backup og meta

เป็นประจำเดือน ท้องเสีย เพราะอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    เป็นประจำเดือน ท้องเสีย เพราะอะไร

    เป็นประจำเดือน ท้องเสีย เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการทำงานของสารเคมีในร่างกายคล้ายฮอร์โมน ที่เดินทางผ่านกระแสเลือดสู่ระบบทางเดินอาหารจนทำให้ท้องเสียได้ ทั้งนี้ หากท้องเสียระหว่างเป็นประจำเดือน ควรบริโภคน้ำและโซเดียมให้เพียงพอ เพื่อทดแทนของเหลวส่วนที่เสียไป นอกจากนี้ ควรงดรับประทานอาหารมัน หวาน หรือเผ็ด เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสียด้วย

    เป็นประจำเดือน ท้องเสีย เพราะอะไร

    ปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมผู้หญิงบางคนถึงท้องเสียระหว่างมีประจำเดือน แต่สันนิษฐานว่าเป็นผลของสารคล้ายฮอร์โมนที่เรียกว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเพื่อทำให้มดลูกหดตัว และเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกทางช่องคลอดกลายเป็นประจำเดือน

    หากมีในปริมาณสูง สารนี้จะแพร่สู่กระแสเลือดไปยังระบบทางเดินอาหาร แล้วส่งผลให้ท้องเสียได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติดังนี้

    • ทำให้ลำไส้หดตัว
    • ทำให้การดูดซึมอาหารของร่างกายลดลง อาหารจึงเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่เร็วกว่าปกติ

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องอาการในระบบทางเดินอาหารตอนก่อนและระหว่างเป็นประจำเดือน เผยแพร่ในวารสาร BMC Women’s Health ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยให้ผู้หญิงสุขภาพดีจำนวน 156 ราย ทำแบบสำรวจเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหารและสภาพอารมณ์ที่แปรปรวนซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 5 วันก่อนเป็นประจำเดือนและระหว่างเป็นประจำเดือน โดยพบว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่เข้าร่วมทำแบบทดสอบ เคยมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารตอนก่อนหรือระหว่างเป็นประจำเดือน โดยพบอาการปวดท้องและท้องเสียพบบ่อยที่สุด

    นอกจากนั้น นักวิจัยยังพบว่า อาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและสภาพอารมณ์ที่แปรปรวนอย่างซึมเศร้าหรือวิตกกังวล จัดเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงระหว่างเป็นประจำเดือน

    ประจำเดือน ท้องเสีย และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

    อาการท้องเสียระหว่างเป็นประจำเดือนของผู้หญิงบางรายอาจสัมพันธ์กับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือการที่เนื้อเยื่อแบบเดียวกับเยื่อบุโพรงมดลูก ไปเติบโตที่อวัยวะอื่นในร่างกายเพศหญิง เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ

    มูลนิธิโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แห่งสหรัฐอเมริกา (Endometriosis Foundation of America) ระบุว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มักมีอาการท้องเสีย ท้องผูก ปวดท้อง หรือคลื่นไส้ โดยอาการเหล่านี้มักรุนแรงกว่าปกติเมื่อเป็นประจำเดือน

    ทั้งนี้ อาการอื่น ๆ ของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่

    • เจ็บบริเวณท้อง หลังส่วนล่าง หรือเชิงกราน
    • พบเลือดในอุจจาระหรือปัสสาวะ
    • รู้สึกเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • อยู่ในภาวะมีบุตรยาก

    เป็นประจำเดือน ท้องเสีย ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    หากมีอาการท้องเสียระหว่างเป็นประจำเดือน อาจดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ดื่มน้ำให้มากพอ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
    • รับประทานอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่ใส่เกลือตามปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับธาตุโซเดียมทดแทนส่วนที่เสียไปเมื่อท้องเสีย นอกจากนั้น ธาตุโซเดียมยังช่วยกักเก็บน้ำในร่างกายได้ด้วย
    • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น อาหารรสเผ็ด อาหารไขมันสูง ของหวาน ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มคาเฟอีน เพราะอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้มักทำให้อาการท้องเสียแย่ลง
    • รับประทานยาคุมกำเนิด เพราะยาคุมกำเนิดมีคุณสมบัติปรับการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ซึ่งอาจช่วยให้อาการท้องเสียทุเลาลงได้ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือคุณหมอก่อนใช้ยา
    • ลดความเครียด ด้วยการทำสมาธิ ออกไปเดินเล่น ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือออกกำลังกาย เนื่องจากความเครียดและภาวะวิตกกังวลอาจทำให้อาการท้องเสียและปวดท้องประจำเดือนแย่ลงได้
    • รับประทายยาแก้ท้องเสีย เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide) หากจำเป็น

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    หากเป็นประจำเดือน ท้องเสีย ควรไปพบคุณหมอ หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

    • ท้องเสีย หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร นานเกิน 2 วัน
    • ปวดท้อง และหลังรับยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น
    • พบเลือดหรือมูกในอุจจาระ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา