backup og meta

ซิฟิลิส รักษานานไหม และหายขาดได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    ซิฟิลิส รักษานานไหม และหายขาดได้หรือไม่

    เชื้อซิฟิลิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อผ่านทางทวารหนัก ช่องคลอด อวัยวะเพศ ปาก หรือผิวหนังที่มีรอยแตก เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า อ่อนเพลีย เป็นต้น หลายคนอาจมีคำถามว่า ซิฟิลิส รักษานานไหม และสามารถหายขาดได้หรือไม่ โดยทั่วไป การรักษาซิฟิลิสสามารถทำได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อในร่างกาย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็นอยู่ หากรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้หายขาดได้โดยเร็ว หากสงสัยว่าติดเชื้อซิฟิลิสควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ติดเชื้อไม่ควรซื้อยามาใช้เองเพราะอาจทำให้โรคไม่หายขาด เสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยา และการแพ้ยา

    ซิฟิลิส คืออะไร

    ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema pallidum) เชื้อโรคจะแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสกับแผลที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิส การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และอาจติดต่อจากคุณแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเสี่ยงเสียชีวิตในครรภ์ เสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด

    หลังจากได้รับเชื้อซิฟิลิส เชื้อจะกระจายไปตามกระแสเลือด หากไม่รับการรักษาอย่างเหมาะสมและปล่อยให้เชื้อแพร่กระจายอยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายปีจนเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย และทำให้อวัยวะบางส่วน เช่น สมอง หัวใจ หลอดเลือด ไขสันหลัง ระบบประสาท กระดูก ถูกทำลาย จนอาจทำให้ตาบอด เป็นอัมพาต หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

    อาการซิฟิลิส เป็นอย่างไร

    อาการซิฟิลิส อาจมีดังนี้

    • มีแผลตื้น ๆ ขนาดเล็กบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอด หรือรอบทวารหนัก ไม่ทำให้มีอาการเจ็บ หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre)
    • มีแผลบริเวณอื่น เช่น ริมฝีปาก ช่องปาก มือ
    • ต่อมน้ำเหลืองโต กดแล้วไม่เจ็บ
    • มีแผลนูนเป็นตุ่มสีขาวหรือสีเทาที่อวัยวะเพศ ช่องคลอด หรือรอบทวารหนัก
    • มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า
    • มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ตัวร้อน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ เจ็บคอ
    • เส้นขนบริเวณศีรษะ หนวด คิ้ว ร่วงเป็นหย่อม ๆ

    บางครั้งอาการอาจดีขึ้นหรือหายไปโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เชื้อซิฟิลิสจะยังคงอยู่ในร่างกายและแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ทั้งยังเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นไปเรื่อย ๆ

    ซิฟิลิส รักษานานไหม

    ซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากรักษาตั้งแต่ระยะแรกของการติดเชื้อด้วยการใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ช่วยต้านแบคทีเรียในรูปแบบยาฉีด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องรับยาฉีดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อด้วย ผู้ป่วยควรไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้งเพื่อให้การรักษาได้ผลดี หากไม่ไปรักษาตามนัดหมายจะต้องเริ่มต้นการรักษาใหม่ เมื่อรักษาจนครบกำหนด คุณหมอจะนัดติดตามผลการรักษาและนัดเจาะเลือดเพื่อหาเชื้อเป็นระยะ จนกว่าคุณหมอจะพิจารณาว่าไม่ต้องมาตรวจเลือดอีกต่อไป

    ฉีดยาซิฟิลิส ผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง

    ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลินที่ใช้รักษาซิฟิลิส อาจมีผลข้างเคียงต่อไปนี้

  • เป็นผื่น
  • เป็นลมพิษ
  • มีอาการคัน
  • มีไข้
  • มีอาการบวม
  • หายใจไม่อิ่ม
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • น้ำมูกไหล
  • คันตา น้ำตาไหล
  • Jarvisch-Herxheimer Reaction เป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่พบในวันแรกของการรักษาโรคซิฟิลิสโดยจะมีอาการไข้หนาวสั่นคลื่นไส้ ปวดเมื่อยตึงบริเวณกล้ามเนื้อและข้อกระดูก ปวดศรีษะ ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายไปเองใน1-2วัน
  • เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis)
  • สำหรับผู้ที่แพ้เพนิซิลลิน คุณหมออาจสั่งจ่ายยาอีริโทรมัยซิน (Erythromycin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อซิฟิลิส

    เป็นซิฟิลิส มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม

    ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาจนหายและตรวจเลือดแล้วไม่พบเชื้ออีกต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น และควรสวมถุงยางอนามัยหรือใช้แผ่นยางอนามัย (Dental dam) ขณะมีเพศสัมพันธ์และขณะทำออรัลเซ็กส์ ทั้งนี้ ถุงยางอนามัยมีอายุการใช้งานเพียง 30 นาทีเท่านั้น หากต้องการใช้ถุงยางนานกว่านั้น ควรเปลี่ยนถุงยางชิ้นใหม่ และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในขณะมึนเมาเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันได้ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อซิฟิลิสและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหูดหงอนไก่ โรคเริม เชื้อเอชไอวี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา