backup og meta

เลือดออกช่องคลอด สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    เลือดออกช่องคลอด สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงควรรู้

    เลือดออกช่องคลอด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนในทุกเดือน หรือที่เรียกว่า ประจำเดือน อย่างไรก็ตาม บางกรณีเลือดออกช่องคลอดผิดปกติที่ไม่ใช่ประจำเดือน อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพร่างกาย ที่ควรสังเกตและรีบทำการรักษา

    เลือดออกช่องคลอดเกิดจากอะไร 

    เลือดออกช่องคลอด อาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้ 

    การเจริญพันธุ์และการสืบพันธุ์

    • ฮอร์โมนแปรปรวน และทำงานผิดปกติ อาจไปกระตุ้นให้เลือดออกจากช่องคลอดได้ ซึ่งส่วนใหญ่อาจเกิดกับผู้หญิงวัยเพิ่งเริ่มมีประจำเดือน และวัยใกล้หมดประจำเดือน 
    • ตกไข่ หากไม่มีการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ ผนังมดลูกที่รอรับการฝังตัวของอสุจิจะสลายตัวแล้วไหลออกทางช่องคลอด หรือที่เรียกว่า ประจำเดือน 
    • ช่วงระหว่างตั้งครรภ์ 
      • เลือดล้างหน้าเด็ก อาจมีเลือดออกช่องคลอดสีชมพูจาง ในปริมาณเล็กน้อยประมาณ 1-2 วัน 
      • ตั้งครรภ์นอกมดลูก ไข่ที่ปฏิสนธิเติบโตในที่อื่นที่ไม่ใช่บริเวณมดลูก อาจทำให้เลือดออกได้ 
      • แท้งบุตร อยู่ในช่วงไตรมาสแรก อาจมีอาการปวดเหมือนมีอะไรบีบรัดเป็นช่วง ๆ บริเวณท้องน้อย และมีเลือดออกช่องคลอดผิดปกติ 
      • ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกปิดขวางหรือคลุมปากมดลูก
      • ภาวะรกลอกตัว เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อรกบางส่วนหรือทั้งหมดลอกตัวออกจากผนังมดลูกของสตรีมีครรภ์ พบในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย 
  • ช่องคลอดแห้ง เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง อาจทำให้เกิดภาวะช่องคลอดแห้ง เนื่องจากเมือกหล่อลื่นภายในช่องคลอดลดน้อยลง หากมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้เลือดออกช่องคลอดได้ 
  • ภาวะปัญหาด้านสุขภาพ 

    • โรควอนวิลลิแบรนด์ (Von Willebrand Disease) เป็นโรคเลือดออกง่ายทางพันธุกรรม อาจมีเลือดไหลผิดปกติจากประจำเดือน คลอดลูก ผ่าตัด ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด 
    • ภาวะเกล็ดเลือด หรือจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำ เกล็ดเลือดช่วยให้เลือดแข็งตัว หากระดับเกล็ดเลือดต่ำ อาจช้ำง่ายและมีเลือดออกมากเกินไป 
    • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) การอักเสบที่ลำไส้เล็ก ทำให้ไม่สามารถดูดซึมไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารอื่น ๆ ได้อย่างเพียงพอ
    • ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ

    การติดเชื้อและการอักเสบ

    • ช่องคลอดและปากมดลูกอักเสบ รวมถึงเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ อาการอักเสบบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจมีอาการคัน ตกขาวผิดปกติมีเลือดปน 
    • โรคหนองใน การติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถแพร่กระจายไปยังทารกในระหว่างการคลอด หากมารดาที่ตั้งครรภ์มีเชื้อแบคทีเรียโกโนค็อกคัส (Gonococcus) 
    • อุ้งเชิงกรานอักเสบ การติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ซึ่งอาจมีอาการตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ ปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงเลือดออกช่องคลอดผิดปกติหลังมีเพศสัมพันธ์ 

    มะเร็งและเนื้องอกในระบบสืบพันธุ์ 

    • เนื้องอกในมดลูก เป็นเนื้องอกที่ไม่ลุกลามกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งอาจทำให้มีเลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ
    • มดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก อาจทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการอักเสบเรื้อรัง และส่งผลทำให้มดลูกโตได้ อาจทำให้ประจำเดือนมามากผิดปกติ   
    • มะเร็งปากมดลูก ที่อาจเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 
    • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อาจตรวจพบในระยะเริ่มแรก เพราะมักทำให้เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หากตรวจพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกตั้งแต่ต้น อาจมีการผ่าตัดเอามดลูกออก เพื่อรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 
    • มะเร็งรังไข่ เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในร่างกายเติบโตผิดปกติ อาจมีอาการอึดอัดช่องท้อง เบื่ออาหาร เลือดออกช่องคลอดผิดปกติ 
    • มะเร็งช่องคลอด เป็นมะเร็งที่พบได้ยาก ซึ่งอาจมีอาการเลือดออกช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังวัยหมดประจำเดือน ตกขาวมีกลิ่นปนเลือด

    ซึ่งอาจรวมไปถึงสาเหตุเหล่านี้ เช่น 

    • การคุมกำเนิด เช่น รับประทานยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด
    • การมีเพศสัมพันธ์รุนแรง  
    • การลืมผ้าอนามัยแบบสอดออกจากช่องคลอด 
    • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)
    • การล่วงละเมิดทางเพศ 
    • การออกกำลังกายอย่างหักโหม

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ 

    • ระยะเวลาและปริมาณของเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอด หากเลือดออกมามากหรือน้อยกว่าปกติ ซึ่งรวมถึงระยะเวลาการไหลของเลือดว่ามานานหรือสั้นกว่าปกติ
    • เลือดออกช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดจากตั้งครรภ์นอกมดลูก แท้งบุตร 
    • เลือดออกช่องคลอดระหว่างสวนล้างช่องคลอด อาจเกิดจากการล้างช่องคลอดบ่อย ทำให้ช่องคลอดแห้ง 
    • เลือดออกช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดจากการติดเชื้อ การติดโรคจากเพศสัมพันธ์

    การวินิจฉัยเลือดออกจากช่องคลอด 

    หากมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ คุณหมออาจทำการวินิจฉัยด้วยวิธี ดังนี้ 

    • ตรวจเลือด โดยการเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย เพื่อตรวจฮอร์โมนที่อาจส่งผลให้มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ เช่น ไทรอยด์ 
    • ทดสอบการตั้งครรภ์ หากเลือดออกจากช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และมีเลือดออกที่ไม่ใช่ช่วงของประจำเดือนมา อาจมีการทดสอบตรวจการตั้งครรภ์ 
    • อัลตราซาวด์ เพื่อตรวจความผิดปกติของมดลูกดูว่ามีติ่งเนื้อหรือเนื้องอกบริเวณโพรงมดลูกหรือไม่ 
    • ตรวจปากมดลูก โดยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากปากมดลูก เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ
    • ขูดมดลูก คุณหมอจะใช้เครื่องมือเพื่อทำการเปิดปากมดลูกและทำการขูดเนื้อเยื่อภายในมดลูก เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับมดลูก 

    วิธีการรักษาเลือดออกจากช่องคลอด

    เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติมาจากหลายสาเหตุ ดังนั้น การรักษาเลือดออกจากช่องคลอดอาจขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุ เช่น 

    • การรับประทานยา เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ที่มีเพียงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน  Gonadotropin-releasing hormone (GnRH) เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากรังไข่ เพื่อรักษาภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล กรดทรานเอกซามิก (Tranexamic Acid) รักษาการตกเลือด ภาวะเลือดออกมามากเกินไป รวมถึงยาต้านแบคทีเรีย หากเกิดจากการติดเชื้อ 
    • การผ่าตัด หากวินิจฉัยพบว่าเป็นเนื้องอกในมดลูกอาจต้องกำจัดเนื้องอกด้วยการผ่าตัดมดลูกออก รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

    การป้องกันเลือดออกจากช่องคลอด 

    เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติอาจไม่มีวิธีป้องกันได้ 100% เนื่องจากมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดออกช่องคลอด แต่ในบางกรณีอาจดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีดังนี้ 

    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที/วัน 
    • พักผ่อนให้เพียงพอ 
    • หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้เกิดความเครียด โดยวิธีลดความเครียด ได้แก่ นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง นวดผ่อนคลาย 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา