backup og meta

จุดซ่อนเร้น ของผู้หญิงและผู้ชาย ควรดูแลอย่างไรหลังการมีเพศสัมพันธ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/02/2022

    จุดซ่อนเร้น ของผู้หญิงและผู้ชาย ควรดูแลอย่างไรหลังการมีเพศสัมพันธ์

    จุดซ่อนเร้น เป็นอวัยวะที่ควรได้รับการดูแลในด้านการทำความสะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นช่องทางในการขับถ่ายของร่างกาย ทั้งปัสสาวะ อุจจาระ รวมทั้งของเหลวอื่น ๆ เช่น น้ำหล่อลื่น น้ำเชื้อ ตกขาว  หากไม่ดูแลรักษาความสะอาด อาจทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น โดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์  ทั้งผู้หญิงและผู้ชายควรต้องชำระล้าง และทำความสะอาดจุดซ่อนเร่นให้ถูกต้อง หากละเลยอาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทางเพศได้

    วิธีดูแล จุดซ่อนเร้น ในเพศชาย หลังการมีเพศสัมพันธ์

    ในช่วงระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังจากถึงจุดสุดยอด อวัยวะเพศชายมักมีน้ำหล่อลื่นและน้ำอสุจิออกมา  รวมทั้งเซลล์ผิวที่ตายแล้วผสมกับน้ำมันและคราบเหงื่อไคลที่ร่างกายผลิตออกมา ทำให้มีของเหลวลักษณะเหนียวข้นที่เกิดหรือเรียกอีกอย่างได้ว่า ขี้เปียก (Smegma) เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่อวัยวะเพศ แต่เมื่อขี้เปียกสะสมเป็นระยะเวลานานก็อาจทำให้จับติดเป็นก้อนอยู่บริเวณปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศ  และกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค หรือเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากเอาไว้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหมั่นดูแลอวัยวะเพศ รวมทั้งตามซอกต่าง ๆ บริเวณจุดซ่อนเร้น อาจทำตามขั้นตอนดังนี้

  • ค่อย ๆ รูดบริเวณหนังหุ้มปลายลงมา เพื่อเตรียมการทำความสะอาด
  • นำสบู่ที่ให้ความอ่อนโยนแก่ผิวบอบบาง มาชำระล้าง บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ หรือโดยรอบ ด้วยการขัดถูอย่างเบา ๆ
  • ล้างสบู่ออกด้วยน้ำสะอาด
  • เช็ดบริเวณหนังหุ้มปลาย หรือตามซอกบริเวณจุดซ่อนเร้นให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการอับชื้นเมื่อสวมเสื้อผ้า
  • ล้างมือให้สะอาดหลังทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ก่อนจะไปจับอวัยวะส่วนอื่น ๆ หรือสิ่งของอื่น ๆ
  • ใส่เสื้อผ้าที่ซักสะอาด โดยเฉพาะชุดชั้นในซึ่งสัมผัสโดยตรงกับจุดซ่อนเร้น ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่อับชื้น
  • หากเป็นไปได้ หลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด ในกรณีที่ปลายอวัยวะมีความเหนียวหนืด  มีขี้เปียกจับตัวเป็นก้อนใหญ่แข็งจนเกินไป โปรดปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการรักษา และการทำความสะอาดที่เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อป้องกันการอักเสบ บวม แดง

    วิธีดูแล จุดซ่อนเร้น ในเพศหญิง หลังการมีเพศสัมพันธ์

    ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีกิจกรรมทางเพศ ไม่ว่าจะสอดใส่อวัยวะเพศเข้าไปในช่องคลอดจนถึงจุดสุดยอดหรือไม่ก็ตาม หรือไม่ว่าจะมีการใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกัน หรือไม่ก็ตาม บริเวณจุดซ่อนเร้นมีโอกาสได้รับเชื้อแบคทีเรียบางอย่างเข้าไปในช่องคลอดจากการมีเพศสัมพันธ์ได้เท่า ๆ กัน และมีของเหลวออกมาทั้งน้ำหล่อลื่น รวมทั้งของเหลวในลักษณะเหนียวข้น หรือที่เรียกกันว่า ตกขาว หากไม่รีบทำความสะอาดแล้วปล่อยไว้ให้ก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่นำมาซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงจำเป็นที่ต้องหมั่นทำความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้

    1. เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีความอ่อนโยนแก่จุดซ่อนเร้น หรือหากไม่มีก็เลือกทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นเปล่า ๆ ก็เพียงพอแล้วเช่นกัน
    2. ทำความสะอาดโดยการใช้น้ำอุ่น และสบู่ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีกรดอ่อนบอบบางแก่ผิว ถูเบา ๆ บริเวณจุดซ่อนเร้นและตามซอกหลืบ
    3. ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    4. เช็ดบริเวณจุดซ่อนเร้นและโดยรอบให้แห้งสนิท
    5. เลือกสวมชุดชั้นในที่อ่อนโยนต่อผิว การใส่กางเกงในผ้าฝ้ายไร้ลวดลายอาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
    6. ล้างมือหลังทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นให้เรียบร้อย

    สำหรับการดูแลจุดซ่อนเร้นของผู้หญิง ควรหลีกเลี่ยงการล้วงแล้วใช้สบู่ล้างในช่องคลอด เพราะหากล้างไม่สะอาดอาจทำให้เกิดการอักเสบได้ หรือหากเผลอทำความความภายในบริเวณช่องคลอดอย่างรุนแรงจนเกิดอาการแสบร้อน ระคายเคือง โปรดปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำหรือเข้ารับการตรวจทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้

    ข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแล จุดซ่อนเร้น

  • หลังจากทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นเสร็จสิ้น ควรเลือกสวมใส่กางเกงชั้นในที่ไม่รัดแน่น หรือมีเนื้อผ้าที่สะสมความชื้นจนเกินไป ควรเลือกเนื้อผ้าที่มีคุณสมบัติในการระบายความร้อน และความอับชื้นมาสวมใส่
  • ในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อาจสูญเสียน้ำไปมาก จึงจำเป็นที่ต้องดื่มน้ำหลังจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยหนึ่งแก้วเป็นการเพิ่มน้ำในร่างกาย
  • หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ แบคทีเรียอาจเข้าไปภายในอวัยวะเพศ หรือเกาะอยู่ตามบริเวณจุดซ่อนเร้น ดังนั้นการล้างออกจึงอาจไม่ใช่วิธีเดียวที่จะกำจัดเชื้อโรคได้หมด ควรปัสสาวะออกเพื่อชะล้างแบคทีเรียเหล่านั้น
  •  

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา