทางสุขภาพจิตอยู่แล้ว เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ก็อาจทำให้อาการแย่ลงได้
    • มีอาการหลงลืม ในช่วงวัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในสมองจะลดลง ส่งผลให้มีอาการหลงลืมได้ง่าย
    • มีความต้องการทางเพศน้อยลง ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอาจมีความต้องการทางเพศลดลง มีปัญหาในการตอบสนองต่อการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ผิวบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอดแห้งเนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง จนทำให้เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
    • มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ผิวแห้ง ผมบางลง น้ำหนักขึ้น มีไขมันรอบเอวมากขึ้น มีไขมันมากกว่ามวลกล้ามเนื้อ ปวดข้อ รักษาหุ่นได้ยากกว่าปกติ

    ภาวะหมดประจำเดือนส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

    ภาวะหมดประจำเดือนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพบางประการ เช่น

    • โรคหัวใจ โดยทั่วไป ผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 55 ปีจะเสี่ยงเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ชายเนื่องจากร่างกายยังหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมาอย่างสม่ำเสมอ ฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยรักษาสมดุลของระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีและไม่ดี และช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว แต่เมื่อหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนนี้จะลดลง จนอาจทำให้เริ่มมีคอเลสเตอรอลสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดหัวใจ และความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจของผู้หญิงจะใกล้เคียงกับผู้ชาย เมื่อผู้หญิงอายุได้ประมาณ 70 ปี
    • โรคหลอดเลือดสมอง ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันสะสมในหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้
    • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ความหนาแน่นของมวลกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะลดลงเร็วกว่าเดิมเนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง ส่งผลให้เนื้อกระดูกบางและเปราะ เสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย
    • ภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว (Lead Poisoning) สารตะกั่วในร่างกายจะสะสมอยู่ในกระดูก เมื่อกระดูกสลายตัวเร็วขึ้นในวัยหมดประจำเดือน อาจส่งผลให้สารตะกั่วถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของในเกิดโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ภาวะไตทำงานผิดปกติ ทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการคล้ายสมองเสื่อม ส่งผลต่อความจำและความสามารถในการคิด
    • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงในวัยหมดประจำเดือน จะทำให้เนื้อเยื่อที่พยุงท่อปัสสาวะอ่อนแอและฝ่อลง จนเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้
    • ปัญหาในช่องปาก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่ลดลงส่งผลต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก อาจทำให้เนื้อเยื่ออักเสบ ภายในช่องปาก ลำคอ และริมฝีปากแห้งและเจ็บ และอาจทำให้เกิดโรคเหงือกและฟันผุได้ง่ายขึ้น

    การดูแลตัวเองเมื่อหมดประจำเดือน

    การดูแลตัวเองเมื่อหมดประจำเดือน อาจมีดังนี้

    • เลิกสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่นอกจากจะทำให้เสี่ยงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าที่ควรแล้ว ยังทำให้อาการช่วงหมดประจำเดือนแย่ลงด้วย เนื่องจากสารจากบุหรี่จะไปลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งปอด
    • ปรับพฤติกรรมให้กระฉับกระเฉง การออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว การเต้นแอโรบิค อย่างน้อย 30 นาทีเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยให้หัวใจและกระดูกแข็งแรง ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ทั้งยังปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับได้
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และควรดื่มน้ำและของเหลวให้มาก ๆ เพื่อให้ระบบร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
    • รับประทานอาหารเสริม หากภาวะหมดประจำเดือนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรับมืออย่างเหมาะสม ในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป คุณหมออาจแนะนำให้กินอาหารเสริม เช่น วิตามินบี 6 วันละ 1.5 ไมโครกรัม วิตามินบี 12 วันละ 2.4 ไมโครกรัม และในผู้หญิงอายุ 51 ปีขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้กินแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา