backup og meta

ฮอร์โมนเพศ คืออะไรและความสำคัญ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

    ฮอร์โมนเพศ คืออะไรและความสำคัญ

    ฮอร์โมนเพศ เป็นสารเคมีในร่างกายที่สร้างขึ้นจากต่อมหมวกไต รังไข่ อัณฑะ และเซลล์ไขมัน แบ่งออกเป็นฮอร์โมนแอนโดรเจน เทสโทสเตอโรน เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาลักษณะทางร่างกาย เช่น การสร้างขนตามร่างกาย พัฒนาการของเต้านม เสียงแตก ความต้องการทางเพศ การสืบพันธุ์ นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมคอเลสเตอรอล และป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกอีกด้วย

    ฮอร์โมนเพศคืออะไร

    ฮอร์โมนเป็นสารเคมีที่ผลิตโดยต่อมไรท่อและถูกลำเลียงไปส่วนต่าง ๆ ในร่างกายตามกระแสเลือด เพื่อช่วยควบคุมกระบวนการทำงานต่าง ๆ เช่น ความอยากอาหาร การนอนหลับ การเจริญเติบโต และพฤติกรรม โดยฮอร์โมนเพศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางเพศและการสืบพันธุ์ ถูกผลิตโดยต่อมหมวกไตและอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงรังไข่ในเพศหญิงและอัณฑะในเพศชาย

    ฮอร์โมนเพศมีความสำคัญต่อร่างกายและเกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวม ได้แก่ การเจริญเติบโตของร่างกาย กระดูกและกล้ามเนื้อ พัฒนาการทางเพศ การสืบพันธุ์ ความต้องการทางเพศ ปฏิกิริยาการอักเสบ การควบคุมระดับคอเลสเตอรอล การกระจายไขมันในร่างกาย และการเจริญเติบโตของเส้นผม

    กลุ่มฮอร์โมนเพศ

    ฮอร์โมนเพศช่วยควบคุมการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ทั้งเพศชายและเพศหญิง ดังนี้

    ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen)

    ฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นกลุ่มของฮอร์โมนที่มีส่วนประกอบหลักคือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และแอนโดรสเตนีไดโอน (Androstenedione) มีบทบาทสำคัญต่อลักษณะของผู้ชายและการสืบพันธุ์ โดยฮอร์โมนชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ยังมีแอนโดรเจนอื่น ๆ ได้แก่ ฮอร์โมนที่ทำให้ผมร่วง (Dihydrotestosterone : DHT) ฮอร์โมนความชรา (Dehydroepiandrosterone : DHEA) และ DHEA sulfate (DHEA-S)

    ในผู้หญิงแอนโดรเจนจะถูกผลิตขึ้นในรังไข่ ต่อมหมวกไต และเซลล์ไขมัน มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของวัยแรกรุ่น ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของขนที่อวัยวะเพศและใต้วงแขน ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งระบบสืบพันธุ์ กระดูก ไต ตับ และกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ แอนโดรเจนยังมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์เอสโตรเจน ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและความต้องการทางเพศในสตรีวัยผู้ใหญ่อีกด้วย

    เทสโทสเตอโรน (Testosterone)

    เทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชาย ผลิตจากอัณฑะซึ่งต้องใช้คอเลสเตอรอลในการสังเคราะห์ฮอร์โมน มีบทบาทต่อลักษณะทางร่างกาย ดังนี้

    • เสริมสร้างขนาดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
    • การสร้างหนวดและขนตามร่างกาย
    • เสียงแตก
    • ความต้องการทางเพศ
    • การเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกระดูก
    • การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ
    • การผลิตอสุจิ

    เด็กวัยรุ่นชายที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยเกินไปอาจมีพัฒนาการทางร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ เช่น อวัยวะเพศไม่ขยาย เสียงไม่แตก ไม่มีขนตามใบหน้าและร่างกาย นอกจากนี้ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนยังมีความสำคัญในเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เป็นส่วนหนึ่งของฮอร์โมนเอสโตรเจน มีความสำคัญต่อการทำงานของรังไข่ ความแข็งแรงของกระดูก และความต้องการทางเพศ

    เอสโตรเจน (Estrogen)

    เอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเพศหญิง ผลิตจากต่อมหมวกไตและรังไข่ มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตและลักษณะทางร่างกายของเพศหญิง เช่น เต้านม สะโพกผาย ผิว ประจำเดือน การผลิตไข่ การตกไข่ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในด้านอื่น ๆ เช่น ควบคุมคอเลสเตอรอล ปกป้องสุขภาพกระดูก สมอง หัวใจ ผิวหนัง และเนื้อเยื่อ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจประกอบด้วยฮอร์โมน ดังนี้

  • เอสโทรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และมีระดับสูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์
  • เอสตราไดออล (Estradiol) เป็นฮอร์โมนเพศหลักของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ผลิตจากรังไข่ มีบทบาทต่อพัฒนาการด้านลักษณะของเพศหญิง การทำงานทางเพศ และสำคัญต่อสุขภาพกระดูกของผู้หญิง นอกจากนี้ ฮอร์โมนเอสตาไดออลที่ผิดปกติอาจทำให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก และมะเร็งในเพศหญิงได้ด้วย
  • เอสโทรน (Estrone) เป็นฮอร์โมนที่กระจายอยู่ทั่วไปในร่างกาย เป็นเอสโตรเจนหลักที่มักเกิดขึ้นในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน
  • โปรเจสเตอโรน (Progesterone)

    ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนผลิตจากคอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อชั่วคราวที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากการตกไข่ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และมีระดับสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์หรือมีรอบเดือน

    โปรเจสเตอโรนมีหน้าที่สร้างเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมตั้งครรภ์หลังการตกไข่ โดยกระตุ้นให้เยื่อบุหนาขึ้นเพื่อรองรับไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว นอกจากนี้ ยังช่วยยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อในมดลูกที่อาจทำให้ร่างกายปฏิเสธไข่ ร่างกายจะไม่ตกไข่ในช่วงที่มีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายสูง

    หากไม่เกิดการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายลดลงทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวออก และเกิดเป็นประจำเดือน แต่หากมีการตั้งครรภ์ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดในเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ เมื่อรกพัฒนาขึ้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับของโปรเจสเตอโรนยังคงสูงตลอดการตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายไม่ผลิตไข่เพิ่มขึ้น และยังช่วยเตรียมเต้านมสำหรับการผลิตน้ำนมอีกด้วย

    โปรเจสติน (Properties) เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้นมักใช้ร่วมกับเอสโตรเจน มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน สามารถเปลี่ยนเยื่อบุโพรงมดลูกและหยุดการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ฮอร์โมนโปรเจสตินถูกพัฒนามาเป็นยาคุมกำเนิดเนื่องจากมีคุณสมบัติดูดซึมได้ดีกว่าโปรเจสเตอโรน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการรักษาอาการวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง

    ปัญหาจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ

    ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนี้

    ฮอร์โมนแอนโดรเจน และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่ต่ำเกินไปในผู้ชายอาจทำให้มีอาการขนร่วง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ความต้องการทางเพศลดลง ขนาดอัณฑะเล็ก จำนวนอสุจิลดลง เกิดภาวะมีบุตรยาก หน้าอกขยาย อารมณ์แปรปวน กระดูกเปราะ และร้อนวูบวาบ สำหรับผู้หญิงอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ความต้องการทางเพศลดลง กระดูกเปราะ และขาดสมาธิ

    หากผู้ชายมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงอาจทำให้จำนวนอสุจิต่ำ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย โรคตับ สิว บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ปวดหัว มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ลิ่มเลือด และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว สำหรับผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหากลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ อาจทำให้เกิดอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ความต้องการทางเพศลดลง มีขนบนใบหน้า แขนขา และลำตัว ศีรษะล้าน ผิวคล้ำ น้ำหนักขึ้น ซึมเศร้า และวิตกกังวล

    ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ต่ำเกินไปมักเกิดขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้ที่ผ่านการผ่าตัดรังไข่ อาจทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ ประจำเดือนหยุดหรือมาน้อย ปัญหาการนอนหลับ ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศต่ำ อารมณ์แปรปรวน และผิวแห้ง สำหรับผู้ชายอาจทำให้เกิดไขมันส่วนเกินสะสมที่หน้าท้องและความต้องการทางเพศต่ำ

    ผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงมักทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักขึ้น มีไขมันสะสม โดยเฉพาะบริเวณเอว สะโพก และต้นขา ประจำเดือนไม่ปกติ ปวดท้องก่อนมีประจำเดือน มีก้อนที่เต้านม เนื้องอกในมดลูกที่ไม่เป็นมะเร็ง เหนื่อยล้า วิตกกังวล และความต้องการทางเพศต่ำ สำหรับผู้ชายอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หน้าอกขยาย และอวัยวะเพศไม่แข็งตัว

    ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่ต่ำเกินไปอาจทำให้รอบเดือนผิดปกติและมีปัญหาการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะมีบุตรยาก แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด สัญญาณของโปรเจสเตอโรนต่ำ ได้แก่ เลือดออกผิดปกติในมดลูก ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์ แท้งบุตรบ่อยครั้ง

    ทำอยางไรให้ฮอร์โมนสมดุล

    การปรับสมดุลฮอร์โมนสามารถทำได้ด้วยวิธีเหล่านี้

    • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน สำหรับวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการร้อนวูบวาบ
    • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทางช่องคลอด สำหรับผู้มีอาการช่องคลอดแห้ง หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
    • การใช้ยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยปรับฮฮร์โมน คุมรอบประจำเดือน ลดสิวและขนตามใบหน้าหรือร่างกาย
    • การใช้ยาต้านแอนโดเจน สำหรับผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเพศชาายสูง
    • การให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทดแทน เพื่อช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนสำหรับผู้ที่มีฮอร์โมนเพศชายต่ำ
    • ไทรอยด์ฮอร์โมนบำบัด สำหรับผู้ที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์ (hypothyroid) หรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา