backup og meta

เชื้อราในช่องคลอด หายเองได้ไหม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/06/2023

    เชื้อราในช่องคลอด หายเองได้ไหม

    เชื้อราในช่องคลอด คือการติดเชื้อราที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ตกขาว คันและแสบบริเวณช่องคลอด หากสงสัยว่า เชื้อราในช่องคลอด หายเองได้ไหม  ขึ้นอยู่กับระดับของการติดเชื้อและอาการ หากไม่รุนแรงมากอาจหายเองได้โดยไม่ต้องรักษาด้วยยา แต่ใช้วิธีดูแลอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา อย่างไรก็ตาม หากอาการรุนแรงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

    เชื้อราในช่องคลอด หายเองได้ไหม

    การติดเชื้อราในช่องคลอดที่ไม่รุนแรงบางครั้งอาจหายเองได้โดยไม่ต้องรักษาด้วยยา แต่ควรรักษาความสะอาดของช่องคลอด ดูแลบริเวณอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้อับชื้น เนื่องจากบริเวณที่ร้อนและอับชื้นเป็นสภาพแวดล้อมที่เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการและความผิดปกติบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอดเสมอ หากมีอาการคัน แสบร้อน บวม แดง ปวดช่องคลอด มีผื่น ตกขาวหนาสีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น อาจเป็นอาการของเชื้อราในช่องคลอดที่รุนแรงขึ้น ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา ยาเหน็บ หรือยารับประทาน เพื่อให้อาการหายเร็วขึ้นและไม่เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ

    นอกจากนี้ อาการที่กล่าวมาข้างต้นยังอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคอื่น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างออกไป จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับยาและการรักษาที่เหมาะสม

    เมื่อไรควรพบคุณหมอ

    ควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากมีอาการเหล่านี้

  • หากอาการเชื้อราในช่องคลอดไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราหรือยาเหน็บที่ซื้อจากร้านขายยา
  • หากสงสัยว่ากำลังเป็นเชื้อราที่ช่องคลอด หรือมีอาการเชื้อราที่ช่องคลอดเป็นครั้งแรก
  • หากมีอาการคัน บวม แดง แสบที่ช่องคลอด ตกขาวหนาและเหม็นรุนแรง
  • การรักษาเชื้อราในช่องคลอด

    การรักษาเชื้อราในช่องคลอดอาจขึ้นอยู่กับอาการที่เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและติดเชื้อราไม่บ่อย คุณหมออาจแนะนำการรักษา ดังนี้

    • ใช้ยาต้านเชื้อราระยะสั้น ได้แก่ มิโคนาโซล (Miconazole) เทอโคนาโซล (Terconazole) รูปแบบครีม ขี้ผึ้ง หรือยาเหน็บช่องคลอด เป็นเวลาประมาณ 3-7 วัน เพื่อกำจัดเชื้อราในช่องคลอด
    • ยาต้านเชื้อราแบบรับประทาน ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว แต่หากมีอาการรุนแรงมาก คุณหมออาจแนะนำให้รับประทาน 2 เม็ด ห่างกัน 3 วัน ทั้งนี้ ยาชนิดนี้ไม่แนะนำในสตรีมีครรภ์ เพราะอาจอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ อาจทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้

    สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงและติดเชื้อราบ่อยครั้ง คุณหมออาจแนะนำการรักษา ดังนี้

  • ใช้ยาต้านเชื้อราระยะยาว รูปแบบครีม ขี้ผึ้ง และยาเหน็บ ใช้ยาทุกวันนานถึง 2 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดให้เปลี่ยนไปใช้สัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 6 เดือน
  • ยาต้านเชื้อราแบบรับประทาน คุณหมออาจจะสั่งให้รับประทานยาต้านเชื้อรา 2-3 ครั้ง แทนการใช้ยาสำหรับทาหรือเหน็บช่องคลอด
  • กรดบอริก (boric Acid) คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ในรูปแบบแคปซูลสอดเข้าทางช่องคลอด เพื่อใช้รักษาเชื้อราแคนดิดา (Candida) ที่ดื้อต่อยาต้านเชื้อราชนิดอื่น ยาชนิดนี้ใช้สำหรับเหน็บช่องคลอดเท่านั้น ห้ามรับประทาน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายได้
  • การป้องกันเชื้อราในช่องคลอด

    การป้องกันเชื้อราในช่องคลอดสามารถทำได้ ดังนี้

    • หลังจากเข้าห้องน้ำหรืออาบน้ำควรซับบริเวณอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอ
    • ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศหากรู้สึกร้อนและเหนอะหนะบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียและความอับชื้น จากนั้นควรซับให้แห้งสนิท
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม เพื่อป้องกันการระคายเคืองช่องคลอด
    • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าและกางเกงชั้นในที่คับแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้อวัยวะเพศอับชื้นได้
    • หลีกเลี่ยงการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและอับชื้นได้
    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เเพราะจะไปกำจัดแบคทีเรียที่ดีต่อช่องคลอดและอาจระคายเคืองได้
    • ควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจยิ่งเพิ่มการเสียดสีของผิวบริเวณอวัยวะเพศและเพิ่มความอับชื้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา