backup og meta

ซิฟิลิส อาการ การรักษาและวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/05/2022

    ซิฟิลิส อาการ การรักษาและวิธีป้องกัน

    ซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซิฟิลิส มักไม่แสดงอาการใด ๆ ในระยะแรก จึงอาจทำให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ผื่นขึ้น อ่อนเพลีย และแผลบริเวณอวัยวะเพศ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สามารถตรวจพบโรคตั้งแต่ในระยะแรก ๆ และทำการรักษาได้ทันท่วงที

    ซิฟิลิส เกิดจากอะไร

    ซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ที่อาจได้รับจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก หรือผ่านทางผิวหนังที่มีแผลเปิด อีกทั้งสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นซิฟิลิสก็อาจแพร่กระจายเชื้อสู่ทารกได้ในขณะคลอดบุตร

    ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็อาจกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีกเช่นกัน หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่สวมถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคขณะตั้งครรภ์ ใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น

    ซิฟิลิส อาการเป็นอย่างไร

    อาการของซิฟิลิส แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary syphilis) มีระยะฟักตัว 10-90 วัน โดยเชื้ออาจเข้าทางเยื่อบุปกติหรือเยื่อบุผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือฉีกขาดบริเวณอวัยวะเพศ ริมฝีปาก ลิ้น ทวารหนัก ในระยะแรกรอยโรคอาจมีลักษณะสีแดงเข้ม ต่อมาจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ หลังจากนั้นจะแตกเป็นแผล ก้นแผลสะอาด ขอบแผลนูนแข็ง เรียกว่า โรคแผลริมแข็ง (chancre) แผลจะไม่เจ็บ นอกจากนี้ อาจมีการติดเชื้อโรคอื่นแทรกซ้อน ถ้าเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบอักเสบ (inguinal lymphnode) ได้ใน 7-10 วัน แผลในระยะนี้อาจหายเองได้ภายในเวลา 3-8 สัปดาห์
  • ซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary syphilis) เกิดหลังจากที่เป็นแผลโรคซิฟิลิสระยะที่ 1 ประมาณ 3-12 สัปดาห์ แต่อาจจะนานหลายเดือนได้ ระยะนี้จะมีอาการแสดงในอวัยวะหลายระบบ มักมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือกระดูก มีผื่นหลายแบบ ถ้าพบบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า จะลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ไม่คัน หรือรอยโรคเฉพาะที่มีลักษณะเป็นผื่นนูนหนา เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่อับชื้น เช่น บริเวณรอบอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ผมร่วง ม่านตาอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นประสาทสมองเสื่อม ตับอักเสบ ม้ามโต เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ กรวยไตอักเสบ
  • ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent syphilis) หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็อาจเข้าสู่ซิฟิลิสระยะแฝง ที่อาการต่าง ๆ อาจหายไป แต่เชื้อแบคทีเรียจะยังคงอยู่ในร่างกาย โดยอาจใช้เวลานานหลายปีก่อนจะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 3
  • ซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary syphilis) เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อโรคซิฟิลิส หลังจากโรคสงบอยู่ในระยะแฝงนานตั้งแต่ 2 ปี เป็นต้นไป ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะแสดงอาการของโรคในระยะนี้ ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายหัวใจและหลอดเลือดทำให้การทำงานของหัวใจเสื่อม หรือล้มเหลวได้ในที่สุด
  • โรคซิฟิลิสของระบบประสาท (neurosyphilis) สามารถเกิดได้ในทุกระยะของโรคซิฟิลิส อาจมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ ซึ่งวินิจฉัยจากตรวจน้ำไขสันหลัง หากมีอาการจะปวดศีรษะ มีไข้ หรือมีอาการเหมือนผู้ป่วยเส้นโลหิตสมองตีบ เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก หรืออาจถึงขึ้นสมองเสื่อมได้ นอกจากนี้ ยังอาจพบความผิดปกติทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ มีอาการปวดตา ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ และความผิดปกติ ทางหู เช่น สูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับเสียงบกพร่อง
  • สำหรับทารกที่ได้รับเชื้อซิฟิลิสจากแม่ อาจมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการหูหนวก ฟันและจมูกผิดรูป และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

    การรักษาโรคซิฟิลิส

    การรักษาโรคซิฟิลิส สามารถรักษาได้ด้วยยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) คือ ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีด การรักษาขึ้นกับระยะของโรค

    • ผู้ป่วยระยะที่ 1-2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง 
    • ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์

    สำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน คุณหมออาจเปลี่ยนให้ใช้ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ร่วมกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้เพนิซิลลิน อาจต้องเข้ารับการบำบัดด้วยเทคนิค ดีเซนซิทิเซชั่น (Desensitization) ที่เป็นกระบวนการช่วยลดความไวต่อยาเพนิซิลลิน เนื่องจากยาเพนิซิลลินเป็นยารักษาโรคซิฟิลิสเพียงชนิดเดียวที่แนะนำให้ใช้กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์

    ในการรักษาครั้งแรกผู้ป่วยบางคนอาจมีผลข้างเคียงซึ่งเกิดจากปฏิกิรยาของระบบภูมิคุ้มกันเรียกว่า จาริช-เฮิร์กไซเมอร์ (Jarisch-Herxheimer Reaction) ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดท้อง ผื่นขึ้นบนผิวหนัง และปวดกล้ามเนื้อและข้อ โดยอาการจะบรรเทาลงและอาจหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง

    ทารกแรกเกิดอาจเสี่ยงติดซิฟิลิสจากมารดาได้ระหว่างตั้งครรภ์ โดยทารกที่ติดเชื้ออาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะตามการประเมินของคุณหมอ โดยทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจนกว่าคุณหมอจะอนุญาตให้กลับบ้านได้

    วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส

    วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส และอาการต่าง ๆ อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงใช้แผ่นยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปาก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • ไม่ควรใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น และควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังใช้งาน
    • ระมัดระวังการสัมผัสกับบาดแผลเปิดของผู้ติดเชื้อ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากบริเวณอวัยวะเพศหรือปากมีบาดแผล
    • เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และสำหรับสตรีตั้งครรภ์ควรตรวจคัดกรองโรคตามที่คุณหมอนัดหมาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา