backup og meta

คลิตอริส คืออะไร ช่วยกระตุ้นความสุขทางเพศอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    คลิตอริส คืออะไร ช่วยกระตุ้นความสุขทางเพศอย่างไร

    คลิตอริส (Clitoris) เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะเพศหญิงที่อ่อนไหวต่อสัมผัสทางเพศมากที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ทรงรี อยู่ด้านบนสุดของช่องคลอด เหนือรูปัสสาวะ ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์หากสัมผัสคลิตอริสโดยตรงด้วยนิ้วหรือเซ็กส์ทอย อาจช่วยให้ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้คลิตอริสจะเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อกิจกรรมทางเพศ แต่ผู้หญิงหลายคนอาจไม่รู้จักคลิตอริสดีเท่าที่ควร หากทำความเข้าใจเกี่ยวกับคลิตอริสให้ดีขึ้นอาจช่วยเพิ่มความสุขทางเพศได้มากขึ้น

    คลิตอริส คืออะไร

    คลิตอริส บางครั้งเรียกว่าปุ่มกระสันหรือเม็ดละมุด เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะเพศในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ทรงรี อยู่ด้านบนสุดของช่องคลอด โดยเชื่อมต่อกับคลิตอริสที่อยู่ภายในร่างกายซึ่งมีโครงสร้างเป็นรูปตัววีกลับหัวและมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่เป็นจำนวนมาก

    คลิตอริสส่วนที่อยู่นอกร่างกายมีขนาดราวเม็ดถั่วหรือประมาณ 1 เซนติเมตรหรือเล็กกว่าเล็กน้อย ขณะที่ขนาดคลิตอริสทั้งหมดรวมทั้งที่อยู่ภายในร่างกาย มีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 6.5 เซนติเมตร

    ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคลิตอริส

    คลิตอริสเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะเพศหญิงที่สำคัญต่อการร่วมเพศและระบบสืบพันธุ์ จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับคลิตอริสให้มากขึ้น ดังนี้

    1. คลิตอริสมีต้นกำเนิดเดียวกับองคชาตคลิตอริสและองคชาตเกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดที่เรียกว่า Genital Tubercle เหมือนกัน โดยเมื่อทารกเติบโตขึ้น เซลล์ดังกล่าวจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นอวัยวะเพศที่แตกต่างกัน โดยขึ้นกับเพศของทารก
    2. คลิตอริสเป็นศูนย์รวมของปลายประสาทกว่า 8,000 จุด หรือมากกว่าองคชาตประมาณ 2 เท่า จึงนับเป็นจุดสำคัญของร่างกายในการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
    3. ผู้หญิงแต่ละคนต้องการถูกกระตุ้นบริเวณคลิตอริสในลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนอาจชอบให้กระตุ้นด้วยการสัมผัสคลิตอริสตรง ๆ ขณะที่บางคนอาจต้องการให้คู่นอนกระตุ้นเพียงบริเวณโดยรอบเท่านั้น
    4. คลิตอริสตื่นตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ หากถูกกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศโดยเกิดจากการสะสมของเลือดบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้กับคลิตอริสแต่จะคงอยู่ในระยะเวลาไม่นานนักและสังเกตเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่ากับองคชาตที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อแข็งตัว
    5. ฮอร์โมนเพศและภาวะสุขภาพบางอย่างอาจทำให้คลิตอริสมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ที่มากขึ้นในร่างกายระหว่างมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือเมื่ออยู่ในช่วงวัยทอง รวมทั้งการอักเสบหรือติดเชื้อ หากคลิตอริสมีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติและไม่ลดลงภายใน 2-3 วัน ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ

    คลิตอริส กับการกระตุ้นเพื่อความสุขทางเพศ

    คลิตอริสเป็นส่วนหนึ่งของช่องคลอดที่อ่อนไหวต่อการสัมผัสมากที่สุด เมื่อถูกกระตุ้นโดยตรงด้วยนิ้ว ลิ้น เซ็กส์ทอย อวัยวะเพศของคู่นอน หรือเมื่อถูกกระตุ้นทางอ้อมผ่านการสัมผัสผนังช่องคลอดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้รู้สึกเสียวซ่านเกิดอารมณ์และความต้องการทางเพศ รู้สึกพึงพอใจและมีความสุขทางเพศจนอาจถึงจุดสุดยอดหากกระตุ้นอย่างถูกวิธีและตรงจุด

    งานวิจัยหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์การถึงจุดสุดยอดของเพศหญิงระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Sexual Behavior ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยให้ผู้หญิงจำนวน 1,478 รายทำแบบทดสอบออนไลน์เกี่ยวกับโอกาสในการถึงจุดสุดยอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์แบบต่าง ๆ โดยผลสรุปที่พบคือ ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดบ่อยที่สุด หรือประมาณ 51-60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการกระตุ้นเร้าทางเพศระหว่างมีเพศสัมพันธ์  ขณะที่การมีเพศสัมพันธ์โดยกระตุ้นเร้าที่คลิตอริสโดยเฉพาะ ช่วยให้ถึงจุดสุดยอดรองลงมา คือประมาณ 31-40 เปอร์เซ็นต์ และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่กระตุ้นเร้าทางเพศเลย จะทำให้ผู้หญิงมีโอกาสถึงจุดสุดยอดต่ำสุดคือประมาณ 21-30 เปอร์เซ็นต์

    ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า การกระตุ้นคลิตอริสมีส่วนช่วยให้ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดได้ง่ายขึ้น

    วิธีกระตุ้นคลิตอริสเพื่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศ

    การสัมผัสกับคลิตอริสระหว่างช่วยตัวเอง หรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์อาจช่วยสร้างความสุขทางเพศแบบหนึ่ง โดยการสัมผัสคลิตอริสควรเริ่มต้นอย่างช้า ๆ และนุ่มนวล ในลักษณะต่อไปนี้

    • ลูบขึ้นและลงด้วยนิ้วหรือเซ็กส์ทอย
    • แตะซ้ำ ๆ แล้วอาจค่อย ๆ เพิ่มความเร็ว
    • ใช้นิ้วคลึงรอบ ๆ
    • สอดใส่นิ้ว เซ็กส์ทอย หรืออวัยวะเพศ เข้าไปสัมผัสกับผนังช่องคลอดด้านบน เพื่อกระตุ้นคลิตอริสทางอ้อม
    • เซ็กส์ทอยที่นิยมใช้กระตุ้นคลิตอริส ได้แก่ ดิลโด้หรือองคชาตเทียม ไวเบรเตอร์หรือไข่สั่น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา