backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

อุ้งเชิงกรานอักเสบ อาการ การรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

อุ้งเชิงกรานอักเสบ อาการ การรักษาและการป้องกัน

อุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นการติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม อาจทำให้มีอาการปวดอุ้งเชิงกราน เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

คำจำกัดความ

อุ้งเชิงกรานอักเสบคืออะไร

อุ้งเชิงกรานอักเสบ คือ การติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธ์ุของสตรี ได้แก่ มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ และปากมดลูก ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหามีลูกยาก ปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ หรืออาจมีอาการปวดกระดูกเชิงกรานเรื้อรังได้

อุ้งเชิงกรานอักเสบพบบ่อยแค่ไหน

อุ้งเชิงกรานอักเสบพบบ่อยในผู้หญิงอายุ 15-24 ปี และความเสี่ยงเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจเพิ่มสูงขึ้นหากมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เคยมีประวัติอุ้งเชิงกรานอักเสบมาก่อน เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และสวนล้างอวัยวะเพศ

อาการ

อาการอุ้งเชิงกรานอักเสบ

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมักไม่แสดงอาการชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยหลายคนอาจไม่รู้ตัว อาการของอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก ดังนี้

  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือท้องน้อย
  • รู้สึกเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ หรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด โดยเฉพาะหลังหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น อาจมีสีเขียวหรือสีเหลือง
  • ประจำเดือนมามาก

ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงขึ้น ดังนี้

  • ไม่สบายตัว หนาวสั่น มีไข้
  • ปวดท้องรุนแรง

สาเหตุ

สาเหตุอุ้งเชิงกรานอักเสบ

อุ้งเชิงกรานอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคหนองในเทียม และโรคหนองในแท้ ซึ่งสามารถติดต่อได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน นอกจากนี้ อวัยวะสืบพันธ์ุอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียจากสาเหตุอื่นได้ เช่น การสวนล้างช่องคลอด ช่วงมีประจำเดือน ช่วงหลังคลอด การทำแท้ง การแท้งบุตร หรือกระบวนการทางแพทย์ที่ต้องใช้อุปกรณ์สอดเข้าช่องคลอด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงอุ้งเชิงกรานอักเสบ

ปัจจัยบางประการอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้ ดังนี้

  • เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • อายุน้อยกว่า 25 ปี
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • สวนล้างช่องคลอดบ่อยครั้ง
  • เคยเป็นโรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอุ้งเชิงกรานอักเสบ

การวินิจฉัยอุ้งเชิงกรานอักเสบ คุณหมอสามารถทำได้ ดังนี้

  • ตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณของอุ้งเชิงกรานอักเสบ และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคหนองในแท้และหนองในเทียม เพราะอาจทำให้เกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบได้
  • หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อย คุณหมออาจตรวจช่องคลอดหรือปากมดลูก หากมีอาการตกขาวผิดปกติ อาจตรวจรังไข่หรือท่อนำไข่เพื่อตรวจหาฝี และตรวจอาการเจ็บปวดอวัยวะเพศด้วย
  • ตรวจการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • อัลตราซาวด์ตรวจอวัยวะภายใน เพื่อหาสัญญาณของอุ้งเชิงกรานอักเสบ

การรักษาอุ้งเชิงกรานอักเสบ

หากตรวจพบโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบตั้งแต่ในระยะแรก ๆ สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยคุณหมอจะรักษาอย่างครอบคลุม เนื่องจากอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจเกิดจากโรคหนองในแท้ หรือโรคหนองในเทียม จึงต้องให้ยาปฏิชีวนะผสมกันเพื่อรักษาสาเหตุของการเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบด้วย

ในการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 14 วัน หรืออาจรับการฉีดยาปฏิชีวนะเพียงครั้งเดียว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ และควรมีวินัยในการรับประทานยา เพื่อจะได้กำจัดการติดเชื้อได้ทั้งหมด

หากมีอาการปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดท้องน้อย ผู้ป่วยสามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ร่วมกับยาปฏิชีวนะได้

การรักษาอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • ปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ป้องกันท่อนำไข่อุดตันที่อาจเกิดจากการก่อตัวของเนื้อเยื่อแผลภายในและภายนอกท่อน้ำไข่

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อช่วยจัดการอุ้งเชิงกรานอักเสบ

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน และจัดการปัญหาอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถทำได้ ดังนี้

  • ป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ด้วยถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย เป็นต้น และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย นอกจากนี้ ควรถามประวัติสุขภาพทางเพศของคู่นอน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศ
  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะการสวนล้างจะทำลายความสมดุลของแบคทีเรียภายในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • หากผู้ป่วยมีปัญหาอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรแนะนำให้คู่นอนเข้ารับการตรวจและรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการกลับมาเกิดซ้ำของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา