backup og meta

เนื้องอกในมดลูก มีสาเหตุมาจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/12/2022

    เนื้องอกในมดลูก มีสาเหตุมาจากอะไร

    ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ เนื้องอกในมดลูก แต่เนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูกแต่ละก้อนมีต้นกำเนิดมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเพียงหนึ่งเซลล์  (monoclonal) ซึ่งมีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเนื้องอกในมดลูก เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมนในร่างกาย พฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ เพื่อตรวจคัดกรองโรคและภาวะผิดปกติที่อาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอก

    สาเหตุของเนื้องอกในมดลูก

    สาเหตุของการเกิดเนื้องอกในมดลูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูก ดังนี้

    • พันธุกรรม พันธุกรรมบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในมดลูกได้ โดยเฉพาะหากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นเนื้องอกในมดลูก
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ปัจจุบันเชื่อว่าเนื้องอกเริ่มต้นจาก somatic  mutation ของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก (myocyte)  จากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone)  และ growth factor เช่น EGF, IGF1, PDGF  ทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมีส่วนในการกระตุ้นให้เนื้องอกโตขึ้น เพราะพบเนื้องอกชนิดนี้น้อยมากในวัยก่อนมีประจำเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มมีเนื้องอกและขนาดก้อนเนื้องอกโตขึ้นในวัยเจริญพันธ์ุ และส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลงภายหลังวัยหมดประจำเดือน โดยพบได้ว่าเนื้องอกโตขึ้นได้บ่อยในสตรีตั้งครรภ์และในสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดชนิดที่มีเอสโตรเจนขนาดสูง
    • สารเคลือบเซลล์ (Extracellular matrix) เป็นสารที่มีหน้าที่เคลือบเซลล์ เพื่อช่วยทำให้เซลล์เกาะติดกัน หากสารเคลือบเซลล์นี้มีปริมาณเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในมดลูก และนำไปสู่การเกิดเนื้องอกในมดลูกได้
    • ภาวะสุขภาพและพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น โรคอ้วน การสูบบุหรี่ ร่างกายขาดวิตามินดี การเป็นประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย สตรีที่ไม่เคยมีบุตร การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง การดื่มแอลกอฮอล์ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดเนื้องอกได้ และความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ลดลงในสตรีที่มีบุตรหลายคน

    สัญญาณเตือนของเนื้องอกในมดลูก

    สัญญาณเตือนของเนื้องอกในมดลูก อาจสังเกตได้ดังนี้

  • ประจำเดือนมามาก หรือประจำเดือนมาติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ท้องผูก
  • มีอาการปวดท้องน้อยที่ไม่สัมพันธ์กับรอบเดือน
  • ท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากการเจริญเติบโตของเนื้องอก
  • หากสังเกตว่ามีอาการปวดท้องน้อย ประจำเดือนมามากและมานานกว่าปกติ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจทันที

    วิธีรักษาเนื้องอกในมดลูก

    วิธีรักษาเนื้องอกในมดลูก มีดังนี้

    การตรวจติดตามอาการ (Expectant management)

    ในรายที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ควรได้รับการยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ และตรวจติดตามอาการด้วยการตรวจภายในเป็นระยะทุก 1 ปี หากก้อนโตเร็วหรือมีอาการเปลี่ยนแปลงควรได้รับการตรวจประเมินซ้ำ

    ยา 

    สำหรับที่ใช้ในการรักษาเนื้องอกในมดลูก มีเป้าหมายไปที่การควบคุมฮอร์โมนเพศ เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ลดความดันในอุ้งเชิงกรานที่ส่งผลให้ปวดท้อง ควบคุมการมาของประจำเดือนให้เป็นปกติ และอาจทำให้เนื้องอกหดตัวลง ยาที่ใช้รักษา ได้แก่

    • โกนาโดโทรปิน รีลิสซิงฮอร์โมน อะโกนิสต์ (Gonadotropin releasing hormone agonists: GnRH agonists) ใช้เพื่อขัดขวางการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ซึ่งอาจส่งผลให้เนื้องอกหดตัวและหยุดการเจริญเติบโต ยานี้อาจทำให้ประจำเดือนหยุดไหลชั่วคราว ไม่ควรใช้ยานานเกิน 3-6 เดือน เพราะอาจส่งผลเสียต่อมวลกระดูก
    • โกนาโดโทรปิน รีลิสซิงฮอร์โมน แอนทาโกนิสต์ (GnRH antagonists) กลยับยั้งการทำงานของ GnRH โดยการแย่งจับกับ GnRH receptor โดยตรง จึงไม่มีอาการกำเริบในช่วงแรกเหมือนการใช้ยากลุ่ม GnRH agonist ทำให้ออกฤทธิ์เร็วกว่า และใช้ระยะเวลาในการรักษาสั้นกว่า สามารถลดขนาดเนื้องอกมดลูกได้ภายใน 14-19 วัน ยาในกลุ่มนี้ที่มีในประเทศไทย ได้แก่ Cetrorelix (Cetrotide) และ Ganirelix (Orgalutran)
    • ห่วงคุมกำเนิด ที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการเลือดออกจากช่องคลอด 
    • กรดทรานเอกซามิก (Tranexamic Acid) เป็นยาที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ใช้เพื่อบรรเทาอาการสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด

    การผ่าตัด 

    เพื่อกำจัดเนื้องอกในมดลูกมี 2 ประเภท คือ การผ่าตัดเพื่อกำจัดเพียงเนื้องอก และการผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด ขึ้นอยู่กับอาการและขนาดเนื้องอกว่ารุกล้ำอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนอื่นหรือไม่ โดยอาจใช้เทคนิคการผ่าตัด 4 รูปแบบ ดังนี้

    • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านช่องท้อง เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกในมดลูกออกโดยการกรีดบริเวณท้องน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัด
    • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยการสอดกล้องผ่านช่องคลอดเข้าไปในมดลูก และใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กตัดเนื้องอกภายในมดลูกออก นอกจากนี้ ยังมีการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งเป็นกระบวนการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และเสียเลือดน้อยกว่า แต่อาจมีค่าใช้จ่ายสูง
    • การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) เป็นกระบวนการผ่าตัดโดยใช้ความร้อนหรือกระแสไฟฟ้าเพื่อทำลายเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อช่วยชะลอการไหลของประจำเดือน เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ
    • การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง Magnetic Resonance-guided Focused Ultrasound (MRgFU) เป็นการสลายเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกชนิดหนึ่ง โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงแบบ High-Intensity Focused Ultrasound (HI-FU) ทำลายเนื้อเยื่อโดยทำให้เกิดความร้อนสูง ใช้ร่วมกับการสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ช่วยกำหนดขอบเขตของอวัยวะที่จะทำลาย และควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่ต้องการ

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเนื้องอกมดลูก

    เนื่องจากสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดเนื้องอกในมดลูกยังไม่แน่ชัด จึงอาจทำให้มีหลักฐานการวิจัยไม่เพียงพอถึงการป้องกัน อย่างไรก็ตาม อาจสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้

    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
    • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง และโซเดียมสูงด้วย
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
    • ควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจคัดกรองโรค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา